วันที่ 2 ก.ค.66 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร 2566” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-29 มิถุนายน 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับประธานสภาผู้แทนราษฎร 2566 การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อลักษณะของผู้ที่จะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 76.72 ระบุว่า สามารถทำงานให้กับทุกพรรคการเมืองด้วยความเป็นกลางได้ , รองลงมา ร้อยละ 28.63 ระบุว่า มีประสบการณ์ทำงานในฐานะ ส.ส. หลายสมัย , ร้อยละ 26.34 ระบุว่า ต้องจบกฎหมาย , ร้อยละ 24.89 ระบุว่า ต้องเป็นที่ยอมรับของ ส.ส. , ร้อยละ 16.41 ระบุว่า ต้องมาจากพรรคที่จะเป็นรัฐบาลเท่านั้น , ร้อยละ 15.95 ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องมาจากพรรคเดียวกันกับนายกรัฐมนตรี , ร้อยละ 15.65 ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องมาจากพรรคอันดับหนึ่งในสภาก็ได้

ร้อยละ 14.05 ระบุว่า มาจากพรรคที่จะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ได้ , ร้อยละ 13.36 ระบุว่า ต้องมาจากพรรคอันดับหนึ่ง ในสภาเท่านั้น , ร้อยละ 13.05 ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ทำงานในฐานะ ส.ส. หลายสมัย , ร้อยละ 10.92 ระบุว่า ไม่จำเป็นต้อง จบกฎหมาย , ร้อยละ 7.10 ระบุว่า ต้องมาจากพรรคเดียวกันกับนายกรัฐมนตรี , ร้อยละ 6.56 ระบุว่า เป็น ส.ส. คนไหนก็ได้ , ร้อยละ 2.90 ระบุว่า สามารถผลักดันร่างกฎหมายของพรรคการเมืองที่ตนเองสังกัดได้ และร้อยละ 0.46 ระบุว่า ต้องมาจากพรรคที่จะเป็นฝ่ายค้านเท่านั้น

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการตัดสินใจของ ส.ส. ในการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 52.44 ระบุว่า ส.ส. ควรมีการตกลงกันภายในพรรคของตนเองก่อนลงคะแนนเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร , รองลงมา ร้อยละ 47.10 ระบุว่า ควรปล่อยให้ ส.ส. ใช้อิสระในการลงคะแนนเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และร้อยละ 0.46 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