รายการโหนกระแส ออกอากาศวันที่ 13 ก.ค. 66 ดำเนินรายการโดย “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 สัมภาษณ์ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช และ สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ม.รังสิต และอดีต กกต. กรณีโหวต “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกฯ จะผ่านด่านหรือไม่ และทิศทางการเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไป
ดร.ยุทธพร : ปุ่นสต็อบถูกกดตั้งแต่วันสตาร์ท วันที่กกต.รับรองผล 500 ส.ส. เราเห็นสัญญาณตั้งแต่วันนั้น ที่เห็นการสืบสวนสอบสวน วินิจฉัยกกต.มา 30 กว่าวัน แล้วอยู่ๆ ก็มาสรุปง่ายๆ คือรับรองผล 500 ส.สง นั่นคือจุดสตาร์ท แต่ปุ่มสต็อบถูกกดตั้งแต่ตอนนั้น คุณพิธาต้องเจอ 3 ด่าน ด่านแรก กกต. สุดท้าย กกต. ก็ส่งไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญจริงๆ ศาลจะมีคำสั่งรับไม่รับก็ต้องตามต่อ
เป็นสิ่งที่อาจารย์เคยพูดแล้วในรายการ ด่านแรกคือกกต.?
ดร.ยุทธพร : ผมเคยบอกว่าจับตานะ ว่ามาตรา 82 จะเป็นยังไง สุดท้ายก็ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญจริงๆ ศาลรัฐธรรมนูญเขาเรียกว่ารับเรื่องทางธุรการ เอาง่ายๆ คือรับเอกสาร แล้วรอว่าศาลจะมีคำสั่งรับหรือไม่รับ ถ้าไม่รับคุณพิธาเดินต่อได้ สำหรับเรื่องนี้ แต่ยังมีเรื่องอื่นต่ออีกเยอะ
มีเรื่องอื่นอีกเยอะ นอกจากหุ้นไอทีวีเหรอ?
ดร.ยุทธพร : ก็วันนี้มาตรา 49 อยู่ในศาล ศาลรัฐธรรมนูญรับแล้ว ล้มล้างการปกครอง มาตรา 49 แล้วมีอีกมากมายที่บรรดานักร้องไปร้อง อย่าลืมว่าเมื่อรับก็ดูว่าศาลมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่มั้ย ถ้าให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ นั่นคือหยุดในฐานะ ส.ส. ไม่สามารถเข้าประชุมได้ ด่านที่สอง คือสว. ศาลตั้งต้นมาจากด่านที่หนึ่ง คือเรื่องกกต.ไปยื่นไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นนี้จะถูกหยิบยกขึ้นมา เป็นอีกประเด็นนอกจากเรื่องมาตรา 112 ที่พูดกันในวันนี้ การอภิปรายในช่วงเช้าและช่วงบ่าย ผมว่ามีแน่นอน ประเด็นคุณสมบัติลักษณะต้องห้าม คดีที่ไปค้างอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ และอาจเป็นเหตุให้มีการเลื่อนการลงมติก็เป็นไปได้ ด่านสุดท้ายคือศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรตุลาการที่เกี่ยวข้อง เรื่องที่ร้องทั้งหมดถ้าไปสุดทางศาลรับอะไรทุกอย่างก็ต้องไปจบที่ตรงนั้น นี่คือสามด่านหินของคุณพิธา ต้องผ่านให้ได้
วันนี้นับเป็นด่านที่หนึ่งก่อน ต้องผ่านวันนี้ไปให้ได้ก่อน?
ดร.ยุทธพร : เรียกว่า 1.2 แล้วกัน เพราะเมื่อวานเขาตั้งต้นให้แล้ว ยื่นไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ
อาจารย์เห็นเหมือนกันมั้ย?
