กรมชลฯ จับมือ World Bank เดินหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง มุ่งแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทั้งระบบ

วันที่ 22 มี.ค.67 ที่สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 10 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายอภิชาติ ชุมนุมมณี ผู้อำนวยการสํานักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ นายพงษ์ศักดิ์ เลียววงศ์วาน ผู้อํานวยการสํานักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 10 นายยุทธเขตต์ ยินดีทรัพย์ ผู้อํานวยการสํานักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ Ms. Manuela Ferro รองประธานธนาคารโลก ฝ่ายภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ดร.อรนุช เจตวัฒนา เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านโครงการ ธนาคารพัฒนาเอเชีย พร้อมคณะ ในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทย พร้อมร่วมรับฟังบรรยายสรุปภาพรวมโครงการบรรเทาอุทกภัยเจ้าพระยาตอนล่าง บางบาล - บางไทร พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ก่อนจะลงพื้นที่ไปเยี่ยมชมความก้าวหน้างานก่อสร้างโครงการระบายน้ำหลากบางบาล - บางไทร ตามลำดับ   

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ดำเนินการขับเคลื่อนแผนหลักการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน ที่จะสามารถบรรเทาปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย 

1.โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง 
2.โครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย  
3.โครงการคลองระบายน้ำควบคู่ถนนวงแหวนรอบที่ 3 
4.โครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก 
5.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา    

 
6.โครงการบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ 
7.โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร 
8. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน 
9.โครงการพื้นที่รับน้ำนอง 

โดยในส่วนของโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง กรมชลประทานมีเป้าหมายเพิ่มอัตราการระบายน้ำจาก 210 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อันประกอบด้วย การปรับปรุงโครงข่ายคลองชลประทานเดิมจำนวน 22 คลอง ความยาวรวม 462.80 กิโลเมตร ตลอดจนการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารชลประทานรวม 26 อาคาร ซึ่งหากโครงการต่างๆ แล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง เป็นแหล่งเก็บกักน้ำในคลองช่วงฤดูแล้งเพิ่มขึ้น 17ล้าน ลบ.ม./ปี อีกทั้งยังสามารถป้องกันและลดปัญหาพื้นที่น้ำท่วมได้ถึง 298,250 ไร่ 

สำหรับการร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ แสดงถึงความสำคัญของระบบโครงสร้างชลประทานเพื่อบรรเทาอุทกภัยที่มีต่อประเทศไทยและเศรษฐกิจของประเทศ และความร่วมมือกันระหว่างกรมชลประทานและธนาคารโลกในการบรรลุภารกิจดังกล่าว ทั้งนี้หากแผนงานโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะส่งผลประโยชน์ต่อสังคม จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความมั่นคงด้านน้ำ  รักษาระบบนิเวศน์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ ตลอดจนขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตลอดไป