รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr โดยระบุว่า...
เมื่อสมัยผมเรียนหนังสือระดับมัธยมปลายที่สหรัฐอเมริกา โรงเรียนที่เรียนเป็นโรงเรียนประจำชื่อ Suffield Academy ตั้งอยู่ในเมืองเล็กๆชื่อ Suffield รัฐ Connecticut เป็นโรงเรียนเอกชน แม้ไม่มีเครื่องแบบ แต่ต้องแต่งตัวตามแบบที่โรงเรียนกำหนด เวลาเรียนในห้องเรียน และเวลาทานอาหารในโรงอาหารต้องใส่เสื้อ jacket ผูกเน็คไท กางเกงขายาวไม่ต้องสีเดียวกับเสื้อ วันอาทิตย์เข้าโบสถ์ ต้องใส่สูท ผูกเน็คไท และใส่เสื้อกั๊กใต้เสื้อสูทด้วย แต่ไม่บังคับให้ต้องตัดผมสั้น
นอกจากการแต่งตัวแล้ว ยังมีกฎระเบียบอีกมากมายที่ต้องปฏิบัติตาม เช่น เวลาทานอาหารต้องนั่งทานพร้อมกัน ทุกโต๊ะจะมีครูนั่งประจำโต๊ะ ตักอาหารส่งให้นักเรียนทุกคน เมื่อทุกคนได้รับอาหารแล้ว จึงจะเริ่มรับประทานได้ เป็นต้น
ที่เมือง Suffield ยังมีอีกโรงเรียนคือ Suffield High School เป็นโรงเรียนของรัฐ ไม่มีเครื่องแบบ นักเรียนจะแต่งตัวอย่างไรมาเรียนก็ได้ แต่นักเรียนทุกคนก็มีความเคารพในสถานที่พอที่จะไม่ถึงกับแต่งชุดนอน หรือชุดที่ไม่สุภาพไม่เหมาะสมมาเรียน
ผมส่งลูกชายไปเรียนระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนชื่อ St Peter's ประเทศ New Zealand ที่นี่บังคับให้แต่งเครื่องแบบตามที่โรงเรียนกำหนด เครื่องแบบในหน้าหนาวกับหน้าร้อนไม่เหมือนกัน ดูเหมือนนักเรียนทุกคนจะแต่งเครื่องแบบกันด้วยความเต็มใจและภาคภูมิใจ
จากประสบการณ์ของทั้งตัวผมและลูกชายเมื่อเรียนในระดับมัธยมปลายในต่างประเทศ ก็ไม่เคยได้เห็นนักเรียนคนไหนรู้สึกว่าถูกลิดรอนเสรีภาพ หรือถูกกดขี่เพราะการต้องแต่งเครื่องแบบแต่อย่างใด คงเนื่องเพราะทุกคนรู้สึกว่าตัวเองมีทางเลือกอื่น แต่ก็สมัครเข้าเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ด้วยความสมัครใจ ซึ่งทุกคนได้ทราบล่วงหน้าก่อนที่จะสมัครเข้าโรงเรียนแล้วว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่าไร
กรณีของหยก ผมไม่เชื่อว่าจะมีการวางแผนกันถึงขนาดที่ เลือกโรงเรียนเตรียมพัฒนาการ เนื่องจากเป็นโรงเรียนมีชื่อเสียง และอบรมบ่มเพาะหยกให้มีความเชื่ออย่างที่ต้องการ และกำหนดให้หยก ไปทำป่วนที่โรงเรียนเตรียมพัฒนการเพื่อผลทางการเมืองบางอย่าง
ที่ผมเชื่อคือ หยกเป็นผลผลิตของขบวนการป้อนชุดข้อมูล ชุดความคิด ชุดความเชื่อ ที่ออกแบบไว้ ให้คนรุ่นใหม่ผ่านทั้งทาง social media และผ่านครูที่เป็นผลผลิตของขบวนการเดียวกัน หากไม่มีขบวนการเช่นนี้ หยกคงไม่มีความเชื่ออย่างฝังใจว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงอนุมัติให้ทำรัฐประหารทุกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ความจริง
