จากกรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความมติรัฐสภา ห้ามเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐบมนตรรอบสอง พร้อมทั้งขอให้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการโหวตนายกฯ รอบ 3 ออกไปก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยนั้น

ล่าสุด นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจที่จะรับเรื่องวินิจฉัยกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินที่ยื่นเรื่องสู่ศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยกรณีรัฐสภาใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ 41 ห้ามนำญัตติใดที่ตกไปแล้วนำมาพิจารณาใหม่ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นการละเมิดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ รธน.มาตรา 149 อนุโลมว่า ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาถ้ายังไม่ได้ประกาศใช้ สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่าจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือได้ แต่ถ้าเป็นข้อบังคับที่ประกาศใช้แล้ว ให้เป็นเรื่องภายในรัฐสภา ไม่มีเหตุที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญจะไปตรวจสอบว่าจะขัดแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถไปตีความ หรือ ตรวจสอบ ข้อบังคับของรัฐสภาได้ เพราะถือเป็นเรื่องภายในของรัฐสภา และพรบ.ประกอบรธน.ว่าด้วยการพิจารณาของศาลรธน.ก็ไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องลักษณะนี้มาพิจารณา ฉะนั้น มติของที่ประชุมรัฐสภาวันนั้นจึงเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมและถูกต้องตาม รธน. โอกาสที่ศาลรธน.จะรับมาพิจารณามองว่า คงสำเร็จน้อยมาก

ส่วนที่ผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ศาลรธน.มีคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีข้อวินิจฉัยในเรื่องนี้ออกมา จึงไม่สามารถกระทำได้เพราะศาลรธน.ไม่มีอำนาจบังคับสถาบันรัฐสภา วุฒิสภา หรือสภาผู้แทนราษฎรเพราะถือเป็นสถาบันของชาติ ถ้าทำอย่างนั้นถือเป็นการกระทำที่เกินขอบเขตความมุ่งหมายของกฎหมาย และ ศาลรธน.เองก็ไม่มีเคยมีตัวอย่างคำสั่งแบบนี้มาก่อน แต่สามารถมีคำสั่งให้ สส. สว. หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้

"ทางออกเรื่องนี้จึงอยู่ที่ประธานรัฐสภาที่จะเรียกประชุม และอาจหารือสมาชิกเพื่อเป็นการรับฟังว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรธน. จากนั้นก็คงใช้มติของที่ประชุมรัฐสภาเป็นทางออกเพราะเรื่องนี้ถือเป็นกิจการในภารกิจของรัฐสภาเมื่อมีความขัดแย้งก็ให้ที่ประชุมวินิจฉัย"อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าว