วันที่ 26 มิ.ย. 66 ที่ทำการพรรคประชาชาติ นายรอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมคณะทำงานย่อยสันติภาพชายแดนใต้ กล่าวถึงกรณีที่มีการแจ้งความดำเนินคดีต่อกลุ่มนักศึกษาขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ จากการจัดกิจกรรมทำแบบสอบถามประชามติแบ่งแยกดินแดน เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้มีการพูดคุยเรื่องนี้กับคณะทำงานฯ หรือไม่ ว่า มีการแชร์ความคิดเห็น การให้แง่มุมซึ่งกันและกัน ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เรามีการประเมินสถานการณ์กันอยู่เรื่อยๆ ภายใต้การนำของรัฐบาลพลเรือน สถานการณ์ที่เรากำลังเจอ ความยากลำบากที่เรากำลังเจอ ความกังขาที่ทุกคนกำลังเจอ กับการจัดงานของนักศึกษา เรากำลังคิดถึงภาวะผู้นำของรัฐบาลพลเรือนที่เคารพต่อหลักการประชาธิปไตย เคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เคารพต่อหลักการบูรณภาพแห่งดินแดน สิทธิในการกำหนดใจตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญของรัฐบาลไทย

นายรอมฎอน กล่าวต่อว่า ถ้าภายใต้การนำของรัฐบาลพลเรือน การฟ้องร้องในลักษณะนี้ ต้องถูกทบทวนอย่างหนักการทำกิจกรรมอย่างนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว มีกิจกรรม มีการสำรวจความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ บนพื้นฐานที่ว่า การเมืองที่แตกต่างกันเป็นเรื่องปกติ ในฐานะที่เราเป็นรัฐบาล และหน่วยงานความมั่นคง จำเป็นต้องรับฟัง มีการตั้งข้อสังเกตว่าถ้าเราฟังนักศึกษากิจกรรมเหล่านั้น อาจเห็นรากเหง้าของปัญหา ทำไมถึงมีปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ทำไมเยาวชนถึงมีกิจกรรมเหล่านั้นเกิดขึ้น แทนที่จะปิดปากเขาด้วยการฟ้องดำเนินคดี ถ้าเปิดใจกลับมาฟัง มองจากมุมของรัฐที่เคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถือเป็นโอกาสในการทำความเข้าใจความคิดเห็นที่แตกต่าง และโอกาสในการที่สังคมไทย ของ รัฐบาลไทยที่จะรับมือกับความคิดเห็นที่แตกต่างได้โดยสันติวิธี

“อย่าลืมว่าเยาวชนกลุ่มที่ทำกิจกรรมนี้ หากนับดูอายุคงไม่เกิน 20 ปี หรือ 20-21 ปี หมายความว่าเขาเติบโตมาท่ามกลางความขัดแย้ง ที่มีการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย ปัญหาคือ ถ้าไม่สามารถโอบรับโอบอุ้มเขา แม้ว่าจะมีความคิดเห็นที่ต่างกันขนาดไหน สังคมไทยไม่มีพื้นที่ให้กับคนมีความเห็นต่าง อนาคตของประเทศนี้จะอยู่อย่างไรภายใต้ความคิดที่ใจกว้าง เห็นโอกาสในการสร้างสันติภาพที่มากขึ้น ตกลงแล้วการกำหนดชะตากรรมของตัวเองเป็นอย่างไรกันแน่ มีโอกาสสำหรับสังคมไทยมากน้อยเพียงใด

ในทางวิชาการมีการถกเถียงกันมานาน ไม่ใช่แค่การแบ่งแยกดินแดนอย่างที่หลายคนเข้าใจ ยังมีทางเลือกอีกมาก แต่อยู่ที่ว่าเรามีวุฒิภาวะมากขนาดไหน ในการรับมือกับเหตุการณ์นี้ ยอมรับความแตกต่าง โอบกอดผู้คนที่มีความแตกต่างทางความเชื่อ ความคิด อุดมการณ์ และอัตลักษ์ในทางการเมืองอย่างไร และเชื่อว่ารัฐบาลพลเรือน ภายใต้การนำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและปคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล เราน่าจะเห็นโอกาสแบบนี้ในการโอบรับผู้คนไปด้วยกัน”

เมื่อถามว่า การแจ้งความของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำที่รีบเกินไปหรือไม่ นายรอมฎอน กล่าวว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าการแจ้งดำเนินคดีในช่วงเวลาสุญญากาศแบบนี้ เหมือนอยู่ระหว่างรัฐบาลเก่ายังไม่ไป รัฐบาลใหม่ยังไม่มา อาจเกิดความเคลือบแคลงใจต่อผู้มีอำนาจการตัดสินใจในการโหวต ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาแบบนี้ ตนเองไม่แน่ใจในฝั่งเจ้าหน้าที่ว่าทำอย่างไร แต่ถ้าไปถาม เจ้าหน้าที่คงตอบว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ และเชื่อว่าภายใต้การเมืองแบบนี้การนำโดยรัฐบาลพลเรือน ทิศทางใหม่ๆ สิ่งที่เคยเห็นในอดีตคุ้นเคย คงไม่คิดแบบนั้นอีกต่อไป

เมื่อถามต่อว่า จากกิจกรรมข้างต้น ในภาพโปรโมทมีนายรอมฎอนปรากฎอยู่ด้วย หากเข้าร่วมกิจกรรมนี้ จะถูกดำเนินคดีด้วยหรือไม่ นายรอมฎอน กล่าวว่า เป็นไปได้ เพราะมีการพูดชื่อตนอยู่แล้ว โดยถือเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเอง ทั้งข้อมูลของตัวตนเอง หรือคนที่เกี่ยวข้องมีอย่างจำกัด ทำให้เห็นว่าหน่วยงานของเรามีปัญหาในการประเมินสถานการณ์ หรือเข้าถึงแหล่งข่าว ตนเชื่อว่าการทำกิจกรรมทางวิชาการแบบนี้ ตนพร้อมแลกเปลี่ยนถกเถียงเพราะเชื่อว่าการนั่งลงถกเถียง ดีกว่าการใช้กำลัง ใช้อำนาจกฎหมาย และอาวุธ การถกเถียงด้วยวุฒิภาวะ เข้าใจความต้องการของตนเอง เป็นประโยชน์ และสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง 

“บางเรื่องยิ่งทำ ยิ่งสร้างความยุ่งยากในการแก้ไขปัญหาในอนาคต หากสรุปบทเรียนจากการแก้ไขปัญหาที่ใช้วิธีคิดแบบทหารนำ จะเจอปัญหาที่เป็นผลพวงมาจากมาตราการที่กราดเกรี้ยวต่อเนื่องเหล่านั้น เป็นมรดกมาถึงปัจจุบัน คือสิ่งที่ลำบากมากที่ชาวชายแดนภาคใต้ต้องเจออยู่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องการภาวะการนำ และทิศทางแบบใหม่เพราะใช้กรอบคิดแบบเดิม โดยไม่ประเมินผลในระยะยาวไม่ได้แล้ว ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็บอกแล้วว่า ปัญหามี่ผ่านมาต้องการแนวคิดใหม่ในการแก้ไขปัญหา” นายรอมฎอน กล่าว