ผมเชื่อว่า หยก เมื่อเป็นผลผลิตของขบวนการนี้ จึงเข้าร่วมชุมนุมในม็อบ 3 นิ้วต่างๆ และเกิดความสนิทสนมกับกลุ่มทะลุวัง ได้ทำกิจกรรม และพูดคุยรับข้อมูลจากกลุ่มทะลุวัง ทำให้มีความเชื่อที่แนบแน่น ฝังใจว่า สถาบันพระมหากษัตริย์คือต้นกำเนิดของความเหลื่อมล้ำ ไม่มีประโยชน์ใดๆต่อประเทศชาติ ใช้จ่ายจากเงินภาษีของประชาชน เป็นการสิ้นเปลือง หากนำเงินงบประมาณไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อประชาชน ประเทศและสังคมจะดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ผู้ที่อยู่เบื้องหลังของขบวนการข้างต้นนี้ ไม่จำเป็นต้องสั่งการโดยตรงให้หยกไปทำสิ่งต่างๆที่หยกทำ แต่เมื่อมีคนอย่างหยก ที่ไม่เพียงมีความเชื่ออย่างเดียว แต่ต้องการมีบทบาทในทางปฏิบัติด้วย หรืออาจต้องการให้ตัวเองเป็นที่รู้จักในระดับประเทศด้วย ก็จะไปทำกิจกรรมต่างๆอย่างที่เราได้เห็นได้รู้ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเพียงให้การสนับสนุน สร้างข่าวให้คนรุ่นใหม่และคนที่ร่วมอุดมการณ์คล้อยตามว่า สิ่งที่หยกทำเป็นความถูกต้อง ผู้ใหญ่ไม่ว่าจะเป็น ศาล หรือ ฝ่ายบริหารของโรงเรียนเตรียมพัฒนาการ มีความคิดโบราณคร่ำครึ ไม่ให้โอกาสแก่เด็กที่มีความคิดก้าวหน้าอย่างหยก
เร็วๆนี้มีอีกกรณีคือ นักเรียนชั้นมัธยม 4 ตามข่าวบอกว่าชื่อ ข้าว เรียนอยู่ที่โรงเรียนเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงยิ่งกว่าโรงเรียนเตรียมพัฒนาการ แต่งชุดไปรเวทมาโรงเรียน และประกาศว่าต้องการสนับสนุนการต่อสู้ของหยก และต้องการแสดงว่าจะไม่ก้มหัวให้กับการลิดรอนเสรีภาพในการแต่งตัวของนักเรียน เป็นที่น่าสังเกตว่านักเรียนผู้นี้ได้รับอนุญาตให้เข้าเรียนได้ตามปกติ โดยไม่มีครูคนใดกล้าขัดขวางแต่อย่างใด แต่มีข่าววงในบอกว่า หลังจากวันนั้นนักเรียนคนนี้ไม่ได้มาโรงเรียนอีกตลอดสัปดาห์ ซึ่งมีเสียงซุบซิบที่ไม่มีการยืนยันว่า ผู้ปกครองไม่ยอมให้แต่งไปรเวทไปโรงเรียน ไม่ใช่โรงเรียนไม่ยอมให้เข้าโรงเรียนแต่อย่างใด
ผมเองไม่เคยคิดหรือเชื่อว่า โรงเรียนทุกโรงเรียนต้องมีเครื่องแบบ และก็ไม่เคยคิดว่าเครื่องแบบ หรือทรงผม มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนการสอน แต่ก็คิดว่า เป็นสิทธิของโรงเรียนแต่ละโรงเรียนที่จะกำหนดให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบมาโรงเรียน นักเรียนทุกคนทราบล่วงหน้าก่อนสมัตรเข้าเรียนอยู่แล้วว่าจะต้องแต่งเครื่องแบบหรือไม่ต้องแต่งเครื่องแบบ การสมัครใจเข้าเป็นนักเรียนก็เท่ากับยอมรับในเงื่อนไขต่างๆของโรงเรียนแล้ว ดังนั้นจึงเป็นการไม่เป็นธรรมต่อโรงเรียนที่นักเรียนคนใดคนหนึ่งเมื่อตอนสมัครเข้าเรียนไม่มีปฏิกิริยาใดๆ แต่เมื่อได้เข้าเป็นนักเรียนแล้ว กลับมาเรียนที่โรงเรียนโดยไม่ยอมแต่งเครื่องแบบ โดยอ้างว่าเป็นเสรีภาพ
