เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 มิ.ย.66 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เข้ายื่นหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณากรณี กกต.ตั้งคณะกรรมการไต่สวนเอาผิดนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ฐานรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 151 พระราชบัญญัติ​ประกอบ​รัฐธรรมนูญ​ (พ.ร.ป.)​ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากถือหุ้นสื่อโดยเป็นคำชี้แจงของนายพิธา ที่โพสต์บนเฟสบุ๊คส่วนตัวต่อกรณีดังกล่าว และรายงานการโอนหุ้นไอทีวีของนายพิธาไปยังนายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด หรือน้องชาย เมื่อวันที่ 25 พ.ค.66 สำเนาหมายเหตุประกอบงบการเงิน ของบริษัทไอทีวี เมื่อวันที่ 31 มี.ค.66

นายเรืองไกร กล่าวว่า เห็นว่าการตั้งคณะกรรมการไต่สวนตามมาตรา 151 ของ กกต. ควรจะมีการพิจารณาหลักฐานเหล่านี้ ทั้งการชี้แจงของนายพิธาผ่านเฟสบุ๊คซึ่งต้องให้ความเป็นธรรม หรือการที่นายพิธา จำไม่ได้ว่าโอนหุ้นเมื่อไหร่ซึ่งตนพบว่ามีการโอนหุ้นในวันที่ 25 พ.ค. 66 จึงนำหลักฐานมายื่นต่อกกต. และหมายเหตุประกอบงบการเงินไตรมาส1 ฉบับวันที่ 31 มี.ค. ซึ่งมีการระบุชัดว่าวันที่ 24 ก.พ. 66  มีการทำธุรกิจสื่อ โดยมีการระบุว่าจะรับรู้รายได้ไตรมาส 2 ซึ่งธุรกิจสื่อตรงนี้เป็นงานบริการ ต้องมีการส่งมอบก่อนจึงจะรับรู้รายได้ ทำให้มีการระบุว่าจะรับรู้รายได้ในไตรมาส 2

“ที่กำลังถกเถียงกันในขณะนี้เกี่ยวกับรายงานการประชุมไม่ตรงกับคลิปวิดีโออัดไว้และมีการเผยแพร่ออกมาไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร เพราะต่อให้บันทึกไม่ตรง หรือไม่มีการถาม หรือมีการถามมากกว่านี้ก็ไม่ได้ทำให้ข้อกฎหมายของรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงไป หรือข้อเท็จจริงที่นำมาร้องเปลี่ยนไป เพราะกฎหมายกำหนดว่า ผู้จะลงสมัครส.ส.ต้องไม่ถือหุ้นสื่อ ผมก็มีหลักฐานเป็นใบ บอจ. 6 ที่ปรากฏชื่อนายพิธาถือหุ้น และยังพบว่ามีการเปลี่ยนที่อยู่ถึง 3 ครั้ง ในฐานะที่ท่านเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น จะอ้างว่าไม่ทราบรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ที่จะส่งให้กับผู้ถือหุ้นทุกครั้ง ก็เป็นเรื่องของท่าน หรือจะแก้ว่าถือในนามใครก็เป็นสิทธิของนายพิธา” นายเรืองไกร กล่าว

 

นอกจากนี้ กฎหมายกำหนดถึงหุ้นที่มีลักษณะต้องห้าม ตรงนี้ไม่ต้องเรียนกฎหมาย ก็อ่านแปลความหมายออก กฎหมายเขียนว่าห้ามไม่ให้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใด สิ่งที่จะนำมาตอบประเด็นนี้คือเมื่อดูวัตถุประสงค์ของบริษัทไม่พบว่ามีการเป็นคู่สัญญากับรัฐ แต่ระบุวัตถุประสงค์ทำกิจการสื่ออยู่ประมาณ 4-5 ข้อซึ่งหลังถูกบอกเลิกสัญญากับสำนักปลัดสำนักงานนายกรัฐมนตรี (สปน.)  วัตถุประสงค์ในการทำสื่อของบริษัทยังคงมีอยู่ โดยดูได้ในรายงานการประชุม ผู้ถือหุ้นตั้งแต่ปี 59-61 มีการระบุเรื่องการมองหา เป้าหมายในการจะเป็นผู้ประกอบกิจการเทเลคอมมีเดีย และเทคโนโลยีอยู่แล้ว จนมาถึงรายงานตามงบการเงินไตรมาส 1 วันที่ 24 ก.พ.ระบุชัดว่าบริษัทมีการดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับสื่อ

