เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.66 นางอธิษฐาน์ คงทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กชื่อ Apple Kongsup ต่อกรณี “น้องหยก” ว่า
“เราคิดว่าประเด็นของน้องหยก เขาไม่ได้อยากย้ายโรงเรียนนะ การย้ายโรงเรียนไม่ว่าจะไปที่ไหนๆ ไม่ได้จบปัญหานี้ เพราะกฎเดิมในระบบกระแสหลักไม่เปลี่ยนแปลง (จะยังคงมีนักเรียนอีกหลายคนที่ถูกทำโทษเรื่องการแต่งกาย ถูกทำให้อับอายหรือกดดัน) และประเด็นจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องการแต่งกายหรือทรงผมด้วย (อย่าหลงประเด็นกันนะพวกเรา)
มันคือเรื่องของการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อเรียกร้องกติกาที่เป็นธรรมกับนักเรียนทุกคน (ถ้าเขาแค่อยากแต่งไปรเวทไปเรียนเพื่อตัวเอง มันมีทางเลือกอื่นๆ ให้เขาทำได้โดยไม่ต้องเปลืองตัว ไม่ต้องถูกสังคมรุมประนามตัดสินได้อีกมากมาย)
เราคิดว่าน้องเขากำลังใช้การฝ่าฝืนกฎการแต่งกายเป็นเครื่องมือการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ ในทางสันติวิธีเรียกว่า “อารยะขัดขืน” คือต่อสู้แบบดื้อเพ่งเพื่อต่อต้านกฎหมายหรือกติกาที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้สังคมและผู้มีอำนาจหันมาฟัง หันมารับรู้และถกเถียงกันถึงความผิดปกติที่ซ่อนอยู่ภายใต้กติกากฎระเบียบที่คนส่วนใหญ่คิดว่ามันปกติ และเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อร่วมกันสร้างกติกาใหม่ที่เป็นธรรมยิ่งกว่าเดิม (มีคนบอกว่าหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้หยกตัดสินใจออกมาเรียกร้อง คือข่าวที่น้องนักเรียนคนหนึ่งฆ่าตัวตายเพราะถูกบังคับให้ตัดผม)
แทนที่จะชี้นิ้วโทษเด็กอายุ 15 แล้วไล่เขาไปโรงเรียนอื่น หรือมาสั่งมากดดันให้โรงเรียนอื่นรับน้องเข้ามา (เรายังงงๆ ว่าคนพวกนี้เขามีอำนาจอะไรที่มาสั่งให้โรงเรียนอื่นรับหรือไม่รับใคร ไหนบอกตัวเองเคารพกฎกติกาโรงเรียน??) ทำไมเราไม่เอะใจกับปัญหา แล้วหันมามองว่ามันมีความเป็นไปได้อื่นๆ อะไรได้อีกบ้าง ที่จะช่วยให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาที่ดี มีส่วนร่วมในการทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนได้จริงๆ
ท่าทีของน้องอาจจะดูแข็งกร้าวจี๊ดดใจ ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนปั่นป่วน เขย่าโลกแห่งความดีงามและความเชื่อว่าเด็กต้องเคารพและเชื่อฟังผู้ใหญ่ หลายคนมีความกลัวที่จินตนาการไปไกลว่าต่อไปเด็กๆ ทุกคนจะลุกขึ้นมาเรียกร้องทำตามใจตนเองไม่เคารพสิทธิ์คนอื่นไม่เคารพกติกาสังคม ฯลฯ มีความกลัว+ความโกรธอีกมายมายที่ถูกกระตุ้นขึ้นมาจากเหตุการณ์นี้ และหลายสิ่งที่เรากลัวก็เป็นสิ่งที่เราคิดอนุมานเอาเองโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ดราม่าจึงบังเกิด
เราเคยคุยกับครูที่ตั้งใจทำงานในระบบโรงเรียนรัฐหลายคน ครูหลายคนก็อึดอัดใจและมีความอิหยังวะกับระเบียบราชการหรือธรรมเนียมปฏิบัติหลายอย่างที่ไม่ make sense และไม่เป็นธรรมกับครู (คือมันอาจจะดีในยุค 30-50 ปีก่อน แต่ตอนนี้มันอาจจะไม่ใช่แล้ว) แต่เขาก็ไม่กล้าพูดเพราะมันมีความเสี่ยงต่อหน้าที่การงานความมั่นคงหลายอย่างของชีวิต แต่สำหรับเด็กวัยรุ่นอย่างหยก เขากล้าที่จะแลกและไม่กลัวที่จะเสี่ยง (จำได้ว่าเราในวัยเท่าเขายังไม่กล้าขนาดนี้ ออกแนวเด็กดีเชื่องและเชื่อฟัง สมาทานกับสิ่งที่ผู้ใหญ่บอกว่าดีจงทำตาม คือวันๆ ในวัยนั้นคิดแต่จะไปถึงโรงเรียนทันไหม ส่งการบ้านทันไหม จะสอบผ่านไหม เพื่อนจะคิดยังไง ครูจะด่าไหม จะได้เกรดดีไหม ไม่เคยรู้เรื่องโครงสร้างสังคมเรื่องความเป็นธรรมอะไรเลย เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกพูดถึงหรือถูกตั้งคำถามในโรงเรียน)
ปล. นี่เพิ่งเรียนเรื่องทักษะวัฒนธรรมมาเขาชี้ให้เห็นอคติ/ความเชื่อของผู้คนว่ามันทำงานอัตโนมัติอย่างไร หลายครั้งคนคิดว่าสิ่งที่ตนคิดและอนุมานเอาคือ ความจริง +อคติที่มีอยู่เดิม (ทั้งด้านบวกด้านลบ) ทำให้ยิ่งปักใจเชื่อสุดๆ และตัวเราเองในฐานะคนทำงานต้องตระหนักรู้ตัว เราเองก็มีอคติไม่ต่างจากคนอื่นแต่ขอให้ทันตัวเอง อย่าปักใจเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองคิดถูกต้องที่สุด ก็ถือว่าได้ฝึกจิตฝึกใจ ฝึกวิชากับดราม่าของสังคมของจริงอ่ะเนอะ”