วันที่ 15 มิถุนายน 2566 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ส่งหลักฐานเพิ่มเติมขอให้ คณะกรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นำไปตรวจสอบเพิ่มเติมกรณีตั้งกรรมการสืบสวนสอบสวน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ที่ถูกพิจารณาในคดีอาญา มาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561 รวมทั้งขอให้ กกต.ตรวจสอบตามแบบ ส.ส.4/20 ซึ่งเป็นหนังสือยินยอมให้เสนอชื่อลงสมัครเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ 4/30 หนังสือยินยอมให้เสนอชื่อรับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ว่าเข้าข่ายตามความในมาตรา 132 หรือไม่ ทั้งนี้ ได้มีการนำส่งทางไปรษณีย์ พร้อมสำเนาหน้าเฟซบุ๊กพรรคก้าวไกล ที่ได้โพสต์ข้อความหัวข้อ “คนโกงวงแตก ก้าวไกลชำแหละเพิ่มขบวนการปลุกผีไอทีวี” ที่มีเนื้อหากรณี นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงข่าวเปิดคลิปเสียงการประชุมผู้ถือหุ้นบริษัท itv จำกัด มหาชน และสำเนาแบบ ส.ส.4/20 และ 4/30

นายเรืองไกร กล่าวว่า ข้อความบางส่วนมีการกล่าวถึงตนแบบคลาดเคลื่อน ไม่ตรงตามความจริง ทั้งนี้ ขอย้ำว่าการเดินทางมายื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กกต.ที่ผ่านมาๆ ตนดำเนินการคนเดียวไม่ได้ร่วมกับผู้อื่น ส่วนกรณีที่นายชัยธวัช ระบุถึงกรณีที่ กกต.จะดำเนินการ 151 กับนายพิธาโดยไม่มีหลักฐานและน้ำหนักเพียงพอนั้น ตนเห็นว่าการดำเนินการของ กกต.ตามมาตรา 151 ควรหมายรวมถึงการกระทำตามแบบ ส.ส. 4/20 และ 4/30 จึงควรตรวจ สอบตามมาตรา 151 ให้ครบถ้วน เพราะตามหนังสือยินยอมให้เสนอชื่อรับสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และหนังสือยืนยอมให้เสนอชื่อแต่งตั้งเป็นนายกฯ ซึ่งนายพิธาจะต้องลงนามรองรับไว้แล้ว

นายเรืองไกร กล่าวว่า การส่งหนังสือนี้เป็นการส่งเพิ่มเติมตามมาตรา 151 หลังจากเมื่อไม่กี่วันก้าวไกลมีการโพสต์ข้อความกล่าวอ้างถึงตนต่างๆ ซึ่งยืนยันว่าทำคนเดียว ไม่ใช่พ่อมดหมอผี นอกจากส่งหลักฐานประกอบเพิ่มเติมแล้ว ยังอธิบายรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) จะต้องไม่ถือหุ้นสื่อ ซึ่งใช้บังคับครอบคลุมไปถึงองค์กรอื่นๆ ด้วย เช่น วุฒิสภา คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงกรรมการองค์กรอิสระ และองค์กรตามรัฐธรรมนูญต้องไม่ถือหุ้นสื่อ ส่วนที่พรรคก้าวไกลพยายามแก้ต่างว่าถือหุ้นเพียง 4.2 หมื่นหุ้น ตนก็ขอยกรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ให้เห็นว่าถ้ารัฐธรรมนูญจะกำหนดจำนวนหุ้น ก็จะต้องระบุว่าถ้ารัฐมนตรีจะถือหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วนในบริษัทห้างหุ้นส่วนจำกัดเกินกว่าร้อยละ 5 หากเกินนี้แต่ไม่แจ้งหรือฝากก็จะต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่หากเป็นการขัดกันหรือก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของสื่อก็จะเข้าตามมาตรา 184 วรรค 4

อีกทั้งการที่ กกต.จะดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ต้องดูในหนังสือยินยอมลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.และแคนดิเดต ว่าต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม โดยนายพิธา สมัคร 2 สถานะ ทั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และสมัครแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งตามแบบ ส.ส.4/20 และ ส.ส.4/30 มีข้อความเหมือนกัน โดยระบุว่าขอรับรองว่าข้าพเจ้า เป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ที่จะเป็นรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติของ รธน.ดังนั้น ตนจึงขอให้ กกต.ตรวจสอบประเด็นนี้เพิ่มเติมเข้าไปด้วย

เมื่อถามว่า ก้าวไกลมีการโต้แย้งว่าคุณสมบัติต้องห้าม ไม่ครอบคลุมถึงคุณสมบัติแคนดิเดตนายกฯ นายเรืองไกร กล่าวว่า ใครว่ามาอ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 89 วรรคสอง เป็นหรือไม่ ขอให้คนพูดไปอ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 89 วรรคสอง และ พ.ร.ป.ส.ส.มาตรา 14 วรรคสองด้วย

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลมีข้อสงสัยเกี่ยวกับรายงานงบการเงินไอทีวีปี 2565 ที่ยื่นต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีข้อความแตกต่างกัน เกี่ยวกับการทำกิจการสื่อและชี้พิรุธว่ารายงานงบฯ ที่ออกมาวันที่ 10 พ.ค.ตรงวันที่นายเรืองไกรนำมายื่นร้องนายพิธา ต่อ กกต.จึงถูกโยงว่าเป็นหนึ่งในขบวนการปลุกผีไอทีวีนั้น นายเรืองไกร กล่าวว่า ตนให้ข่าวเรื่องหุ้นว่าจะมายื่น กกต.ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.แล้ว ว่าจะมายื่น กกต.ในวันที่ 10 พ.ค.ซึ่งตนอยากให้ไปดูเฟซบุ๊กส่วนตัวของนายพิธา ที่โพสต์ข้อความชี้แจงในวันเดียวกันกับที่ตนแจ้งสื่อว่าจะยื่นร้องเรียน คือวันที่ 9 พ.ค.โดยนายพิธาโพสต์ว่าเป็นเจตนาสกัดพรรคก้าวไกล เพราะพรรคกำลังทลายทุนผูกขาด ซึ่งไม่มีข้อความใดที่เขียนว่ามีการปลุกผีไอทีวี

ส่วนกรณีที่มองว่ารายงานงบฯที่ส่งกลต.และกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีพิรุธ ก็เรียกให้สอบได้ แต่ตนไม่ได้ดูเอกสารฉบับนี้ของ กลต.และตนสงสัยว่าในเมื่อไอทีวีถูกถอดออกจากตลาดหลักทรัพย์แล้ว เหตุใดยังต้องยื่นรายงานงบฯ ต่อ กลต.ด้วย ซึ่งนายพิธาก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กในวันที่ 6 มิ.ย.ว่าบริษัทไอทีวีถูกถอดออกจากตลาดหลักทรัพย์แล้ว