เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 67 ที่ศาลเเพ่งกรุงเทพใต้ ศาลนัดฟังคำสั่งในคดีที่ กลุ่มผู้เสียหายหุ้นกู้ STARK กลุ่มห้องตัวจริงยื่นฟ้องแพ่ง ฐานละเมิด นายนันทวัฒน์ สำรวญหันต์ ผู้สอบบัญชี และบริษัทดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ คดีหุ้นกู้ STARK รุ่น 239A และ 249A โดยขอดำเนินคดีแบบกลุ่มต่อ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ 

โดยนัดฟังคำสั่งวันนี้ มีนายจิณณะ แย้มอ่วม เป็นทนายความผู้ดำเนินคดี พร้อมกลุ่มผู้เสียหายประมาณ 60 กว่าคนเดินทางมาติดตามคำสั่ง คดีได้ความตามทางไต่ส่วนว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะสมาชิกของกลุ่มบุคลที่ซื้อหุ้นกู้ของบริษัทสตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งชี้ชวนให้ซื้อหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2564 ชุดที่ 1,2 แล้วมีผู้ซื้อหุ้นกู้ประมาณ 1,000คน จำเลยที่ 1 เเละจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชีหรืองบการเงินของบริษัทสตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวน โดยโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองจัดทำข้อมูลอันเป็นเท็จ ตกแต่งงบการเงินของบริษัทสตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)ไม่ตรงตามความเป็นจริง เป็นเหตุให้โจทก์และกลุ่มบุคคลที่ซื้อหุ้นกู้ของบริษัทสตาร์ค คอร์เปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) ได้รับความเสียหายจากการหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าวแล้วลงทุนซื้อหุ้นกู้ดังกล่าวแต่ไม่ได้รับเงินต้นคืนพร้อมกับผลประโยชน์อันควรจะได้ และขอบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายแกโจทก์และสมาชิกของกลุ่มตามจำนวนเงินต้นที่ซื้อหุ้นกู้พร้อมดอกเบี้ยตามที่กำหนดในใบหุ้นกู้และหนังสือชี้ชวน 

ดังนั้นสภาพข้อหา คำขอบังคับ รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์และของกลุ่มบุคคลดังกล่าว จึงเป็นการเรียกร้องความเสียหายที่มีลักษณะเดียวกัน และถือได้ว่าเป็นกลุ่มบุคคลจำนวนมาก หากดำเนินคดีอย่างคดีสามัญจะทำให้เกิดความยุ่งยากและไม่สะดวก การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินคดีอย่างคดีสามัญนอกจากโจทก์จะแสดงให้เห็นซึ่งสิทธิการเป็นสมาชิกกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียแล้ว โจทก์ยังแสดงให้เห็นว่า ทนายโจทก์มีประวัติ ประสบการณ์ ความเข้าใจและบทบาทหน้าที่ของทนายโจทก์ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม จึงน่าเชื่อว่าโจทก์และทนายโจทก์สามารถดำเนินคดีคุ้มครองสิทธิของกลุ่มบุคคลได้อย่าง เพียงพอและเป็นธรรม จึงอนุญาตให้โจทก์ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ โดยกำหนดขอบเขตของสมาชิกกลุ่มคือกลุ่มบุคคลที่ลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทสตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ ชุดที่ 1 และชุดที่ 2

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคู่ความมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ภายใน กำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/12 จึงให้รอไว้สั่งคำฟ้องเมื่อคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มถึงที่สุดแล้ว หากพ้นกำหนด
ระยะเวลาอุทธรณ์แล้วไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คำสั่ง ให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทำรายงานเสนอศาลเพื่อพิจารณาสั่งคำฟ้องต่อไป 


สำหรับกลุ่มSTARK ตัวจริง โดย ทนายจิณณะ แย้มอ่วม ยื่นฟ้องในกรณีความเสียหายหุ้นกู้STARKเป็น3คดี คดีที่ 1 คดีหมายเลขดำที่ พ.1527/2566 ยื่นฟ้องวันที่ 3สิงหาคม 2566ยื่นฟ้องกรรมการ 5 คนของบริษัทสตาร์ค  โดยขอให้เป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่มเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากหุ้นกู้ stark ทุกคน(4,692คน)ซึ่งเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2561 ศาลแพ่งกรุงเทพฯใต้มีคำสั่งอนุญาตให้เป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม

คดีที่3 คดีหมายเลขดำที่ พ.861/2567 ยื่นฟ้องวันที่ 8 พ.ค. 2567  ฟ้องแพ่งนายนันทวัฒน์ และบริษัทDeloitteในคดีหุ้นกู้ 3 รุ่น STARK245A/255Aและ252A ศาลนัดไต่สวน 26ส.ค. 2567

เเละคดีที่ 3 คดีหมายเลขดำที่  พ.1715/2566 ฟ้องเมื่อวันที่ 28ส.ค. 2566 ยื่นฟ้องผู้สอบบัญชีนายนันทวัฒน์  และบริษัทDeloitte ในคดีหุ้นกู้2รุ่นคือ STARK239A และ STARK249A เเละศาลแพ่งกรุงเทพฯใต้มีคำสั่งว่าจะอนุญาตให้เป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่มในวันนี้