สมชัย : ผมไม่เรียกด่าน ผมเรียกดาบ เมื่อวานกกต.ลงมติอย่างรีบเร่ง เร่งจริงๆ ปกติแล้ว ประชุมวันจันทร์-อังคาร ความจริงถ้าประชุมไม่เสร็จพี่แกต้องต่อจันทร์-อังคารหน้า นี่แกต่อวันพุธเลย
ถือว่าแปลกมั้ย?
สมชัย : ถามว่าขยันมั้ยก็ขยัน แต่ขยันผิดเวลามั้ยก็ผิดเวลา จังหวะเวลานี้เขากำลังจะเลือกนายกฯ กัน และคุณต้องรู้ว่าการที่คุณมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าศาลจะรับหรือไม่รับ รับทันไม่ทันก็แล้วแต่ มีผลกระทบต่อการตัดสินใจของคน ซึ่งจะโหวตวันนี้ ส.ส. สว. เขาเอาเรื่องนี้มาพูดได้เลย
จะบอกว่ากกต.เองรับเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก ทำไมไม่ส่งเรื่องนี้ไปศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรก แต่ทำไมมาส่งเอาก่อนวันโหวต?
สมชัย : จะบอกว่าเขาไร้เดียงสา ไม่รู้เรื่องรู้ราวเลยเหรอว่าวันนี้จะมีการโหวตนายกฯ กัน และไม่รู้เลยหรือว่าเขามีมติเมื่อวานนี้ มีผลต่อการตัดสินใจของคน
เป็นเหตุบังเอิญได้มั้ย?
สมชัย : ไร้เดียงสา แต่ถ้าจะทำให้สมกับความเป็นองค์กรอิสระ ให้ตรงไปตรงมา ถ้าเรื่องนี้เป็นความผิดจริง สมมตินะ เขาควรรีบส่งศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงมาตั้งแต่แรก เพราะการส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ ต้องมีสถานะเป็นส.ส. ก่อน เขารับรองการเป็นส.ส.วันที่ 19 มิ.ย. คุณมีเวลาตั้งเยอะแยะเขาร้องตั้งแต่ 11 พ.ค. เวลาในการเก็บข้อมูลตั้งเยอะแยะ วันสองวันส่งศาลรัฐธรรมนูญเลย ไม่มีใครว่าครับ ถือว่ากกต.ทำตามหน้าที่ และศาลก็จะมีเวลาวินิจฉัยทันทีว่าผิดหรือไม่ผิด ผมไม่สนใจผิดหรือไม่ผิดก็แล้วแต่ศาล ถ้าผิดก็ไม่เอาพิธาเข้าเลือกนายกฯ แต่ถ้าไม่ผิดวันนี้จะไม่มีข้อครหา ไม่มีข้อกล่าวหา ไม่มีชนักติดอยู่ข้างหลัง รีบทำตอนนี้ดีที่สุด แต่ท่านก็ทำเอื่อยเฉื่อยมาเรื่อยๆ มาเร่งวันสองวัน ถ้าพุธไม่เสร็จก็พฤหัสบดี ตรงนี้ทำให้ชาวบ้านอดสงสัยไม่ได้ ว่าคุณมีธงทางการเมืองหรือเปล่า หรือคุณเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้กับใครบางคนบางกลุ่มหรือไม่ เป็นข้อสงสัย
ในมุมพี่เอง เคยเป็นอดีตกกต. ถ้าเป็นยุคพี่ พี่ทำแบบนี้มั้ย?
