ปัจจุบันชาวนาไทยต้องประสบปัญหาต้นทุนการผลิตข้าวสูง ผลกระทบมาจากหลายปัจจัย เช่น สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย พื้นที่นาไม่สม่ำเสมอทำให้การจัดการน้ำ การควบคุมวัชพืชไม่มีประสิทธิภาพ กรมการข้าว โดยศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี ได้มีการผลักดันให้ชาวนาใช้เทคโนโลยีในการลดต้นทุน คือ การปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Leveling) เทคโนโลยีนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในการเตรียมดินและการปรับระดับหน้าดินอย่างแม่นยํา ทำให้ชาวนาสามารถลดต้นทุนการผลิตที่ไม่กระทบต่อสภาพแวดล้อมได้
นางวรรณลภัทร จันลาภา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ราคาผลิตข้าวสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตข้าวที่สูงขึ้น ทำให้รายได้และความมั่นคงทางอาชีพของเกษตรกรลดลง กรมการข้าวได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงได้สร้างการตระหนักรู้ให้แก่เกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิตข้าว ทางศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรีจึงได้ผลักดันชุดเทคโนโลยีลดต้นทุนการผลิตข้าว คือ การปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Leveling) แก่พี่น้องเกษตรกรและสามารถนำไปปรับใช้กับพื้นที่นาของตนเองได้
เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เล่าว่า ได้รับความอนุเคราะห์จากศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี โดยการนำรถมาปรับสภาพ พื้นที่ให้เป็นครั้งแรก เพื่อลดต้นทุนการผลิต คือการใช้น้ำน้อยเป็นหลัก และปรับพื้นที่นาให้มีการใช้น้ำไม่เกินระดับ 5 ซม. และเมื่อพื้นที่นาเรียบ จะมีการทดลองและเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างก่อน-หลัง นอกจากนี้กลุ่มยังได้รับเครื่องมือ อุปกรณ์จากศูนย์วิจัยข้าวฯนั่นก็คือ “ระบบเลเซอร์” มาทดลองปรับพื้นที่นาในแปลงเพื่อนําร่องให้กลุ่มเกษตรกรและขยายผลไปสู่กลุ่มเกษตรกรในบริเวณใกล้เคียง สำหรับผลลัพธ์คาดว่าดีกว่าเดิม เพราะสามารถประหยัดน้ำได้ อย่างเช่น พื้นที่นา 8 ไร่ วิดน้ำประมาณครึ่งวัน 5-6 ชั่วโมง แต่ถ้าพื้นที่นาเรียบ มีความสม่ำเสมอ จะสามารถวิดน้ำได้ประมาณ 3-4 ชั่วโมง ทำให้ประหยัดเวลา ประหยัดแรงงานและค่าใช้จ่ายส่วนต่าง ๆ
“การถ่ายทอดเทคโนโลยีการปรับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ให้แก่สมาชิกแปลงใหญ่ ศูนย์ข้าวชุมชนในพื้นที่อําเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ในครั้งนนี้ มีการปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ ซึ่งสำคัญต่อการผลิตข้าวเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่การจัดการน้ำ การควบคุมวัชพืช รวมไปถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้ต่าง ๆ ให้เกษตรกร จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ลดต้นทุนการผลิตได้อย่างแน่นอน” นางวรรณลภัทร กล่าวเสริม
ทั้งนี้ หากเกษตรกรท่านใดสนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี หรือ โทร. 0-3727-1232