สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยร่วมมือธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)สัมมนาสัญจร ให้ความรู้การดำเนินคดีแบบกลุ่ม “Class Action” ครั้งที่ 2 ที่จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มผู้นำทางสังคม-ทนายความ –บจ. และโบรกเกอร์ กว่า 100 คนเข้าร่วมฟัง หวังเป็นกลไกหนึ่งในการดูแลและรับมือ “ภัยในตลาดเงิน และ ภัยในตลาดทุน” ด้าน ธปท.เปิดตัวเลข ร้องผ่าน 1213 ครึ่งปี 5 พันเรื่อง หลอกให้กู้ -โอนเงินผ่านแอบพลิเคชั่น
นายยิ่งยง นิลเสนา นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) เปิดเผยว่าสมาคมเดินหน้าให้ความรู้ และผลักดันให้กฎหมาย ฟ้องคดีแบบกลุ่ม - Class Action เข้ามาเป็นกลไกในการดูแล ช่วยเยียวยาผู้ลงทุนที่ได้รับความเสียหาย หากเกิดกรณีถูกฉ้อฉล ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการลงทุน ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ก.ค 2566 สมาคมได้จัดสัมมนาสัญจร ที่จังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นการจัดงานครั้งที่ 2 ของ TIA ในการเดินสายให้ความรู้ เรื่อง การฟ้องคดีแบบกลุ่ม - Class Action โดยมีกลุ่มผู้นำทางสังคม กลุ่มบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม กลุ่มทนายความ กลุ่มนักลงทุน กลุ่มโบรกเกอร์ กลุ่มนักวิชาการด้านกฎหมาย กลุ่มข้าราชการปกครอง และกลุ่มสื่อมวลชน กว่า100 คนเข้าร่วมสัมมนา
“สมาคมจะจัดสัมมนาสัญจร ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท) ต่อเนื่องตามแผนจะจัด 3 ครั้งในปีนี้ ครั้งแรกจัดที่ขอนแก่น และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 จัดที่เชียงใหม่และสงขลาเป็นจังหวัดสุดท้าย โดยทั้ง 3 จังหวัดมีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เปิดสาขาเพื่อให้บริการกับนักลงทุน โดยขอนแก่น มีจำนวน 16 สาขา,เชียงใหม่จำนวน 26 สาขาและสงขลาจำนวน 20 สาขา มีมูลค่าซื้อขายติดท็อป 5 โดยเชียงใหม่มูลค่าซื้อขายอยู่ติดอันดับ 2 ขอนแก่น มีมูลค่าซื้อขายติดอันดับ 4 และสงขลามีมูลค่าซื้อขายอันดับ 5”
ทั้งนี้หากดูตัวเลขสถิติการทำผิดในตลาดทุนยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดก็เกิดกรณีของ STARK ที่ส่งผลกระทบวงกว้าง กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งขณะนี้ซึ่งทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI)ประเมินความเสียหายเกือบ 1 แสนล้านบาท ในส่วนของ สมาคมได้ทำหน้าที่ เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลผู้เสียหายจากการลงทุนหุ้น STARK และมีผู้เสียหายมาลงทะเบียนกว่า 1,759 ราย ที่จะดำเนินการ ต่อไปภายใต้กฎหมาย Class Action กรณีนี้ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุนรายบุคคลจำนวนมากและเป็นวงกว้างและการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆก็จะเดินหน้าต่อไป
ขณะที่ความคืบหน้าในการจัดตั้ง“ศูนย์ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในการฟ้องคดีแบบกลุ่ม - Class Action” ยังอยู่ในขบวนการจัดตั้งและอยู่ในการพิจารณาว่า มูลฐานความผิดที่จะเข้าข่ายและใช้ Class Action ได้ จะมีประมาณ 7 มูลฐานประกอบด้วย 1.ผิดสัญญา 2.การเปิดเผยข้อมูล 3.การเสนอขายหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาต 4.การทุจริตของกรรมการและผู้บริหาร 5.การสร้างราคา 6.การใช้ข้อมูลภายใน และ 7.การครอบงำกิจการ
นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประธานในการเปิดงานสัมมนาสัญจรกล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยและ ธปท.จัดสัญจรให้ความรู้ประชาชนเรื่องภัยการเงินและการลงทุน เชียงใหม่เป็นจังหวัดขนาดใหญ่ เป็นเมืองที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจของภาคเหนือ ซึ่งภัยทางการเงิน และการลุงทน อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลากับทุกคน ดังนั้นการให้ความรู้ การมีมาตรการและเครื่องมือเข้ามาช่วยก็จะสามารถดูแลประชาชนได้
คุณพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดสัมมนาสัญจรเพื่อให้ความรู้เรื่อง ภัยทางการเงินและตลาดทุน เป็นความร่วมมือของ ธปท.ทั้ง 3 สำนักงานคือ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา ร่วมมือกับ TIA เดินสายให้ความรู้กับประชาชน พร้อมรับมือกับภัยทั้งในตลาดเงินและตลาดทุนที่จะเกิดขึ้นได้ และ ธปท.มีบทบาทดูแลความมั่นคงระบบการเงินให้ความคุ้มครองผู้ใช้ทุกท่าน ดังนั้นความร่วมมือในการให้ความรู้กับประชาชนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ทั้งนี้สถิติการร้องเรียนผ่านสายด่วน 1213 พี่น้องประชาชน สามารถร้องเรียนเข้ามาได้ทุกเรื่อง ทั้งหลอกลงทุน แก้ไขปัญหาหนี้ โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 มีประชาชนร้องเรียนเข้ามากว่า 5,000 สาย ขณะที่ปี 2565 อยู่ที่ 10,000 สาย เรื่องหลักๆที่ร้องเข้ามาคือ หลอกลงทุน แอบพลิเคชั่นกู้เงินนอกระบบ และนับตั้งแต่มี พรก.ที่เกิดขึ้นกับความร่วมมือของกระทรวงดีอี สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมี.ค.66-30 มิ.ย.66 มีมูลค่าความเสียหาย 6,000 ล้านบาทสามารถอายัดบัญชีได้ประมาณ 10%
รศ.ดร.ปานทิพย์ พฤกษาชลวิทย์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ทำวิจัย เรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่มสำหรับผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ประเภทคดีที่อาจดำเนินคดีแบบกลุ่ม Class Action เช่น คดีหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คดีคุ้มครองผู้บริโภค คดีแรงงาน คดีป้องกันการผูกขาด คดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม คดีคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและคดีที่เกี่ยวกับบริการทางการเงินเป็นต้น
สำหรับประเทศไทยคดีฟ้องกลุ่มที่เข้าสู่ศาล ส่วนใหญ่เป็นคดีผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ส่วนคดีหลักทรัพย์นั้นยังไม่มี ต่างจากสหรัฐอเมริกาการดำเนินคดีแบบ ฟ้องคดีกลุ่ม เกิดขึ้นแพร่หลายมากโดยปี 2565 มี จำนวน 635 คดี มูลค่า 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนกรณี STARK การรวมกลุ่มกันฟ้อง นั้นจะต้องมีการบรรยายระยะเวลาที่เกิดความเสียหายให้ชัดเจน เพื่อให้ศาลได้เห็นถึงความเป็นสมาชิกกลุ่ม และใครจะเป็นผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์จากการฟ้อง Class Action เพราะถือว่าว่าความเป็นธรรมที่สุด
นอกจากนี้ทางทีมวิจัยยังพบว่าปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานแล้วก็รวบรวมข้อมูลต่างๆ หรือว่าช่วยเหลือผู้เสียหายในคดีต่างๆ การจะเป็น Class Action ได้ส่วนใหญ่จะต้องมีผู้เสียหายเยอะมากๆ แต่ในทางกลับกันการทำงานกับผู้เสียหายจำนวนมากๆที่อยู่กระจัดกระจายกันทั่วประเทศก็เป็นเรื่องยาก และยังมีปัญหาจำนวนสมาชิกกลุ่มที่ได้รับความเสียหาย อาจหายไปในระหว่างการดำเนินคดี รวมถึงการกลั่นกรอง คัดแยก ยืนยันตัวตนสมาชิกกลุ่มต้องชัดเจน ซึ่งถ้าสมาชิกกลุ่ม ไม่มีความถูกต้องชัดเจน อาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์คนที่ไม่ได้เสียหายจริงๆเข้าไปบนอยู่ หรือคนที่อาจจะมีส่วนได้ส่วนเสียหรืออยากจะทำให้คดีไปในทิศทางที่ไม่ได้เป็นประโยชน์กับกลุ่มใหญ่แต่เป็นประโยชน์กับกลุ่มเล็กๆแทนเป็นต้น
ทั้งนี้ทางสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ได้ดำเนินการเชิงรุกในการเดินสายให้ความรู้สร้างความเข้าใจเรื่อง Class Action โดยประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่จะต้องเข้ามาอยู่ในขบวนการของการดำเนินคดีทั้งร่วมสภาทนายความแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ในการจัดหลักสูตรให้กับทนายความ ผู้ที่มีความสนใจในสายวิชาชีพนี้อีกด้วยจะร่วมกับ สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมจัดโครงการอบรมให้ข้าราชการศาล เป็นต้น