เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 27 มิ.ย. 66 ที่อาคารรัฐสภา นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมือง วุฒิสภา และนายสมชาย แสวงการ ประธานกมธ. สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค (ส.ว.) เรื่อง ขอให้ ส.ว. ร่วมลงชื่อร้องเรียน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกฯพรรคก้าวไกล กรณีถือหุ้นสื่อไอทีวี ซึ่งอาจขัดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 (3) และกรณีโอนหุ้นให้กับบุคคลอื่นหลังวันเลือกตั้ง อาจเข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3)
โดยนายนพรุจ กล่าวว่า ตนมาขอความช่วยเหลือจากส.ว.ทั้งหลาย ตนมีความรู้สึกอัดอั้นใจ หากมีการเสนอชื่อที่เป็นปัญหาขึ้นไปยังเบื้องบน ในกรณีที่แคนดิเดตนายกฯ มีปัญหาคาราคาซัง ยังไม่สิ้นกระแสความ โดยขณะนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ยังคงดำเนินการอยู่ ตนอยากให้แคนดิเดตนายกฯ บริสุทธิ์ เดินเข้าสภาฯ อย่างสง่าผ่าเผย ไม่มีข้อครหาใดๆ แต่เนื่องจากที่ผ่านมา พวกตนได้ยื่นเรื่องและปรากฎความต่อหน้ากกต. มาโดยต่อเนื่อง เราเป็นอดีตผู้สมัครส.ส.ที่เคารพกฎหมาย แต่ปรากฏว่ามีเพื่อนพ้องน้องพี่เรา ที่เข้าข่ายในกรณีถือหุ้นสื่อถูกตัดสิทธิ์ ถูกดำเนินคดีความส่งศาลฎีกานักการเมือง โดยที่ไม่สามารถทักท้วงใดๆ แม้แต่มีหุ้นเดียว มูลค่า 5 บาทก็ถูกตัดสิทธ์ ในกรณีที่เข้าองค์ประกอบความผิด ฉะนั้น 1.ในกรณีของนายพิธา ตนยืนยันว่า 1 ใน 3 ของ 42,000 หุ้น ถือแน่นอน14,000 หุ้น
2.ตามที่ปรากฏในสื่อโดยตลอดว่า บริษัทไอทีวียังดำเนินกิจการอยู่ ยังไม่เลิกกิจการ แค่มีปัญหาข้อพิพาทกับสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี (สปน.) ที่กำลังต่อสู้อยู่ และกำลังจะชนะ ฉะนั้น ความพยามฟื้นไอทีวีกลับมาเป็นสื่อสาธารณะเหมือนเดิม ไม่ว่าจะด้วยกระบวนการใดก็ตาม แต่คณะกรรมการบริหารก็ยังยืนยันว่ายังไม่เลิกกิจการ ดังนั้นองค์ประกอบของการถือหุ้นสื่อก็ยังอยู่ ส่วนที่เหลือจะแม่ หรือน้องชายให้ดูแลนั้น ให้เป็นการตกลงภายใน แล้วไปบอกศาล
“เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ถือหุ้นสื่อที่โดนตัดสิทธิ์ทุกคน ตนจึงขอกราบเรียนท่านส.ว.ทั้ง 250 คน รวมถึงส.ส.ที่เพิ่งไปรับการรับรอง ทั้ง 2 สภา เข้าชื่อกัน เร่งนำกราบเรียนประธานศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุด ก่อนที่จะมีการโหวตนายกรัฐมนตรี” นายนพรุจ กล่าว
ด้านนายเสรีกล่าวว่า ในวันที่ 27 มิ.ย. คณะกมธ. จะเข้าพบนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมคณะกกต. และสำนักงานเลขาธิการ กกต. ตามที่ได้นัดหมายไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อพูดคุย และรับฟังประเด็นของปัญหาอุปสรรคของการจัดการเลือกตั้งส.ส. เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา รวมถึงสอบถามถึงการดำเนินการของกกต. ในการไต่สวนกรณีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล กรณีที่รู้ตัวว่าขาดคุณแต่ยังยินยอมให้พรรคส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งส่อขัดกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 151 หรือไม่
นายเสรี กล่าวด้วยว่า ในการทำงานของ กมธ. นั้น ได้ตรวจสอบกรณีที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของนายพิธา ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวโยงกับการถือหุ้นไอทีวี ที่แม้ว่าล่าสุดนายพิธาจะโอนหุ้นดังกล่าวให้ทายาทไปแล้ว แต่จากการตรวจสอบของกมธ. ที่ได้รับเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกรณีครอบครองที่ดิน พบว่านายพิธา ในฐานะผู้จัดการมรดก ได้ดำเนินการโอนที่ดิน อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ให้กับตนเองในฐานะทายาทแล้ว ตั้งแต่ปี 2560 ดังนั้น แสดงว่านายพิธา ในฐานะผู้จัดการมรดก ได้จัดการแบ่งมรดกให้ทายาทแล้ว ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งอาจจะรวมถึงเรื่องหุ้นไอทีวีด้วยเช่นกัน และคงไม่ถือครอง โดยไม่ดำเนินการใดๆ มาถึง 17 ปี
“กรณีที่นายพิธา โอนหุ้นไอทีวีให้ทายาทไปเร็วๆ นี้ ไม่สามารถปฏิเสธพฤติกรรมของตนเองได้ เพราะเมื่อนำกรณีการโอนที่ดินปราณบุรีให้ตนเอง ในปี 2560 แสดงว่าการจัดการมรดกอื่นๆ ต้องจัดการไปแล้วเช่นกัน อีกทั้ง ในประเด็นเรื่องหุ้นไอทีวีนั้น นายพิธาได้ใส่ชื่อของตนเองมา ตั้งแต่ช่วงปี 2549-2550 เช่นกัน นอกจากนั้น ยังมีประเด็นคำพิพากษาของศาลฏีกา ที่ตัดสินว่ามรดกตกทอดถึงทายาททันทีที่เจ้าของทรัพย์มรดกกนั้นตาย ทำให้กรรมสิทธิในทรัพย์ ซึ่งหมายถึงมรดกนั้นตกสู่ทายาททันที” นายเสรี กล่าว
นายเสรี กล่าวถึงการพบกับกกต. ในเวลา 10.00 น. วันที่ 28 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ ด้วยว่า ตนจะนำเอกสารที่ได้ รวมถึงผลการตรวจสอบ มอบให้กับ กกต. ไปพิจารณาด้วยเช่นกัน