วันที่ 10 ก.ค.66 พลตำรวจโทวรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงผลปฏิบัติการ “ยุบวงจร หลอกลงทุนกลุ่มอมตะ” จับกุมกลุ่มมิจฉาชีพที่ใช้ช่องทางออนไลน์ หลอกเหยื่อให้ร่วมลงทุน โดยแอบอ้างว่าเป็นการลงทุนหุ้นของกลุ่มอมตะ ซึ่งเป็นบริษัทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยพลตำรวจโทวรวัฒน์ กล่าวว่า ภายใน 1 เดือนมีผู้เสียหายแจ้งความผ่านระบบออนไลน์มากว่า 185 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 25 ล้านบาท บก.สอท.2 จึงดำเนินการสืบสวนสอบสวน และเข้าจับกุมผู้ต้องหา เพื่อยับยั้งเพจต่างๆ ที่หลอกลวงให้ลงทุน

ด้านพันตำรวจเอกสุวัฒชัย ศรีทองสุข ผกก. วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.2 กล่าวว่า รูปแบบของการหลอกลงทุนออนไลน์ในปัจจุบัน คนร้ายจะใช้เรื่องที่อยู่ในกระแสมาหลอกให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ ซึ่งก่อนหน้านี้ กลุ่มอมตะ มีกระแสมาจากการบริจาคทรัพย์สิน 2 หมื่นล้าน จึงเป็นที่ถูกพูดถึง ทำให้คนร้ายนำชื่อบริษัทมาใช้แอบอ้างในการก่อเหตุ

วิธีการจะเป็นการสร้างเพจเฟซบุ๊กขึ้นมา 3-4 เพจ ใช้ชื่อแตกต่างกันไป แล้วติดต่อผู้เสียหายเพื่อโฆษณาชวนเชื่อ ชักชวนให้มาลงทุน โดยมีภาพคุณวิกรม กรมดิษฐ์ กรรมการผู้จัดการและกรรมการกลุ่มบริษัทอมตะ ทำให้ดูน่าเชื่อถือ เมื่อผู้เสียหายสนใจ ก็จะให้ Add Line แล้ว แล้วอ้างตัวเป็นโบรกเกอร์ พูดคุยชวนเปิดพอร์ตลงทุนระยะสั้น ได้ผลตอบแทนสูง จนผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินเข้าบัญชีม้า ซึ่งช่วงแรกก็ได้รับเงินปันผลจริง แต่พอผ่านไป 2-3 ครั้ง เมื่อลงทุนด้วยวงเงินมากขึ้น ก็จะไม่สามารถติดต่อได้อีก หรือถ้าต้องการจะถอนเงินลงทุนและเงินปันผลออกมา คนร้ายก็จะอ้างว่าต้องโอนเงินเข้าไปเพิ่มก่อน เป็นค่าธรรมเนียม

ทั้งนี้ มีผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความ 185 คน รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 25.9 ล้านบาท จากการสืบสวนสอบสวน พบผู้ที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดจำนวนหลายราย จึงขออนุมัติศาลออกหมายจับ ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและนำข้อมูลส่วนบุคคลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้ขยายผลจับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว 9 ราย ซึ่งมีความเชื่อมโยงในการกระทำความผิดในรูปแบบเดียวกันหลายคดี / นอกจากนี้ มีผู้ต้องหาที่ที่หลบหนีออกนอกประเทศ อยู่ระหว่างการติดตามตัวอีก 2 ราย / ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานและขอศาลอนุมัติออกหมายจับ 

ขณะที่ นายวิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจอมตะ เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทอมตะ มีนโยบายการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เพียงเท่านั้น คนที่ขายก็ต้องเป็นโบรกเกอร์ ที่ได้รับการรับรองตามกฏหมายและได้รับการรับรองโดยตลาดหลักทรัพย์ และผลตอบแทนไม่ได้สูงเท่ากับที่กลุ่มมิจฉาชีพโฆษณา ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นทางบริษัทก็เสียหายด้วยเช่นกันและไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมฝากถึงนักลงทุนว่าหากจะลงทุนผ่านบริษัทใด ให้ติดต่อไปยังบริษัทนั้นโดยตรงเพื่อสอบถามก่อน

ตัวแทนผู้เสียหายรายหนึ่ง ได้เปิดเผยว่า หลังจากที่ตนแอดไลน์ไป จะมีคนทักมาแนะนำตัวว่าเป็นเลขาของผู้บริหารบริษัทฯ และแนะนำว่า ให้เริ่มต้นลงทุนแค่ 1 พันบาท และจะได้เงินตอบแทนสูงถึง 3 % ภายใน 1 สัปดาห์ แต่ผ่านไปไม่กี่วัน ก็ทักกลับมาว่าได้เงินปันผลแล้ว แต่ยังไม่สามารถถอนได้ เพราะยอดฝากยังไม่ถึง ขอให้โอนเงินเพิ่มมาอีก 3 พันบาท พอโอนเพิ่มไปเรื่อยๆ มิจฉาชีพก็จะบอกว่า ต้องโอนเพิ่มให้ถึงหลักแสนถึงจะถอนเงินได้ จึงทำให้ตนรู้ว่าถูกหลอกแล้ว จึงเข้าแจ้งความในเวลาต่อมา ทั้งนี้ ในตอนแรกตนก็ยังถามไปว่าหุ้นตัวนี้มีอยู่ในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว ทำไมต้องมาเล่นทางนี้ มิจฉาชีพก็บอกว่าเป็นตัวใหม่ ลงทุนระยะสั้นได้ผลตอบแทนสูง ซึ่งตนเล่นหุ้นมานานกว่า 15 ปี มั่นใจว่ามีความรู้และเชี่ยวชาญในระดับหนึ่งยังตกเป็นเหยื่อได้ เพราะลักษณะการพูดคุยของมิจฉาชีพกลุ่มนี้ค่อนข้างดูมีความรู้เกี่ยวกับการเทรดหุ้น ซึ่งตนคิดว่ามิจฉาชีพอาจจะเคยเป็นโบรกเกอร์มาก่อน