"ที่บอกว่าผมไปสมคบทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วมาร้องในวันที่ 10 พ.ค. 66 อยากถามว่าวันนั้นยังไม่มีใครรู้เลยว่าพรรคก้าวไกลจะได้คะแนนกลับมาขนาดนี้ และถ้าไปดูในรายงานตั้งแต่ปี 59 เป็นต้นมา คนถือหุ้นต้องเห็น มันระบุชัดว่าเขามีแผนที่จะทำสื่ออยู่ตลอด และตอนนั้นก็ไม่มีใครรู้ว่านายพิธาถือหุ้นอยู่ ทำไมแล้วนายพิธาถือหุ้นไอทีวีตั้งแต่ปี 59 แต่หลังเลือกตั้งปี 62 ทำไมไม่แจ้งการถือหุ้นนี้ต่อ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)​ ทันที ทำไมถึงต้องมาแจ้งในภายหลัง เพราะต้องการไม่ให้มีการตรวจสอบใช่หรือไม่ 

วันนี้การยื่นบัญชีทรพย์สินของส.ส.ที่พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 66 ผมก็อยากขอเรียกร้องในฐานะที่ท่านพูดเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ก็ขอให้มีการนำข้อมูลขึ้นเว็บไซต์เลย มีเงินฝากเท่าไหร่ เงินลงทุนเท่าไหร่ การค้ำประกันหนี้ส่วนต่างมีจำนวนเท่าใดทรัพย์ที่อ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกมีอะไรบ้าง และนอกจากหุ้นไอทีวี ยังมีหุ้นตัวอื่นด้วยและได้มีการยื่นต่อป.ป.ช.หรือไม่ ซึ่งผมไม่เชื่อว่าจะมีแค่หุ้น น่าจะมีทรัพย์สินอย่างอื่นด้วย" 

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อบริษัทมีแผนทำสื่อมาตั้งแต่ปี 59 ทำไมเพิ่งมาทำธุรกิจสื่อใน 24 ก.พ. 66 ซึ่งกำลังจะมีการจัดให้มีการเลือกตั้ง นายเรืองไกร กล่าวว่า ตนไม่สงสัยเพราะเขามีแผนมาตั้งแต่ปี 60 แล้วและต้องไปถามไอทีวี ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีการยุบสภา และยังไม่รู้ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง แลนด์สไลด์ มีใครคิดจะสกัดหรือ ส่วนที่มองว่ามีขบวนการให้ลงสื่อ 2-3 ครั้ง เพื่อให้ไอทีวีถูกฟื้นเป็นสื่อหวังเล่นงานนายพิธากับพรรคก้าวไกล ก็ขอให้เอาข้อมูลตรงนี้ไปชี้แจงต่อกกต. มาชี้แจงตรงนี้ไม่มีประโยชน์อะไร  

เมื่อถามว่า มีคนมองว่ามีขบวนการปลุกผีไอทีวีเพื่อมาเล่นงานนายพิธา  เรื่องนี้นายเรืองไกร กล่าวว่า ตนหน้าตาเหมือนพ่อมดหมอผีอย่างนั้นหรือ ยืนยันว่าทำคนเดียว และทำในห้องนอนด้วย และคิดว่าเมื่อมีหน้าที่ร้อง อะไรที่เป็นประโยชน์ตนก็มาร้อง เอามาส่ง แต่ตนจะไม่ไปชี้นำสังคมก่อนที่เจ้าหน้าที่ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะพิจารณาตัดสิน ไม่เช่นนั้นเราจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบไว้ทำไม และที่กล่าวหาว่าตนรับไม้ต่อมาจากนักการเมือง ก็ให้ไปหาไม้ท่อนนั้นให้เจอกันแล้วค่อยมากล่าวหา วันหนึ่งตนจะชี้ให้ดูว่าทำไมเป็นเพื่อนนักการเมือง เพราะวันนี้ยังไปขุดกันอยู่เรื่องเงินในบัญชี 25 ล้าน เรื่องรถหรู ซึ่งต้องบอกว่าตนรวย เงิน 25 ล้านบาท จิ๊บๆ ไปดูป.ป.ช.ตั้งแต่ 2551 ก็จะรู้ ตนรู้ว่าสังคมมองคนในแง่ร้าย มีอคติ ทั้งนี้ขอให้สู้กันตามระบบ ท่านมาจากการเลือกตั้งก็สู้กันในระบบ ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและกฎหมายใด หรือฉันทามติเขียนว่าถ้าท่านชนะการเลือกตั้งแล้วห้ามถูกตรวจสอบ

“ส่วนที่มีมีทนายความไปแจ้งความนั้น ผมไม่สน และไม่ให้ความเห็น คันๆ นิดหน่อย ใครจะไปแจ้งความไม่สน คนแจ้งเป็นทนาย ระวังด้วยว่าแจ้งความเท็จจะเป็นอย่างไร ผมไม่เคยเอาของเท็จมาร้อง ไม่เคยหิวแสงด้วย เวลาร้องก็มาเนื้อๆ จะเตะสกัดผมก็หาวิธีให้ดีกว่านี้หน่อย” นายเรืองไกร กล่าว และว่า หลังกกต.ประกาศรับรองให้นายพิธาเป็นส.ส.แล้ว วันรุ่งขึ้นจะมายื่นกกต. ให้ดำเนินการกับนายพิธาตามมาตรา 82 ต่อไป