สมชัย : เรื่องที่เข้ากกต. ต้องมีกระบวนการรับเรื่อง มีเจ้าหน้าที่มีสำนักงานในการกลั่นกรองเรื่อง และสรุปเรื่องไปยังกกต. สุดท้ายต้องจบด้วยกกต. ฟังเรื่องทั้งหมดแล้วลงมติ ถ้าผมทำได้ ทำให้เร็วไปเลยตั้งแต่เริ่มต้น สองคือถ้าหากว่าช้าโดยระบบของมัน มีกระบวนเก็บข้อมูลสอบสวนใครต่อใครต่างๆ มาจังหวะวันนี้พอดี ผมก็จะบอกว่าเลื่อนไปเหอะ อย่าเพิ่งเลย เขาจะชกกัน คุณจะช่วยเขาชกเหรอ คุณถอยไปอีกสักแป๊บนึง ส่งเมื่อวานกับอาทิตย์หน้าค่าเท่ากันในเชิงกฎหมาย เพราะศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถวินิจฉัยได้ทันอยู่ดี ส่งเมื่อวานรับเรื่องยังไม่ทันเลย ส่งอาทิตย์หน้ารับเรื่อง เวลาในการวินิจฉัยก็ไม่ได้แตกต่างกัน
ส่งภายในช่วงก่อนมีการโหวตสองวัน เลยทำให้สว. หรืออีกมุมนึง เขาสามารถหยิบประเด็นนี้มาพูด มาวิจารณ์ในสภาได้?
สมชัย : เวลาเราพูดกันเราจะพูดกันในเชิงกฎหมายแบบนึง ว่าโอ้ย ไม่เกี่ยวกันหรอก แคนดิเดตนายกฯ ก็ยังเท่าเดิม ไม่ได้ทำให้ลดน้อยถอยลงไป แต่ความเป็นจริง ถามว่ากระทบจิตใจผู้ที่จะโหวตหรือลงคะแนนเสียงหรือไม่ ถ้าคนใจแข็งเขายืนยันจะโหวตยังไงก็โหวตอย่างนั้น แต่ถ้าคนที่อ่อนไหวสักนิดนึง เรื่องนี้ยังไม่ชัด กกต.ก็ฟันแล้ว ศาลจะฟันไม่ฟันไม่รู้ ถ้าโหวตไปแล้วมีปัญหาในอนาคต กลายเป็นผิดขึ้นมา สิ่งที่เราโหวตจะต้องรับผิดชอบด้วยหรือเปล่า คนหวั่นไหวผมเชื่อว่ามี ดังนั้นเลยเป็นน้ำหนักที่เพิ่มเข้าไป ทำให้แทนที่จะแฟร์ๆ เอาหลักเหตุและผล เหมาะสมไม่เหมาะสมก็ว่ากันไป ก็มีเรื่องนี้ไปเป็นน้ำหนักใส่เพิ่มไปในฝ่ายที่ไม่ต้องการเลิกคุณพิธา กกต.ต้องรู้ต้องเข้าใจ ท่านไร้เดียงสาจนไม่รู้เลยหรือ
มองเหมือนกันมั้ย?
ดร.ยุทธพร : การทำหน้าที่ของกกต.ต้องเปิดเผย โปร่งใส ให้ประชาชนตรวจสอบได้ กรณีนี้ความเปิดเผยโปร่งใสก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ พรรคก้าวไกลก็ออกมาบอกว่าทำไมรีบเร่งและรวบรัดรวมไปถึงไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจงและแจ้งข้อกล่าวหา นี่ก็เป็นประเด็นที่เกิดการตั้งคำถามได้ ส่วนกกต.จะไปยกอ้างระเบียบอะไร คนก็ไม่เข้าใจ ผมว่าสิ่งสำคัญวันนี้ทำอะไรให้ชัดเจน ตรงไปตรงมา มีขั้นตอน ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นสิทธิ์ของเขา ขณะเดียวกันต้องเปิดให้สังคมได้เห็นด้วย วินิจฉัยอย่างนี้ใช้ระเบียบอะไร ข้อกฎหมายอะไร หาตัวกกต.ที่จะมาตอบคำถามนี้ยังหาไม่เจอเลย
พี่พอติดต่อได้มั้ย กกต.?
