วันที่ 15 มิ.ย.66 นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายสำรวย อินพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว นายสุรพล สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานกาฬสินธุ์ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่เยี่ยมชมบ่อกุ้งและพบปะพูดคุยกับ นายสุรพล ภูขามคน ประธานกลุ่มเลี้ยงกุ้งก้ามกรามนาเชือก เพื่อสำรวจวิถีชีวิต การใช้น้ำชลประทานสำหรับเลี้ยงกุ้ง แนวทางการบริหารงานภายในกลุ่มฯ และรายได้ของเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงกุ้ง ซึ่งถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจของชาวกาฬสินธุ์ รวมถึงการทำการเกษตรที่ได้รับน้ำจากเขื่อนลำปาวเป็นหลัก ณ ที่ทำการกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงกุ้งก้ามกรามนาเชือก บ้านนาเชือก หมู่ที่ 2 ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ จากนั้น ได้ลงพื้นที่สำรวจบริเวณจุดต่างๆ ตามโครงการศึกษาการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว เพื่อพิจารณาความเหมาะสมก่อนการดำเนินการจริง

เขื่อนลำปาว เปิดใช้งานตั้งแต่ปี 2511 ผ่านการใช้งานมาเป็นเวลายาวนานกว่า 50 ปี ที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงแล้ว เพื่อเพิ่มความจุอ่างฯ ครั้งที่แรก เมื่อปี 2533 จาก 990 ล้าน ลบ.ม. เป็น 1,430 ล้าน ลบ.ม. และครั้งที่ 2 เมื่อปี 2554 จาก 1,430 ล้าน ลบ.ม. เป็น 1,980 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 306,963 ไร่ ปัจจุบันพบว่าเกษตรกรในพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงต้นฤดูทำนาปีและในช่วงฤดูแล้ง ส่วนช่วงฤดูฝนจะเกิดปัญหาน้ำล้นตลิ่งและไหลเข้าท่วมที่ราบลุ่มริมลำน้ำทั้งริมฝั่งลำปาวและบริเวณทึ่ลำปาวบรรจบกับแม่น้ำชี ประกอบกับความต้องการใช้น้ำที่เปลี่ยนแปลง อาทิ เกษตรกรหันไปนิยมการเลี้ยงกุ้งและการทำประมง เป็นต้น อีกทั้งระบบส่งน้ำมีสภาพชำรุดเสียหายตามระยะเวลาการใช้งาน รวมถึงขาดเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่ใช้ในการบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทาน จึงได้วางแนวทางในการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพปัจจุบันและความต้องการใช้น้ำในอนาคต อันจะส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สำหรับแนวทางในการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการฯ ประกอบไปด้วย การปรับปรุงซ่อมแซมหัวงานเขื่อนลำปาวและการปรับปรุงระบบชลประทานเดิม หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว บริเวณที่ราบลุ่มริมลำน้ำทั้งริมฝั่งลำปาว และบริเวณลำปาวบรรจบแม่น้ำชีได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภค การประปาส่วนภูมิภาค และอุตสาหกรรมขนาดเล็กในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ สามารถส่งน้ำและระบายน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในเขตโครงการฯ ครอบคลุมพื้นที่รับผลประโยชน์กว่า 306,963 ไร่

ทั้งนี้ รองวิทยาฯ ได้ร่วมหารือกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางเพิ่มรายได้จากการทำการเกษตรให้กับเกษตรกรในพื้นที่ อาทิ การปลูกพืชเพิ่มเติม หาตลาดรองรับผลผลิต เป็นต้น โดยได้เน้นย้ำให้ดูแลและพัฒนาพื้นที่การเกษตรที่มีอยู่เดิม ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ การบูรณาการร่วมกันกับทุกภาคส่วนในการยกระดับการทำงาน การวางกรอบและแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ รวมไปถึงการวางแผนและวิธีการก่อสร้าง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่