จังหวัดสุพรรณบุรีถือได้ว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีอาชีพทำการเกษตรเป็นหลัก ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา เนื่องจากมีแหล่งน้ำธรรมชาติ พื้นที่อุดมสมบูรณ์ แต่เนื่องจากปัจจุบัน ชาวนาประสบปัญหาต้นทุนการผลิตข้าวสูง ทำให้รายได้ลดลง กรมการข้าว โดยสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักที่เข้ามาดูแล แก้ไขปัญหาด้านต้นทุนการผลิตข้าว โดยใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ

นางสาวอมรรัตน์ อินทร์มั่น ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ กรมการข้าว กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร อายุเฉลี่ยของเกษตรกรที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลกระทบในภาคการเกษตรมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการทำนา ดังนั้นกรมการข้าวได้เห็นปัญหาตรงนี้ จึงได้มีการพัฒนาและวิจัยในเรื่องของการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ในนาข้าว โดยนำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะมาใช้ในนาข้าว สามารถใช้ได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จะเริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน การปลูก การดูแลรักษา การสำรวจนาจนกระทั่งขั้นตอนการเก็บเกี่ยว  โดยทางเจ้าหน้าที่กรมการข้าวได้มีการผลักดันให้เกษตรกรได้เข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้มากที่สุด ใช้งานง่าย และต้องมีราคาที่เกษตรกรสามารถจับต้องได้ ซึ่งการทำนาแบบใช้เทคโนโลยีจะช่วยในเรื่องของการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการปลูกข้าว เพิ่มผลผลิต นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องการตัดสินใจของเกษตรกร สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรอีกด้วย

“สำหรับเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะก็มีหลากหลายเทคโนโลยี อย่างเช่น สถานีตรวจวัดอากาศ เครื่องนี้จะประกอบไปด้วยตัววัดอุณภูมิ ตัววัดปริมาณน้ำฝน สามารถวัดค่าแรงลม ทิศทางของลม และค่าความชื้นได้ นอกจากนี้ยังมีในส่วนที่สำคัญก็คือกล้องที่ติดตั้งในแปลงนา ทำให้เราสามารถเห็นแปลงนาได้ ณ เวลานั้น ๆ เกิดความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถตรวจเช็คแปลงนาได้ตลอดเวลาผ่านโทรศัพท์มือถือ และอีกส่วนหนึ่งก็คือในอนาคตทางกรมการข้าวกำลังพัฒนา Weather station ซึ่งเป็นโมเดลการพยากรณ์ในเรื่องของการระบาดโรคและแมลง เพราะฉะนั้นการติดตั้ง Weather station สามารถติดตั้งได้ทั่วประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันกรมการข้าวได้ติดตั้งแล้วประมาณ 20 กว่าตัวทั่วประเทศไทย เพื่อช่วยในเรื่องของการประเมินและการคาดคะเนในเรื่องของการระบาดโรคและแมลงได้” นางสาวอมรรัตน์ กล่าวเสริม