อย่างไรก็ดี เสรีภาพที่นักเรียนต้องมีคือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เช่น การแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่ต้องแต่งเครื่องแบบ โดยอาจร่วมกันเรียกร้องให้โรงเรียนยกเลิกเครื่องแบบนักเรียนเสีย แต่นักเรียนยังคงต้องแต่งเครื่องแบบมาโรงเรียนอยู่ตราบใดที่ยังไม่มีการยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน และก็เป็นสิทธิของโรงเรียนที่จะยกเลิกหรือไม่ยกเลิกเครื่องแบบก็ได้ แต่หากโรงเรียนไม่ยกเลิกเครื่องแบบ แต่ยอมยกเว้นให้นักเรียนบางคนไม่ต้องแต่งเครื่องแบบนักเรียนมาเรียนก็ได้ในขณะที่นักเรียนคนอื่นๆยังแต่งเครืองแบบ อย่างนี้ต้องถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ เป็นสองมาตรฐาน เป็นสิ่งที่น่าประณามยิ่งกว่าการไม่ยอมให้นักเรียนที่ไม่แต่งเครื่องแบบเข้าเรียนเสียอีก
ในทางตรงข้าม หากโรงเรียนยอมตามข้อเรียกร้องของนักเรียน คือยกเลิกการแต่งเครื่องแบบ ก็ไม่ถือว่าเป็นการเสียหน้าแต่อย่างใด แต่กลับจะได้รับการยกย่องว่าเป็นโรงเรียนที่ฝ่ายบริหารมีความใจกว้าง ยอมรับฟังข้อเรียกร้องของนักเรียน และยอมปฏิบัติตาม
จากนี้ต่อไป อาจจะมึนักเรียนที่จะทำแบบหยกและข้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายบริหารของโรงเรียนต่างๆ ก็ควรจะต้องเตรียมรับมือ แต่ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร อยากขอร้องว่า อย่าได้ตื่นกลัวว่าจะถูกคนบางกลุ่มต่อว่า โจมตีหรือประณาม แต่ต้องยึดหลักการให้มั่น ฝ่ายบริหารของโรงเรียนมีทางเลือก 2 ทาง ทางที่ 1 คือ ไม่ยอมให้นักเรียนที่แต่งไปรเวทเข้าห้องเรียน ทางที่ 2 คือยอมยกเลิกการแต่งเครื่องแบบไปเลยทั้งหมด สังคมควรเคารพต่อการตัดสินใจของฝ่ายบริหารของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกที่ 1 หรือทางเลือกที่ 2 แต่โรงเรียนไม่ควรเลือกปฏิบัติโดยยอมให้นักเรียนที่ดื้อแพ่งบางคนสามารถทำในสิ่งที่ขัดต่อกฎระเบียบของโรงเรียนได้ ในขณะที่นักเรียนคนอื่นๆเขายังคงปฏิบัติตามกฎระเบียบอยู่อย่างเคร่งครัด
หากโรงเรียนใช้วิธีเลือกปฏิบัติ ก็อาจได้รับการยกย่องสรรเสริญจากกลุ่มคนบางกลุ่ม แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ของประเทศ เขาไม่เอาด้วยกับการปฏิบัติแบบนี้ของโรงเรียนอย่างแน่นอน