กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เร่งผลักดันผู้ประกอบการสินค้าสุขภาพ และออแกนิค เพื่อสอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน เพื่อให้สินค้ากลุ่มสุขภาพของไทยได้ขยายโอกาสในการเข้าถึงสู่กลุ่มเป้าหมายในระดับนานาชาติได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามแผนของ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่มุ่งเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมและเครื่องดื่ม ควบคู่กับการพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบโจทย์และชิงความได้เปรียบในตลาดสากล
การเกิดวิกฤติโควิด 19 ที่ผ่านมา ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลก โดยผู้คนส่วนใหญ่มีความตระหนักในเรื่องสุขภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น กลุ่มสินค้าที่ได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา จึงได้แก่กลุ่มสินค้าสุขภาพและสินค้าออแกนิค ทั้งนี้ ในมุมของประเทศไทย สินค้าเพื่อสุขภาพได้กลายมาเป็นที่ต้องการอย่างมากเช่นกัน ส่งผลให้มีผู้ประกอบการจำนวนมาก ได้ริเริ่มพัฒนาสินค้าเพื่อสุขภาพและสินค้าออแกนิคเพื่อตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าว ประกอบกับพื้นที่ประเทศไทยเองที่เป็นแหล่งรวมวัตถุดิบและทรัพยากรที่ดีต่อสุขภาพ อาทิ ข้าว ธัญพืช ผักผลไม้ ตลอดจนสมุนไพร ต่างๆ ส่งผลให้สินค้าออแกนิคของไทยสามารถชิงความได้เปรียบในตลาดโลกได้ทั้งในเรื่องของคุณภาพ และราคา และเข้ามามีบทบาทอย่างมากในตลาดระดับสากล
ทั้งนี้ผู้ประกอบการสินค้าด้านสุขภาพของไทยต่างมีความตื่นตัว และได้ยกระดับสินค้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมจนได้สินค้าที่โดดเด่นทั้งในเรื่องของคุณภาพ บรรจุภัณฑ์ ตลอดจนความแปลกใหม่ที่สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน โดยมีตัวอย่างผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จได้แก่ พนิต เตชะพงศ์ธาดา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ All Rite ผลิตภัณฑ์ข้าวและธัญพืชออแกนิคอบกรอบ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการสรรหาสิ่งที่ดีต่อสุขภาพของคนในครอบครัว สู่การเป็นผู้นำนวัตกรรมการแปรูปข้าวและธัญพืชให้กลายเป็นของว่างที่ดีต่อสุขภาพสำหรับกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย โดยใช้วัตถุดิบจากแหล่งเพาะปลูกออแกนิคแบบ 100% ทำให้ All Rite ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 50 อันดับของสินค้านวัตกรรมดีเด่นจากงาน Thaifex ในปี 2017 โดยปัจจุบัน All rite มีกลุ่มลูกค้าทั้งในไทยและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และมีการส่งออกไปยังหลากหลายภูมิภาคทั่วโลก เป็นการยกระดับข้าวไทยสู่เวทีโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา All Rite ได้รับการสนับสนุนจาก DITP ทั้งในการแนะนำ จัดอบรม และเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการจนจบทุกขั้นตอน ประกอบไปด้วย 1. องค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการส่งออกสินค้าเพื่อจัดจำหน่ายระหว่างประเทศ 2. เปิดให้มีการเจรจาธุรกิจ (Business Matching) แบบ B2B (Business to Business) ในพื้นที่ของ DITP และ 3. ช่วยเพิ่มเครือข่ายทางธุรกิจ โดยได้พันธมิตรในต่างประเทศจากเครือข่ายของ DITP ในการขยายตลาดได้โดยตรง”
อีกหนึ่งผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จได้แก่ ปรินดา ตั้งพิรุฬห์ธรรม ผู้ก่อตั้ง Chama Farm (ฉมาฟาร์ม) ผู้ผลิตสมุนไพรออแกนิคแปรรูป Chama Herbs ซึ่งมีเป้าหมายของการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์และสารอาหารจากผลผลิตของฟาร์มอย่างครบถ้วนที่สุด พร้อมสร้างวัฎจักร “จากต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ ที่ครบวงจรเรื่องสมุนไพร” ทำให้ปัจจุบัน Chama Herbs ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากกลุ่มลูกค้าทั้งไทยและต่างประเทศ และมีการจัดจำหน่ายสู่โรงแรมที่มีเครือข่ายชั้นนำหลากหลายเครือ ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ฉมาฟาร์ม ได้รับการส่งเสริมจาก DITP ทั้งในด้านการฝึกอบรมและให้ความรู้ นอกจากนั้น ยังได้เชิญให้ร่วมออกบูธโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกหลายครั้ง รวมทั้งงานออร์แกนิก เอ็กซ์โป ทำให้ได้มีโอกาสต่อยอดการจัดจำหน่ายกับตลาดทั่วโลก
ทั้งนี้ ยังมีนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพแห่งอนาคตหรือ Future Food ที่ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ประสบความสำเร็จอย่างมาก ดังตัวอย่างของ M Health PSV 2021 โดย ศุภลักษณ์ บัณฑิตกุล ผู้พัฒนานวัตกรรมสารอาหารใหม่ในรูปแบบเม็ดบุก (Edible Platform) เพื่อให้ผู้บริโภคลดความเสี่ยงต่อโรค และความเจ็บป่วยจากการปนเปื้อนที่ได้รับจากแหล่งต่างๆใน ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ในคอนเซปท์ Fit & Fun Food for Future โดย M Health PSV 2021 ได้เริ่มเข้ามาเป็นสมาชิกของ DITP ช่วงปีที่แล้ว โดยได้รับข้อมูล คำแนะนำ และเครือข่ายของหน่วยงานที่น่าสนใจ รวมถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการจัดงานแสดงสินค้า ซึ่งเดิมเคยเป็นแบรนด์ที่เน้นทำการตลาดเฉพาะในประเทศ โดยที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปร่วมงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2023 ซึ่งยิ่งทำให้ได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติที่ต้องการเป็นคู่ค้าทางธุรกิจเป็นจำนวนมาก ทั้งอเมริกา แอฟริกา จีน มองโกเลีย และเวียดนาม เนื่องจากต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นนวัตกรรมไปจัดจำหน่าย
จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในด้านการปรับตัวเป็นอย่างมาก ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พร้อมที่จะส่งเสริมและผลักดันพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารของไทยในหลากหลายแนวทาง เพื่อให้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มไทยกลับมาเฟื่องฟูหลังเศรษฐกิจกลับมาพลิกฟื้นอีกครั้งอีกหลังการสิ้นสุดของสถานการณ์ โควิด-19 ทั่วโลก
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมของกรม สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th หรือ สายด่วนการค้าระหว่างประเทศ 1169