เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2566 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.) ให้สัมภาษณ์ถึงท่าที่ของ 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาล ต่อการโหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ว่า โดยปกติพรรคที่เป็นฝ่ายตั้งรัฐบาลจะมีวิปของสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นจะมีการประชุมวิปของทั้ง 8 พรรค ในส่วนของการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น เนื่องจากเป็นการประชุมร่วมรัฐสภา ก็จะมีวิปของ ส.ส.และ ส.ว.หารือกันในวันที่ 11 กรกฎาคมนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ท่าทีของ 8 พรรคร่วม คือการเสนอชื่อนายพิธาเพียงชื่อเดียวในการโหวตครั้งแรกใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า 8 พรรคได้ประกาศตามเอ็มโอยูว่าจะเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อถามอีกว่า มีการมองว่าหากนายพิธา ไม่สามารถโหวตผ่านได้ในรอบแรก ก็ไม่ควรมีการเสนอชื่อเป็นรอบที่สอง เหมือนกรณีการโหวตบุคคลในองค์กรอิสระ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า อย่างที่ประธานสภาฯ ได้พูดไว้ ว่าไม่มีกฎหมายบัญญัติในเรื่องดังกล่าวไว้ ตัวอย่างเช่นการเลือกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีการเลือก 4- 6 ครั้ง ยังเป็นคนเดิมอยู่ก็ต้องส่งชื่อไป เพราะกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ เช่นเดียวกับการเลือกนายกฯ แต่ในหลักการประชาธิปไตย มีหลักการเคารพเสียงข้างมาก เช่นรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าหากมีการร่วมกันก็ต้องใช้เสียงข้างมากเป็นสำคัญ ดังนั้นเสียงข้างมากในการบริหารประเทศจะต้องเป็นของ ส.ส. จึงเห็นว่าถ้า ส.ส.มีมติเลือกใครขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ในส่วนของ ส.ว.ก็ควรให้ความเห็นชอบ คล้ายกับความเห็นชอบขององค์กรอิสระ และหาก ส.ว.เข้าใจว่า ส.ส.จะต้องไปบริหารประเทศ
"เสียงส่วนใหญ่ ส.ว.หลายคนได้ออกมาส่งสัญญาณแล้วว่าคงไม่เลือกรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะเป็นการส่อเจตนาว่าไม่ต้องการให้เป็นประชาธิปไตย เพราะ ส.ว.ไม่ได้บริหารบ้านเมือง เมื่อครบกำหนดตามบทเฉพาะกาล 5 ปี ส.ว.ก็จะมีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย และการเลือกนายกรัฐมนตรีมีเรื่องจริยธรรม ของ ส.ส.และ ส.ว.อยู่แล้ว เช่น ฝั่ง ส.ส.จะเลือกด้านความรู้ ด้านความสามารถ และด้านจริยธรรม หากเอานโยบายของพรรคที่ไปหาเสียงและประชาชนให้การยอมรับเอามาเป็นเรื่องจริยธรรมจะไม่ถูกต้อง เพราะเรื่องนโยบายต้องให้ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยเป็นผู้เลือก ซึ่งผมเชื่อว่าในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพราะ ส.ว.หลายคนได้ออกมาส่งสัญญาณแล้ว" พ.ต.อ.ทวี กล่าว
เมื่อถามว่า มองว่าชื่อนายพิธาจะโหวตผ่านในรอบแรกเลยหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การเลือกนายกฯ ไม่ใช่ใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ แต่ต้องเลือกตามจริยธรรมในการเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งสำคัญของแต่ละองค์กรอยู่แล้ว จริยธรรมในส่วนของ ส.ส.คือเลือกตามความรู้ ความสามารถ และมาตรฐานคุณธรรม และเมื่อเจ้าของอำนาจอธิปไตยเป็นผู้เลือกมาแล้ว นั่นคือพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และพรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งได้คะแนนเสียงสูงสุด รวมทั้งพรรคอื่นๆ ดังนั้นการใช้ดุลยพินิจต้องอยู่ในครรลอง ไม่ใช่ตามอำเภอใจ
เมื่อถามว่า มีความเชื่อมั่นในเสียงของ ส.ว.หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ส.ว.เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย เราก็เคารพ ตนไม่ได้เป็นผู้ไปประสานกับ ส.ว.ว่าจะเป็นอย่างไร เรื่องนี้ต้องถามพรรค ก.ก.