เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 3 ก.ค. 2566 ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดเวที "อนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง" เนื่องในโอกาสครบรอบ 26 ปี สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยนายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ปาฐกถาพิเศษเรื่อง ทิศทางการเมืองไทยในบริบทการเมืองโลกตอนหนึ่งว่า สถานการณ์เวทีโลกขณะนี้อยู่ในวิกฤติถาวรที่กำลังถูกดิสรัปชั่นจากปัจจัยก่อให้เกิดความผันผวนใหญ่ในเวทีโลกที่มาจาก 1.การสิ้นสุดของสงครามเย็นในปี1991 และระเบียบโลกใหม่ 2.การก่อการร้ายกับสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2001 3. การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่หรือสงครามเย็นใหม่ 4.การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และ 5.สงครามรัสเซีย-ยูเครนในปี 2022 

ปัจจุบันโลกขับเคลื่อนด้วยการเปลี่ยนแปลงจากการ ดิสรัปชั่น ส่งผลต่อการจัดระเบียบระหว่างประเทศที่วางอยู่บน 3 เสาหลักคือ กฎและกติการะหว่างประเทศ บรรทัดฐานระหว่างประเทศและระบอบระหว่างประเทศ ซึ่ง 3 เสาถูกกระทบจากความผันผวน เพราะระเบียบของโลกเป็นแบบเสรีนิยม ที่ตั้งอยู่บนข้อกำหนด 4 เรื่อง 1. มีแบบแผนเป็นระเบียบเสรีนิยม ซึ่งขัดแย้งกัยคุณค่าอำนาจนิยม 2. คุณค่าหลังทั้งเรื่องประชาธิปไตย เสรีภาพ นิติรัฐ สิทธิมนุษยชน การค้าเสรีและความร่วมมือระหว่างประเทศแบบพหุภาคีเช่นการทำรัฐประหารในไทย  3. ยอมรับถึงการดำรงอยู่ของเอกราช และอธิปไตยแห่งรัฐ และ 4. ไม่ยอมรับต่อการใช้กำลังเป็นเครื่องมือในการปรับเส้นเขตแดนของรัฐ

สำหรับวิกฤติสงครามยูเครนที่เกิดขึ้นทำให้เกิด 8 วิกฤติคือ วิกฤติสงครามใหญ่ วิกฤตินิวเคลียร์ วิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติค่าครองชีพ วิกฤติพลังงาน วิกฤติอาหาร วิกฤติปุ๋ย วิกฤติผู้อพยพในยุโรป ซึ่งทั้ง 8 วิกฤติส่งผลต่อสงครามและระเบียบระหว่างประเทศ และแนวโน้มสงครามยูเครนจะยังอยู่ถึงปีหน้า ซึ่งจะเป็นสงครามระเบียบระหว่างประเทศ และแนวโน้มสงครามก็จะยังมีอยู่ เพราะ 1.สงครามรบติดพันต่อเนื่องและไม่มีจุดแตกหัก 2.ยังไม่เห็นสันติภาพที่ปลายอุโมงค์ 3. การกำหนดอนาคตของยูเครนยังไม่มีความชัดเจนรวมปัญหาไครเมียและดอนบาส 4. เอกภาพของเนโต้ และเพิ่มขีดความสามารถทางทหารของชาติภาคี5.รัสเซียถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นและมีสถานะเป็นรัฐพึ่งพาจีน

6.จีนมีท่าทีต่อต้านตะวันตก และให้การสนับสนุนรัสเซีย ทำให้ยุโรปหวาดระแวง 7.การหันไปพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อการพึ่งตนเองของสหภาพยุโรป เพื่อแก้ปัญหาสงครามพลังงานของรัสเซีย 8.สหประชาชาติยังไม่สามารถผลักดันให้เกิดสันติภาพได้จริ 9.การเตรียมการรุกกลับของยูเครน(counteroffensive และการยกระดับสงคราม 10. การฟื้นฟูยูเครนจะเป็นปัญหาสำคัญของการเมืองโลกในอนาคต และการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจใหญ่

ทั้งนี้ยังมีสงครามที่มีผลกระทบชีวิตกับคนทั่วโลก เป็นจุดร้อนในการเมืองโลก อีก 12 สงครามประกอบด้วย 1.สงครามรัสเซีย -ยูเครน 2.สงครามยูเครนขยายเข้าสู่มอลโดวา 3.สงครามขยายไปโปแลนด์4.สงครามยุโรป (เนโต้ ( + สหรัฐ) vs รัสเซีย ( + เบลารุส) 5.สงครามข้ามชองแคบใต้หวัน (วิกฤตช่องแคบไต้หวัน) 6. สงครามอินโด -แปซิฟิก [ จีน VS สหรัฐ ( +ญี่ปุ่น +เกาหลีใต้+ไต้หวัน) ] 7. สงครามบนคาบสมุทรเกาหลี 8. สงครามในทะเลจีนใต้ 9. สงครามชายแดนจีน-อินเดีย 10. สงครามตะวันออกกลาง 11. สงครามในแอฟริกาและ 12. สงครามนิวเคลียร์ 

สำหรับประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโลก 1.สงครามเย็นในศตวรรษที่ 21 และผลกระทบต่อความมั่นคงไทย 2.ปัญหาบทบาทและสถานะของรัฐไทยในเวทีสากล 3.วิกฤตเศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย 4.ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งปัญหาสงครามก่อความไม่สงบ ปัญหาการบริหารพื้นที่ / การกระจายอำนาจ ปัญหาการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินและปัญหาความเชื่อมั่นต่อรัฐ

5. สถานะของกองทัพในสังคมไทย ทั้งปัญหาการจัดความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร ปัญหาบทบาทของทหารในการเมืองไทย ปัญหาภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถื และปัญหาการปฏิรูปกองทัพ

6.ความแตกแยกและความเห็นต่างทางการเมืองในสังคม จากสงครามความคิด สงครามความเชื่อ และสงครามความศรัทธา 7. ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ (climate change) ที่เห็นได้ชัดคือปัญหาภัยแล้ง 

8.ปัญหาความมั่นคงของมนุษย์และการฟื้นฟูสังคมไทยในยุคหลังโควิด 9.ปัญหาการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของไทยที่ชำรุดมาเป็นระยะ แล้วใครจะมาซ่อม แล้วจะซ่อมอย่างไร 10 .การสร้างขีดความสามารถของรัฐและสังคมในการรับมือกับ (lobal Disruption ในอนาคต

“ทางออกของไทยคือเราจะเดินไปตามกระแสโลก หากโลกไปอย่างไรเราก็จะไปตามนั้น เลิกคิดว่าเราเป็นกลาง แต่เป็นกลางแบบฟรุ๊งฟริ๊งในบ้านเรา โจทย์ใหญ่รัฐบาลต่อไปทั้งเรื่องยูเครน และเรื่อมเมียนมาการไม่โหวต ไม่ออกเสียงใน UN เท่ากับถูกมองว่าเราโน้มตามจีนได้ ซึ่งการไม่แสดงความเห็นในเรื่องเหล่านี้ในเวทีโลกทำให้เราถูกกดดันมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ”  นายสุรชาติ กล่าว