สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ …*…
สุดท้ายก็ “บัวแล้งน้ำ” ในที่สุดไม่เพียงพรรคก้าวไกลต้องสูญเสียเก้าอี้ประธานสภาฯให้กับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติตามแรงกดดันจากพรรคเพื่อไทยเท่านั้น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลก็มีโอกาสน้อยมากกับการได้นั่งเก้าอี้นายกฯคนที่ 30 จากจุดยืนกรณีมาตรา 112 …*…
ส่วนที่นายพิธาตีปลาหน้าไซระบุว่าเป็นเรื่องน่ากังวลถ้าไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.เพราะปมมาตรา 112 เนื่องด้วยเป็นการนำเสียงประชาชนทั้งหมดที่เลือกพรรคก้าวไกลมาปะทะกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรงนั้น มีมุมมองจาก รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ไม่ต่างกับเป็นการขู่ว่า หาก ส.ว.ไม่โหวตให้นายพิธา ก็จะเกิดเรื่องวุ่นวายในบ้านเมือง …*…
พร้อมกันนี้ รศ.หริรักษ์ยังชี้ด้วยว่าความจริงผู้ที่นำประชาชนบางกลุ่มมาปะทะกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ใช่ส.ว. แต่เป็นขบวนการที่ป้อนข้อมูลเพื่อสร้างความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งก็ไม่ทราบว่านายพิธาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการนั้นหรือไม่ แต่ไม่ใช่ ส.ว.แน่ๆ และหาก ส.ว.จะไม่โหวตให้นายพิธา ก็เป็นสิทธิของส.ว. เพราะต่างมาตามรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันและเป็นหน้าที่ของส.ว.ที่จะพิจารณาเลือกคนที่เหมาะสมที่สุด ปราศจากข้อสงสัยในเรื่องจริยธรรม …*…
“ที่อ้างว่าการแก้ไขมาตรา 112 ก็เพื่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนตามการเปลี่ยนผ่านของประเทศที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นด้วยประการทั้งปวง เนื่องจากการแก้ไขมาตรา 112 ตามร่างของพรรคก้าวไกล เป็นการเปิดทางให้ใครก็ได้สามารถดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ได้โดยอาจไม่ต้องรับโทษใดๆ เพราะไม่มีโทษขั้นต่ำ หรืออาจเพียงเสียค่าปรับเท่านั้น การแยกมาตรา 112 ออกจากหมวดความมั่นคง เท่ากับบอกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่มีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศแต่อย่างใด”อดีตรองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ระบุพร้อมกับย้ำว่า การที่พรรคก้าวไกลมีความพยายามอย่างไม่ลดละที่ยกเลิก หรือแก้ไขมาตรา 112 ให้ได้ ไม่สามารถมีคำอธิบายเป็นอื่นได้ นอกจากเป็นความพยายามที่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อ่อนแอลง อันเป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำไปสู่การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในแบบที่ต้องการ ดังนั้น หาก.สว.คนใดไม่โหวตให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะไม่ต้องการให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ก็เป็นการตัดสินใจที่ไม่มีใครจะมาตำหนิได้ และเป็นการตัดสินใจที่ชอบด้วยเหตุผลด้วยประการทั้งปวง …*…
และทำไม เพราะอะไร ถึงมีคนจำนวนไม่น้อยไม่ประสงค์ให้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลนั้น เชื่อว่าเป็นเพราะมีความคิดสอดคล้องกับเหตุผลที่ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้สรุปไว้ นั่นคือไม่ไว้ใจพฤติกรรมของพรรคก้าวไกลตลอดหลายปีที่ผ่านมา ที่แสดงออกสนับสนุนให้ท้ายกลุ่มการเมืองที่ไม่ได้เคลื่อนไหวอย่างสันติ ต่อเติมความแตกแยกในสังคม และเชื่อว่าบ้านเมืองสามารถพัฒนาสู่ความทันสมัยตามกาลเวลา โดยไม่ต้องทำลายคุณค่าแห่งความเป็นไทย และสิ่งดีๆ มากมายที่เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมของชาติ ขณะที่ไม่เชื่อว่าการส่งเสริมเสรีภาพอย่างแทบไร้ขอบเขต จะสามารถสร้างสังคมที่ดีกว่าเดิมได้ …*…
สำหรับผู้ที่เป็นกังวลว่าจะมีการประท้วงวุ่นวายจนกลายเป็นวิกฤติครั้งใหญ่ ถ้านายพิธาไม่ได้เป็นนายกฯ และพรรคก้าวไกลต้องกลับไปรับบทฝ่ายค้านอีกสมัยนั้น หากมองอีกด้านหนึ่งก็ต้องบอกว่าน่าถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องตัดสินใจร่วมกันว่า อยากเห็นประเทศนี้ใช้อะไรเป็นหลักยึด ระหว่าง “กฎหมาย” หรือ “กฎหมู่” …*…
ที่มา:เจ้าพระยา (6/7/66)