หมายเหตุ : นิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสส.พัทลุง หลายสมัย ให้สัมภาษณ์ สยามรัฐ  ถึงการจัดตั้งรัฐบาล โดยล่าสุดมี พรรคเพื่อไทย ทำหน้าที่เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แทน พรรคก้าวไกล แต่ขณะเดียวกันกลับพบว่า การเมืองไทยกำลังเดินมาสู่ "จุดเปลี่ยน" ทั้งการเปลี่ยนโหมดเมื่อการจับมือของ "8พรรคร่วมรัฐบาล" อาจมาถึงทางแยก

- มองสถานการณ์ทางการเมืองอย่างไร  หลายคนมองว่าการเมืองไทยเปลี่ยนแทบทุกชั่วโมง และเมื่อวันที่ 24 ก.ค.66 ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีการเสนอชื่อนายกฯในที่ประชุมรัฐสภา ซ้ำได้หรือไม่ และยังขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งระงับการโหวตนายกฯ รอบที่สาม ออกไปก่อน

ประเด็นเรื่องผู้ตรวจการแผ่นดิน ผมเคยวิเคราะห์เอาไว้แล้วก่อนหน้านี้ว่า มติของรัฐสภาถือเป็นที่สุดแล้ว ไม่สามารถเสนอไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความมติของรัฐสภาได้ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการพิจารณาว่ามติของรัฐสภาถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง รวมทั้งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเอาไว้

ทั้งนี้เนื่องจากข้อบังคับของสภา มีอยู่3ฉบับด้วยกัน คือ1.ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ซึ่งข้อบังคับเหล่านี้ก่อนที่จะประกาศลงราชกิจจานุเบกษาประกาศเป็นข้อบังคับ จะเป็นร่างฯก่อนที่จะส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พิจารณาว่าร่างข้อบังคับ ทั้ง3ฉบับนี้ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งนี่เป็นข้อยกเว้น ตามปกติแล้ว จะส่งเฉพาะที่เป็นร่างข้อกฎหมายสำคัญบางฉบับไปให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ดู

ซึ่งข้อบังคับ ไม่มีศักดิ์เป็นกฎหมาย เพราะฉะนั้นศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการพิจารณา แต่เนื่องจากข้อบังคับของรัฐสภา มีความสำคัญ ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงบัญญัติเอาไว้ว่าก่อนที่จะใช้บังคับ ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญดูก่อน โดยสรุปคือข้อบังคับของรัฐสภา นั้นได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญดูแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็เห็นว่าชอบแล้ว รัฐสภาจึงได้นำมาประกาศในราชกิจจานุเบกษา และได้บังคับใช้แล้ว

แต่จะมีความสับสนว่า แล้วข้อบังคับสภาฯ นั้นมีข้อที่ 41  ที่ระบุว่ามติของรัฐสภาให้เป็นที่สุด  หมายความว่าคุณจะส่งไปตีความที่ไหนไม่ได้ เพราะจบแล้ว เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้เคยดูข้อบังคับมาแล้ว แต่หากในกรณีที่ข้อบังคับนั้นๆมีข้อถกเถียงกัน ก็ให้ใช้มติเสียงข้างมากว่าอย่างไร ให้เป็นข้อยุติ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจวินิจฉัยแล้ว  เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญไปวินิจฉัยว่ามติของสภาฯ ไม่ชอบ ก็จะกลายเป็นว่าเรากำลังดึงเอาอำนาจของฝ่ายตุลาการ เข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ

ดังนั้นผมมั่นใจว่า อย่างไรแล้วศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะไม่รับเรื่องนี้ไปพิจารณาได้ ยกเว้นในกรณีที่เคยเกิดขึ้นในอดีต คือการที่ตัวประธานสภาฯ มีคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ในสมัยนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาฯ ตีความกฎหมายผิด จึงได้มีส.ส.เข้าชื่อแล้วยื่นฟ้องต่อคณะกรรมการป.ป.ช.ซึ่งศาลฎีกา ได้มีคำวินิจฉัยออกมา ในตอนนั้น แต่ศาลได้ยกฟ้องไป เนื่องจากเห็นว่าเป็นการตีความผิด

เรื่องนี้ตนต้องการชี้ให้เห็นว่าเมื่อเป็นมติของสภาฯ แล้วถือเป็นที่สุด แต่เมื่อประธานสภาฯ โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อาจจะผิดอาญาได้ ท่านจึงไม่วินิจฉัยเองซึ่งท่านอาจถูกฟ้องแน่นอน ดังนั้นท่านจึงใช้ความเก๋าของท่านโดยการให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติ เพราะจะเป็นการคุ้มครองประธานด้วย และเป็นที่สุดด้วย