สมชัย : เดี๋ยวโทรให้มั้ย เอาเบอร์ใคร
คุณติ๊ก เจษฎาภรณ์ แกขึ้นทวิตเตอร์ว่า #กกต.มีไว้ทำไมคะ? แล้วมีอีกหลากหลายนะ คุณก้องห้วยไร่ หัวเราะแล้วมีก. หัวเราะแล้วมีก. หัวเราะแล้วมี ต. ไหมไทย หัวใจศิลป์ กกต.เจอกูแน่ แล้วจะให้พวกกูเลือกตั้งทำไมวะ อุบาทว์ ถ้ามีม็อบ จะมีผมเป็นหนึ่งในนั้นด้วย ออกตัวเลยนะ คุณโอม ค็อกเทล โพสต์?
ดร.ยุทธพร : ถ้าคนตั้งคำถามเยอะแยะในสังคม น่ากังวลแล้วนะว่าองค์กรอิสระในสถาบันการเมืองที่ถูกแบบมา เพื่ออุดช่องว่างรัฐสภา เมื่อก่อนบอกว่าพวกมากลากไป อภิปรายยังไงเดี๋ยวก็ผ่าน ดังนั้นเลยต้องมีอำนาจในการตรวจสอบเพื่ออุดช่องว่าง แต่ถ้าวันนี้องค์กรอิสระไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ภาษารัฐศาสตร์เรียกว่าไม่มีความชอบธรรมทางการเมืองเพราะที่ผ่านมาพอเราร่างรัฐธรรมนูญ เราไปออกแบบสถาบันทางการเมือง แต่ไม่ได้สร้างสถาบันทางการเมือง ที่นั่งอยู่ในใจของคน พอเกิดเหตุแบบนี้แล้วคนตั้งคำถามเยอะแยะ ล้มเหลวนะครับ มันไม่ตอบโจทย์ เสี่ยงกับคนไม่เชื่อมั่นสถาบันการเมืองต่างๆ แบบนี้แล้วเขาลงถนน มีม็อบ มาใช้เรื่องการเดินขบวน ถ้ามีม็อบชนม็อบ แล้วเกิดความรุนแรงขึ้นมาล่ะ นี่คือปัญหาใหญ่ วันนี้กติการัฐธรรมนูญ 60 มันทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่าเสียงข้างมากที่มีอำนาจน้อย กับเสียงข้างน้อยที่มีอำนาจมาก เช่นเรื่ององค์กรอิสระ สว. 250 เสียงเป็นต้น
ส.ส. กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ อยู่ในสาย ตอนนี้อยู่ที่สภา?
กิตติศักดิ์ : อยู่ในห้องประชุม พี่หนุ่มเรียกออกมาเนี่ย
ตัวท่านเองยืนยันจุดยืนเดิมไม่เลือกคุณพิธาเป็นนายกฯ?
กิตติศักดิ์ : จุดยืนเดิมและไม่โหวตคุณพิธาและพรรคก้าวไกล ด้วยเหตุผลเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ทั้งที่คุณพิธาบอกว่าเรื่อง 112 ที่มีการแก้ ไม่ได้ยก แค่ปรับปรุง ต้องการรักษาคงไว้ซึ่งสถาบันอย่างดีที่สุดเรื่องนี้ก็ยังไม่พอ?
กิตติศักดิ์ : ไม่พอและไม่เชื่อด้วย เนื่องจากว่าไปหาเสียงซะเยอะ ไปบอกไว้เยอะ ดังนั้นใครจะโกรธเกลียดกิตติศักดิ์ไม่เป็นไร แต่เรื่องอื่นมีเยอะแยะไม่ทำ ไปทำทำไมสถาบัน ท่านไม่ได้มายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอยู่แล้ว ไปยุ่งทำไม ไปแตะทำไม เรื่องอื่นทำไมไม่ทำ ไม่มีเรื่องจะทำ ฉะนั้นไม่เปลี่ยนใจ ไม่โหวตให้
เท่าที่อยู่ในสภา ทิศทางเป็นยังไงบ้าง?
กิตติศักดิ์ : น่าจะใกล้เคียงสว.กิตติศักดิ์ครับ โดยเฉพาะงดออกเสียง จะมากสักหน่อย
ล่าสุดคุยกับอ.สมชัย ท่านบอกว่าอ.นวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ตอนแรกมีท่าทีจะโหวตให้คุณพิธา ล่าสุดท่านงดออกเสียง?
