นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)เปิดเผยว่า ในเดือนมิถุนายน 2566 ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ปิดที่ 1,503.10 จุด ปรับลดลง 2.0% จากเดือนก่อนหน้า และปรับลดลง 9.9% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า โดยปรับไปในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นใน ASEAN

โดยในเดือนมิถุนายน 2566 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 8,617 ล้านบาทอย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 แต่ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวดีขึ้นหลังการเมืองในประเทศเริ่มมีความชัดเจน จากการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา และหากพิจารณาจากอัตราส่วน Forward PE ของ SET ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ทำให้ผู้ลงทุนบุคคลและสถาบันในประเทศเริ่มกลับมาซื้อสุทธิในครึ่งแรกปี 2566 รวมทั้งในเดือนมิถุนายน 2566 ธนาคารโลก (World Bank) คาดเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะเติบโตขึ้นที่ร้อยละ 3.9 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศและการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนในตลาดหุ้นไทยปรับลดลงจากต้นปี 2566 จากกรณีมีหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียนบางแห่งผิดนัดชำระหนี้ ส่งผลให้ผู้ลงทุนมีความกังวลในการลงทุนทั้งในตลาดตราสารทุน และตราสารหนี้ จึงเห็นแรงเทขายในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก

โดยในช่วงครึ่งปีแรก นักลงทุนมีความสนใจในสินทรัพย์เสี่ยงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นเติบโตและกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่อีกทั้งหุ้นกู้ High Yield ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นกู้โดยรวมสะท้อนมุมมองผู้ลงทุนที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจในจีน ทั้งตัวเลขการส่งออก และการอุปโภคบริโภคต่ำกว่าคาดการณ์ ทำให้ธนาคารจีนต้องลดอัตราดอกบี้ยนโยบายลงและอาจเห็นสัญญาณจากรัฐบาลจีนออกมาตรการกระตุ้นในภาคการคลังขนาดใหญ่เพื่อพยุงเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งอาจส่งผลบวกต่อบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับอานิสงส์จากที่มีการค้าขายกับจีนมาก รวมถึงภาคการท่องเที่ยว

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งปีหลังมีปัจจัยกดดันจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง และมีโอกาสจะปรับขึ้นอีก แต่จะกระทบกับตลาดหุ้นไทยไม่มากเท่าในช่วงครึ่งปีแรกส่งผลให้สภาพคล่องจะไม่ลดลงหรือเพิ่มขึ้นไปมากเท่าไรนัก รวมทั้งการส่งออกของไทยที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ จากการที่เศรษฐกิจทั่วโลกซบเซา รวมทั้งปัญหาจากความไม่แน่นอน เช่น ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ยังไม่ชัดเจน แต่ไม่ได้มีแนวโน้มที่รุนแรงไปกว่าเดิม ส่งผลดีกับเศรษฐกิจต่อเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศ

ทั้งนี้ช่วงครึ่งปีหลังโดยเฉพาะไตรมาส 4 เป็นช่วงที่ดีที่สุดในการทำธุรกิจต่างๆของประเทศไทย นอกจากนี้เรื่องการเมืองในประเทศ ทุกความเคลื่อนไหวในการจัดตั้งรัฐบาลเป็นประโยชน์กับการลงทุนเพราะจะทำให้เห็นนโยบายที่ชัดเจนมากขึ้น

สำหรับในเดือนมิถุนายนปี 2566 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มการเงิน กลุ่มบริการ และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค

-เดือนมิถุนายน 2566 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 47,893 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 33.2% โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน 6 เดือนแรกปี 2566 อยู่ที่ 58,670 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิเป็นเดือนที่ 5            

-เดือนมิถุนายน 2566 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ.บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค (BLC) และใน mai 2 หลักทรัพย์ได้แก่ บมจ.ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น (TBN) และ บมจ.ไทยพาร์เซิล (TPL)  

-Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ระดับ 16.0 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.8 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 20.6 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.2 เท่า

-อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ระดับ 3.22% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.38%

-ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ในเดือนมิถุนายน 2566 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 608,801 สัญญา เพิ่มขึ้น 21.4% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของ SET50 Index Futures และ Single Stock Futures และในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน  558,565 สัญญา ลดลง 2.2% จากปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures