การลดต้นทุน การผลิตข้าวขั้นตอนระหว่างการปลูกข้าวถือเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่เกษตรกรต้องให้ความสำคัญและใส่ใจเป็นอย่างมาก มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกข้าวที่ถูกต้อง เข้มงวดในการตรวจตัดพันธุ์ปนเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งขั้นตอนระหว่างการปลูกข้าว ต้องเริ่มตั้งแต่การจัดการน้ำที่เหมาะสม จะช่วยให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพและประหยัดน้ำได้มาก รวมไปถึงวิธีการปลูก
ยังเป็นขั้นตอนที่สำคัญ มีการปลูกถูกต้อง ถูกรูปแบบ เหมาะสมกับพื้นที่จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในปัจจัยอื่น ๆ ได้อีกด้วย โดยเริ่มต้นจากการไถ การไถดะและการไถแปรจะช่วยให้ดินมีคุณภาพมากขึ้น
นายสฤษดิ์ พูนสังข์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา กล่าวว่า ในส่วนของขั้นตอนการไถ จะต้องไถดะเพื่อกำจัดวัชพืชและตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 2-4 อาทิตย์ ขั้นตอนต่อมาก็คือการไถแปรและหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าว ถ้าหากเกษตรกรสามารถทำได้ตามขั้นตอนดังกล่าว ก็จะช่วยลดวัชพืชที่เกิดขึ้นใหม่ได้ด้วย ทำให้เมล็ดพันธุ์มีคุณภาพ ต้นข้าวงอกสม่ำเสมอ ระยะห่างของแถวและต้นทิ้งช่วงดี ทำให้ต้นข้าวสัมผัสกับอากาศและแสงแดดได้ อากาศถ่ายเทลดการเกิดโรคและแมลง ทำให้ประหยัดการใช้สารเคมียิ่งขึ้น
“ขั้นตอนที่สำคัญและถือว่าเป็นหัวใจในกระบวนการผลิตข้าว คือ การตรวจตัดสินคุณภาพแปลงและการประเมินแปลงก่อนที่จะรับซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อไปปรับปรุงสภาพ และผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวจำหน่ายให้เกษตรกรที่สนใจต่อไป ซึ่งวิธีการในขั้นตอนการตรวจตัดสินคุณภาพ ทางศูนย์ฯจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจตัดสินคุณภาพแปลงอย่างเป็นทางการ ดำเนินการลงตรวจแปลงของเกษตรกรครบ 100% โดยการครอบท่อ PVC ใน 1 ตารางเมตร สุ่มตรวจ 5 จุดต่อ 1 แปลง นับจำนวนต้น จำนวนรวง และจดบันทึก หากเจอข้าวพันธุ์อื่นหรือข้าวแดงปนจะมีการตรวจเช็คว่าผ่านมาตรฐานหรือไม่ ขั้นตอนนี้ก็จะเป็นวิธีการที่สำคัญ” นายสฤษดิ์ กล่าว
ในส่วนของขั้นตอนการเก็บเกี่ยว เกษตรกรก็สามารถลดต้นทุนได้ด้วย โดยมีเคล็ดลับที่สำคัญคือ เกษตรกรควรเก็บเกี่ยวข้าวระยะพลับพลึง เพราะเมล็ดข้าวในช่วงนี้จะมีความแข็งแรง มีน้ำหนัก มีคุณภาพในการสี นอกจากนี้รถเกี่ยวข้าวควรมีมาตรฐานอีกด้วย รวมไปถึงการทำบัญชีเพื่อบันทึกต้นทุน กำไร ในการผลิต นอกจากนี้ด้านการตลาดก็ถือเป็นอีกช่องทางที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมาได้ดำเนินงานมาโดยตลอด มีหน้าที่รับผิดชอบเป็นตัวกลางระหว่างเกษตรกรและองค์กรต่าง ๆ ให้มีการแลกเปลี่ยน เพิ่มโอกาสในการซื้อ-ขายสินค้า จัดหาตลาดที่หลากหลายและกว้างขึ้น ทั้งนี้เกษตรกรสามารถมีอำนาจต่อรองในราคาได้มากกว่าเดิม