กิตติศักดิ์ : ผมเองให้เกียรติทุกท่าน จริงๆ แล้วอย่างที่ทราบ ผมความรู้ก็น้อย ก็เคารพทุกท่าน ท่านใดจะใช้สิทธิเลือกโหวต งดออกเสียง กิตติศักดิ์ไม่เคยไปตำหนิ โดยเฉพาะวันนี้หลายท่านเข้ามากอดกับผม แล้วบอกว่าเข้าใจผมดี ตรงนี้เราให้เกียรติกันและกัน ส่วนท่านอื่นจะไปเกลียดหรือรักกัน คิดต่างยังไงผมไม่ทราบ แต่กิตติศักดิ์เป็นแบบนี้จริงๆ ครับ
ทำไมพี่ว่าตัวเองไม่มีความรู้?
กิตติศักดิ์ : คนเราอยู่กับความเป็นจริงดีที่สุด ผมได้รับการตรวจสอบคุณสมบัติ ผมไม่บังอาจบอกว่าผมจบด็อกเตอร์ เป็นอาจารย์ ผมโน่นนี่นั่น ผมเป็นชาวบ้านธรรมดา และชอบอยู่กับความเป็นจริง ไม่ชอบเพ้อฝันครับ
เห็นท่านบอกว่าจริงๆ แล้วท่านอาจมีการปิดสวิตซ์ไม่ให้มีการโหวตคุณพิธาเป็นครั้งที่สอง?
กิตติศักดิ์ : เราสมมติว่าถ้าญัตติที่เสนอคุณพิธาเป็นนายกฯ ถ้าวันนี้ไม่ผ่าน ในครั้งที่สอง โดยข้อบังคับ ข้อที่ 41 บอกว่าญัตติที่ตกไปแล้วไม่สามารถกลับมาอีกในสมัยประชุมนี้ นี่เป็นข้อบังคับของการประชุมร่วม แต่หมายถึงว่าการงดใช้ข้อบังคับที่ 41 ก็จะมีการหารือในที่ประชุม และขอเสียงสมาชิก 40 คน เพื่องดใช้ข้อบังคับข้อที่ 41 ก็สามารถเอาญัตติตรงนี้กลับมาได้ครับ
อาจมีการร้องไม่ให้มีการโหวตครั้งที่ 2 ?
กิตติศักดิ์ : ตรงนี้คุยกับหลายท่าน ท่านก็คงนำเสนอท่านประธานตรงนี้ คงเป็นนักกฎหมายต่างๆ ที่เสนอประธานในที่ประชุมได้
อาจารย์มองยังไง?
สมชัย : ประเด็นที่เขาคุยกัน เรื่องถ้าเสนอกฎหมายไปแล้ว สภาไม่เห็นชอบ ก็ต้องรอสมัยประชุมถัดไปถึงจะเสนอได้ แต่กรณีนี้เป็นการเลือกนายกฯ เป็นการเสนอชื่อ ซึ่งอาจไม่ได้เป็นเรื่องซึ่งต้องนำข้อบังคับดังกล่าวเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมสภาว่าจะเอาอย่างไร ถ้าส่วนใหญ่บอกว่าได้ก็ได้ ถ้าบอกว่าไม่ได้ก็ค่อยว่ากันตามนั้นอีกที
อาจารย์ยุทธพรล่ะ?
ดร.ยุทธพร : ผมว่าต้องไปดูว่าญัตติหมายความว่าอะไร ในข้อบังคับเขียนเองว่าญัตติหมายถึงข้อเสนอใดๆ ที่มีความมุ่งหมายให้สภาลงมติหรือชี้ขาดว่าจะปฏิบัติหรือชี้ขาดให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป ดังนั้นญัตติคือข้อเสนอนะครับ แต่ในการเลือกนายกฯ คือการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 และมาตรา 159 ไม่ได้เป็นข้อเสนอ เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ในมุมมองผมการเสนอคุณพิธาเป็นครั้งที่สองคิดว่าทำได้ แต่ในเกมการเมืองคิดว่าต้องมีคนไปยื่นให้ตีความว่าเป็นอย่างไร ถือว่าเป็นญัตติมั้ย ถ้าเป็นญัตติตกไปแล้ว ต้องรออีก 5 เดือนนะครับถึงจะเสนออีกได้ แต่ถ้ามุมผมทำได้เพราะนี่ไม่ใช่ข้อเสนอ เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ
ได้อภิปรายหรือยัง?
กิตติศักดิ์ : วันนี้กิตติศักดิ์จะนั่งสมาธิ พับเพียบ เรียบร้อย ไม่อภิปรายครับ ดูอยู่ทรงความรู้อภิปรายกัน กิตติศักดิ์จะนั่งฟังด้วยความสุภาพเรียบร้อยครับ
มีอะไรอยากฝากแฟนๆ พี่มั้ย หรือทัวร์ที่ไปหาพี่?
กิตติศักดิ์ : ไม่เป็นไร ระบอบประชาธิปไตยก็เป็นแบบนี้แหละ ถ้าทัวร์ไม่มาแสดงว่าไม่สำคัญ ผมเรียนว่าทุกอย่างมาแล้วเดี๋ยวก็ไป ดังนั้นพวกเราอย่าไปเสี้ยมให้คนไทยทะเลาะกันดีที่สุดครับ
กรณีกกต.ชงเรื่องยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญก่อนมีการโหวต หลายคนคิดว่าดูแล้วมีความแปลก ซ่อนเงื่อน มองยังไง?
กิตติศักดิ์ : พี่หนุ่มต้องเอาไปถาม กกต. เพราะสว.ไม่มีอำนาจสั่งใครได้
สมชัย : การที่กกต.ส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ จะมีผลอะไรต่อการตัดสินใจของสว.ในวันนี้บ้างมั้ย
กิตติศักดิ์ : ไม่มีผลกระทบกับการตัดสินใจของสว.แต่อย่างใด ผมได้พูดคุยกับพี่ๆ น้องๆ สว. การตัดสินใจก็อยู่ในใจของสว. ผมถามใครก็ไม่มีใครตอบ เตรียมความพร้อมตัดสินใจวันนี้ก็เป็นอาทิตย์สองอาทิตย์แล้ว
สมชัย : ท่านประเมินว่าจะมีการประชุมวันที่ 19 ก.ค. อีกครั้งมั้ย
กิตติศักดิ์ : มีแน่นอนครับ
สมชัย : เราต้องมาออกรายการอีกรอบเหรอ
กิตติศักดิ์ : หลอกถามผม ถ้าไม่ผ่านวันนี้ก็ต้องมีวันที่ 19 ใช่มั้ยเนี่ย ภรรยาให้ทานปลาเยอะก็เริ่มฉลาดขึ้นนิดนึง
นอนเร็วๆ ก็ได้ ไม่ต้องทานปลา เมื่อกี้พูดมีนัยยะนะ แสดงว่าท่านปักธงมาตั้งแต่ก้าวไกลได้ 14 ล้านเสียงแล้วใช่มั้ย ว่ายังไงก็ไม่มีทางเลือกเขา?
กิตติศักดิ์ : คนเราต้องมีเหตุมีผล การที่มาอยู่ตรงนี้อย่างน้อยอยู่ท่ามกลางผู้หลักผู้ใหญ่ ต้องมีเหตุผลชี้แจงได้ ถ้าจะเลือกหรือไม่เลือกต้องมีเหตุมีผล ผมพูดไป 108 รอบแล้วว่าเหตุผลคืออะไร ผมคิดก่อนพูด เพราะพูดไปแล้วจะกลับลำก็ไม่ใช่กิตติศักดิ์ครับ
สมชัย : ลืมถามว่าวันนี้ท่านจะออกจากสภา ทางรถหรือทางเรือ
ท่านบอกว่าทางเรือ นักข่าวถามไปแล้ว ท่านบอกจะถอดชุดออกแฝงตัวไปกับนักข่าว?
