เมื่อวันที่ 23 ก.ค.66 นายตวง อันทะไชย ส.ว. โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว “Tuang Untachai” มีข้อความระบุว่า
มติของรัฐสภาเป็นที่สุด
-มีผู้รู้หลายท่าน กล่าวทำนองว่า การที่สมาชิกรัฐสภามีมติว่า ไม่สามารถเสนอชื่อผู้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ถึง 2 ครั้งในสมัยประชุมหนึ่งๆ จะทำให้มติของที่ประชุมรัฐสภาใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ผู้ใดได้รับความเสียหาย สามารถส่งไปศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความได้ ผ่านทางช่องทางขององค์กรอิสระ
-ความเห็นของผู้รู้ ดูดี น่าเชื่อ แต่ตรรกะอย่างนี้ของผู้รู้ ใช้ไม่ได้ครับ เพราะการตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภานั้น ผิดถูกอย่างไร ให้ถือว่า ถึงที่สุด องค์กรอื่นแม้ศาลรัฐธรรมนูญก็จะมาตีความไม่ได้ ไม่งั้น ไม่ต้องทำอะไรกัน เรื่องนี้ ผมเคยเขียนมาครั้งหนึ่งแล้ว
-ความเก๋าเกมส์ ของท่านประธานรัฐสภา วันนอร์ คือ ท่านไม่ใช้อำนาจวินิจฉัยเอง เพราะหากท่านใช้อำนาจวินิจฉัยเอง โดยไม่ใช้มติของรัฐสภา ท่านต้องขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแน่นอน เหตุผล เป็นดังนี้ ครับ
-เคยมีครั้งหนึ่ง ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ท่านประธานสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ตีความข้อบังคับการประชุมสภา เรื่องระยะเวลาการแปรญัตติผิด ผมก็ไม่ยื่นคำแปรญัติ แล้วผมรวบรวมรายชื่อสมาชิกรัฐสภา ฟ้องประธานสมศักดิ์ ต่อปปช.
-ปปช. ก็เห็นตรงกับผมว่า ประธานตีความข้อบังคับผิด ทำให้ผมได้รับความเสียหาย
-ในชั้นพิจารณาของศาลฎีกา ผมก็เบิกความว่า ท่านประธานสมศักดิ์ ตีความข้อบังคับผิดทำให้ผมเสียหาย ยื่นคำแปรญัตติไม่ทัน ส่วนท่านมีเจตนาทุจริต ตามม.157 หรือเปล่า ผมไม่ทราบ ผมยืนยันเพียงว่า ท่านตีความผิดแน่นอน
-คดีนี้ ศาลฎีกาก็วินิจฉัย ว่า ประธานรัฐสภาตีความข้อบังคับการประชุมผิดจริง ทำให้นาย น.(ซึ่งหมายถึงผมนั่นแหละ) ได้รับความเสียหาย แต่เป็นความเสียหายเพียงเล็กน้อย เพราะนายน.(คือนายนิพิฏฐ์) ก็มีโอกาสได้อภิปรายในสภาแล้ว
-การจะถือว่า จำเลย(ประธานสมศักดิ์) มีความผิดตาม ม.157 ต้องแสดงให้เห็นว่าจำเลย มีเจตนาและมีเจตนาทุจริต ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย "...เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ตีความโดยจำเลยที่ 1 เชื่อเช่นนั้นจริง ..."
*ผมเขียนมายืดยาว เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกับบรรดากูรูทางกฎหมาย และ กูรูด้านรัฐธรรมนูญ ว่า เมื่อไหร่ก็ตาม ที่ความรู้อันมหาศาลของท่าน ประกอบด้วย "อคติ" เพราะรัก-ชอบ ใคร หรือ พรรคการเมืองใดเป็นพิเศษ เมื่อนั้น ความรู้อันมหาศาลของท่านก็จะผิดพลาดอย่างน่าเสียดาย
-กล่าวโดยสรุปอีกครั้ง มติของสมาชิกรัฐสภาที่ไม่เสนอชื่อคุณพิธา ในรอบที่ 2 ยุติแล้ว
หมายเหตุ:: ดู คำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ ที อม. 1/2563 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 20/2565 ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เป็นโจทก์ ฟ้อง นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภาจำเลยที่ 1 และนายอุดมเดช รัตนเสถียร จําเลยที่ 2)