เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 28 มิ.ย. 66 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเสรี สุวรรณภานนท์ รองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมือง วุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวภายหลังการเข้าหารือ พร้อมคณะกมธ.การพัฒนาการเมืองฯ กับ นายอิทธิพร บุญประคองประธานกกต. นายแสวง บุญมีเลขาธิการกกต. พร้อมคณะกกต. โดยได้มีการมอบหลักฐานการถือครองหุ้นสื่อ ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล โดยหลักฐานเอกสารมีสองส่วนจากการตรวจสอบของ กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ และจากการที่นายนพรุจ วรชิตกุล อดีตแกนนำพิราบขาว 2006 ที่นำไปมอบให้เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีการขอความร่วมมือให้ กกต. เร่งตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ และส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัย ก่อนที่จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ว่า เนื่องจากเคยได้นัดกันไว้ ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งแล้ว แต่ติดภารกิจ โดยในวันนี้มาพูดคุยในเรื่องที่เรากำลังพิจารณารวบรวมประเด็นปัญหาการทำงานของกกต. เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่สุจริต และเที่ยงธรรม เพื่อให้การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ และครั้งต่อๆ ไป เป็นแนวทางในการการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น

ในส่วนของนายพิธา เราได้นำข้อมูลที่ปรากฏตามสื่อส่วนหนึ่ง และยังมีส่วนที่ยังไม่ชัดเจน และเป็นเอกสารที่เราขอจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง และยังไม่ปรากฏในสื่อสาธารณะ ส่งมอบเป็นหนังสือ และหลักฐานให้กกต.ด้วย เพื่อประกอบในการพิจารณา 

โดยข้อมูลเพิ่มเติมที่ได้ส่งมอบนั้น คือส่วนที่ปรากฏในคดีความที่ยื่นร้องจัดการมรดกเดิม และส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกทั้งทรัพย์สิน และที่ดินในมรดก ซึ่งได้มีการจัดการ และถูกโอนไปก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ปี 60 แล้ว เพื่อเทียบให้เห็นว่าการจัดการมรดกไม่ใช่ การค้างคา หรือยังไม่เสร็จ แต่เป็นการจัดการมรดกเสร็จไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งเทียบให้เห็นได้ว่าการถือหุ้นสื่อไอทีวีที่มีให้เห็นในปัจจุบันนี้ เป็นการถือหุ้นโดยฐานะทายาท ฐานะผู้จัดการมรดก หรือในฐานะที่ได้รับมรดกมาแล้ว  จึงส่งหลักฐานเพื่อเทียบเคียงให้เห็นชัดเจน

ทั้งนี้ ได้มีข้อเสนอแนะให้กกต. ไปว่าในอำนาจหน้าที่ของกกต. ขอให้กกต.ทำหน้าที่ให้ปรากฏ และหากสามารถทำในส่วนใดได้โดยเร็ว ก็ขอให้ใช้อำนาจหน้าที่ ดุลพินิจดำเนินการให้เสร็จ เพื่อจะได้แก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม รวมถึงข้อถกเถียงในทางการเมืองยุติโดยเร็ว 

สำหรับระยะเวลาในการพิจารณา นายเสรีกล่าวว่า มีสองส่วน คือส่วนที่สามารถทำไปก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีการประกาศรับรองส.ส.ได้ ซึ่งกกต.ก็ได้สืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง และดำเนินคดี ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 อีกส่วนนึงคือ หลังจากที่ได้ประกาศรับรองส.ส.แล้ว ต้องดูว่ามีส่วนไหนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกกต. หรือความปรากฎกับกกต.อย่างไร ซึ่งกกต.คงใช้อำนาจหน้าที่ในช่วงนี้