ดร.ยุทธพร : งั้นคุณสมบัติอีกอย่างสว. คือต้องว่ายน้ำเป็น (หัวเราะ)
วันนี้มีกลุ่มคนสนับสนุนพรรคก้าวไกลไปให้กำลังใจ ท่านกิตติศักดิ์ก็ยืนยันชัดเจน ว่าไม่เลือกก้าวไกล แล้วมีคนไปอำแก?
สมชัย : ผมเคยไปออกรายการกับท่าน เคยชมท่านว่าท่านมีจุดยืนชัดเจน และกล้าแสดงออก แต่ว่าขณะเดียวกัน ชีวิตท่านลำบากพอสมควร วันนี้จะไปที่ไหน กำหนดการห้ามบอกล่วงหน้า เก็บเป็นความลับหมดเลย แสดงว่าลำบากพอสมควร ผมคิดว่าประชาชนที่เฝ้าดูเชื่อว่ายังมีเหตุมีผลรับฟังได้ และคงฟังเหตุผลอภิปรายที่เกิดทั้งวัน มติออกมายังไงก็แล้วแต่ ยังมีทางออกทางแก้ ไม่ใช่จบ วันนี้ไม่จบ วันหน้าก็จบได้ อย่าเพิ่งเร่งรีบอะไรในทางที่ทำให้เกิดความรุนแรง ไม่เกิดประโยชน์ครับ
วันนี้มีโอกาสไหนมั้ยที่เขาจะไม่สามารถดำเนินการโหวตไปถึงห้าโมงเย็นได้?
สมชัย : จังหวะเวลาแรกคือจังหวะเวลาอภิปราย กำหนดไว้แล้ว 6 ชม. คิวในการอภิปรายต่างๆ ยังคงดำเนินอยู่ และสับเปลี่ยนอภิปราย ฝ่ายสนับสนุน ฝ่ายตรงข้าม สว. 6 ชั่วโมงแรกยังอยู่ในสถานการณ์ที่ผมคิดว่าน่าจะดำเนินการอภิปรายต่อไปได้เรื่อย ไม่น่ามีใครมาขอแทรก หรือหาเรื่องนับองค์อประชุม ไม่น่าจะเกิดขึ้น
ข่าวสดลงเมื่อสักครู่ สะพัดสว. ผนึกส.ส.จ่อวอร์กเอาต์ ทำองค์ประชุมล่ม เลื่อนโหวตนายกฯ?
สมชัย : การเลื่อนโหวตนายกฯ อาจเป็นผลดีกับฝ่ายอำนาจเดิม ไม่ต้องเปิดเผยตัวตนว่าตัวเองคิดอย่างไร และทำให้เกิดผลเสียกับฝ่ายคุณพิธาเอง เนื่องจากว่าถ้ายิ่งเลื่อนออกไป ไม่โหวตวันนี้ก็จะทำให้เข้าสู่สถานการณ์ที่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีเวลาเพียงพอในการวินิจฉัยเรื่อง และอาจสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพิ่มน้ำหนัก สิ่งที่เป็นปัญหาให้คุณพิธามากขึ้น ถ้าถึงจุดนึงศาลให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ก็จะหนักไปอีก ดังนั้นเจตนาการเลื่อนประชุมวันนี้ถ้าเกิดขึ้น เลื่อนเพื่อรอศาลวินิจฉัย รับเรื่องและสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ผมคิดว่าไม่ใช่ผลดีกับทางรัฐสภาเลย เพราะคุณประชุมรัฐสภาครั้งแรก แล้วทำสภาล่ม ไม่ครบองค์ประชุม ผมว่าเสียหาย ไม่สง่างาม ไม่คุ้ม ไม่ควรทำอย่างยิ่ง โหวตไปเถอะครับ ได้ไม่ได้ก็ว่ากันไป หรือคุณไม่มั่นใจว่าส.ส.ที่มีจำนวนหนึ่งอาจเกิน 60 กว่าคนหรือเปล่า เลยต้องใช้วิธีการแบบนี้
มองเหมือนกันมั้ย?
ดร.ยุทธพร : ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ วันนี้ผมว่ามีสองทิศทาง คือโหวตได้นำไปสู่การโหวตคุณพิธา แต่จะถึง 375 หรือไม่ เพราะสว.ลาออกไปแล้วคนนึง ถ้าถึงคุณพิธาได้เป็นนายกฯ แต่มีแนวโน้มไม่ถึงมากกว่า นี่คือทางแรก ทางที่สองคือโหวตไม่ได้ ด้วยเหตุว่ามีการเล่นเกมการเมือง มีสารตั้งต้นจากด่านที่หนึ่งคือยื่นศาลรัฐธรรมนูญ แล้วเลื่อนเพื่อรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับไม่รับ จะมีการวินิจฉัยอย่างไร และอีกอย่างคือการวอล์กเอาต์ไม่เข้าประชุม เมื่อเช้าตัวเลขสว.ที่มาประชุมน้อยมาก 100 กว่าคนเอง แต่อาจมองในแง่ดีไว้ก่อน ท่านอาจรถติด เดินทางมาไม่ถึง แต่สุดท้ายถ้าเป็นเกมวอล์กเอาต์ก็อาจโหวตไม่ได้ ซึ่งผลมันจะต่างกัน ถ้าเดินหน้าโหวตแล้วพิธาไม่ถึง 375 เท่ากับสุมฟืนเข้ากองไฟ เพราะเสียงประชาชนที่ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยกกต. อะไรต่างๆ มันเยอะมาก ดังนั้นถ้าวันนี้โหวตแล้วพิธาเจอเรื่องโหวตโนเยอะ สุดท้ายไม่ถึง 375 ก็จะยิ่งทำให้มวลชนมีพลัง ถ้าไปอีกทางนึงขอไม่โหวต ก็อาจเป็นประเด็นทำให้คุณพิธาได้เปรียบหรือเสียเปรียบก็ได้ ได้เปรียบคือเขาไปปลุกมวลชนได้มากแค่ไหน แล้วระยะเวลาจากนี้อีก 1 สัปดาห์ก็เป็นตัวแปร หนึ่งพลเอกประยุทธ์ วางมือทางการเมือง ลุงตู่ต้องมีนายกฯ ในดวงใจแล้วถึงประกาศวางมือ นายกฯ คนนี้เช็กเสียงแล้วว่าได้ ทุกคนยอมรับถึงได้ประกาศวางมือ ก่อนหน้านี้คำถามพลเอกประยุทธ์หลายอย่าง พลเอกประยุทธ์ยังไม่วางมือเลย แต่อยู่ดีๆ วันนี้วางมือ แสดงว่าต้องมีนายกฯ ในดวงใจอยู่แล้ว กับสองการกลับบ้านของคุณทักษิณ สามมวลชนที่อยู่นอกสภา สามปัจจัยนี้จะเป็นปัจจัยในการโหวตทั้งในวันนี้และวันข้างหน้าด้วย
มีคนถามเข้ามาว่ามึงนึกเหรอ ได้ 14 ล้านเสียงแล้วจะยึดประเทศได้ เด็กอ่อน?
ดร.ยุทธพร : ผมคิดว่าไม่มีใครบอกได้ว่าการตัดสินใจทางการเมือง แบบไหนดี แบบไหนไม่ดี การเลือกตั้งไม่ได้บอกว่าเป็นคำตอบสุดท้าย แต่ชี้ให้เห็นถึงเจตจำนงของประชาชนได้มากที่สุด มันพิสูจน์และวัดได้มากที่สุด