ส่วนประเด็นที่ผู้ตรวจการฯ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญระงับการโหวตนายกฯรอบที่สามออกไปก่อน จะกระทบต่อการเมืองหรือไม่ นั้น ต้องดูก่อนว่าศาลรัฐธรรมนูญรับหรือไม่ ซึ่งผมเชื่อว่าไม่รับ แต่ถ้าหากศาลฯรับ ก็อาจจะให้ยุติการโหวตนายกฯเอาไว้ ซี่งจะกระทบแน่นอน โดยจะกระทบต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่า จะมาแทรกแซงการทำหน้าที่ของรัฐสภาอีกแล้ว จะทำให้ระบบเครื่องยนต์ในระบอบประชาธิปไตยถูกทำลายไปเรื่อยๆ ทีละส่วน

- ตลอดหลายวันที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย เดินหน้าหารือกับพรรคการเมืองในขั้วรัฐบาลเดิม ควบคู่ไปกับการขอเสียงหนุนจากสว. และมีแนวโน้มว่า มีเสียงอยากให้พรรคเพื่อไทยสลัดพรรคก้าวไกลออกจากสมการตั้งรัฐบาล ขณะที่พรรคก้าวไกล ก็ยืนยันว่าไม่ไป จะอยู่ด้วยกัน แล้วการเมืองจะไปต่ออย่างไร

อันนี้เห็นถึงความเก๋าเกม มากขึ้นของพรรคก้าวไกล ก่อนหน้านี้พรรคก้าวไกล ไม่ได้เก๋าเกมการเมืองแบบนี้ เพราะไปเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.272 หรือไปต่อว่าสว. ขณะที่ไปขอเสียงจากเขา ไม่ลดเพดานม.112บ้าง แต่เมื่อพรรคก้าวไกล เล่นเกมแบบนี้แสดงว่ามีกุนซือเข้ามาช่วยพรรคก้าวไกล ไม่ยอมถอนตัวออกไป ทั้งที่เดิมหลายคนคิดว่า เมื่อพรรคก้าวไกลเจอแบบนี้คงแถลงโยนผ้า ยอมแพ้ไปแล้ว

ขณะที่ความเก๋าของพรรคเพื่อไทย คือการที่เชิญพรรคการเมืองมาพูดคุยในส่วนของรัฐบาลเก่า จะมีประโยคที่พูดเหมือนกันออกมาคือ ไม่เอาเรื่องแก้ม.112 และยังบอกด้วยว่าไม่สามารถทำงานกับพรรคก้าวไกลได้ เป็นของแถม แต่หนักมาก และยังพูดตรงกันหมดทุกพรรค ยกเว้นพรรคชาติพัฒนากล้า

สิ่งที่เกิดขึ้น เหมือนต้องการให้พรรคก้าวไกล โยนผ้า ซึ่งถ้าพรรคก้าวไกล ทำจริง พรรคเพื่อไทยก็ไม่เสียหาย เพราะถือว่าคุณยอมเอง พรรคเพื่อไทยพยายามบีบให้พรรคก้าวไกล พูดอย่างนั้นแต่วันนี้พรรคก้าวไกล เก๋าเกมแล้ว ไม่พูด จะอยู่ต่อแบบนี้

วันนี้แม้เพื่อไทย จะไม่อยากเอาก้าวไกล แต่จะพูดอย่างไร จะกล้าพูดยกเลิกเอ็มโอยูหรือไม่  เครดิตของเพื่อไทยลดวูบเลย แล้วเครดิตจะไปเพิ่มที่ก้าวไกลทันที วันนี้ผมเชื่อว่าพรรคก้าวไกลรู้อยู่แล้วว่า ไม่สามารถเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยได้เลยแล้วเพราะไปไม่ได้แล้ว  เพียงแต่เขาต้องการรักษาเครดิตทางการเมืองของเขาเอาไว้ และขณะเดียวกันก็โจมตีพรรคเพื่อไทยไปด้วย นี่คือความเก๋าของพรรคก้าวไกล

ที่นี่ต้องมาวัดใจว่าจะเลิกกันอย่างไร ผมคิดว่าอย่างไรเพื่อไทยก็บอกเลิกกับพรรคก้าวไกล แน่นอน และที่สำคัญ พรรคเพื่อไทย ไม่สามารถรอไปถึง 10 เดือนตามที่มีการเสนอว่าให้สว.ชุดนี้หมดวาระไปในปีหน้า เพราะจะเป็นปัญหาสำหรับประเทศ ดังนั้นก็ต้องหาทางปลดก้าวไกลออกจากเอว

เพราะเดิมพันของพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่แค่ว่าคุณได้เป็นนายกรัฐมนตรี  หรือคุณได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่มันมีเดิมพันของคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯพ่วงเข้ามาด้วย เพราะฉะนั้นหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำ และเป็นนายกฯ เรื่องการเดินทางกลับของคุณทักษิณ ก็ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นถึงอย่างไร พรรคเพื่อไทยต้องเป็นรัฐบาลให้ได้

วันนี้ต้องบอกว่าคุณทักษิณ ไม่ใช่แค่ถูกเลขท้าย แต่ยังถูกรางวัลที่หนึ่ง จึงเป็นคำตอบว่าทำไมพรรคเพื่อไทยถึงรอไม่ได้ อีก 10 เดือน เพราะคุณทักษิณ ก็รอไม่ได้ นี่คือจังหวะที่ดีที่สุดสำหรับคุณทักษิณแล้ว