เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 9 มิ.ย. 66 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นางแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. แถลงสรุปผลงาน กกต. เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี พร้อมชูแนวคิด “เส้นทางการจัดการเลือกตั้ง สู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน” ว่านับตั้งแต่การก่อตั้งสำนักงานกกต. ในวันที่ 9 มิ.ย. พ.ศ. 2541 เป็นเวลา 25 ปี เมื่อเทียบกับอายุคน ก็เทียบได้กับวัยหนุ่มสาว ซึ่งเต็มไปด้วยพลังและพร้อมที่จะเติบโตต่อไป สำนักงานกกต.ก็เช่นเดียวกัน เราพร้อมที่จะเติบโตไปกับการเมืองไทย และเป็นกลไกหลักที่จะพัฒนา

และดำรงรักษาไว้ ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข โดยเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของสำนักงานกกต. และเป็นที่ยอมรับระดับสากลในกระบวนการการจัดการการเลือกตั้งอย่างมืออาชีพ โดยตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา สำนักงานกกต. ได้ตระหนักถึงการมีการเลือกตั้งที่ดี มีความชอบธรรม และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน 

นายแสวงกล่าวต่อว่า การเลือกตั้งที่ดี มีองค์ประกอบหลักอยู่ 2 ประการ ประการแรก คือ ความชอบธรรมในเชิงคุณภาพ หมายถึงคุณภาพของทุกคะแนนเสียง ที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งออกไปใช้สิทธิ์ออกเสียงลงคะแนน และต้องเป็นไปโดยอิสระ ไม่อยู่ภายใต้อามิสสินจ้างใดๆ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้งน้อยที่สุดตั้งแต่มีการเลือกตั้งมา ณ วันนี้มีประมาณ 280 เรื่อง ประการที่สองคือความชอบธรรมในเชิงปริมาณ คือ การที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งให้มากที่สุด เพื่อให้ผู้แทนของตนเข้าไปทำหน้าที่แทนตน อย่างมีความชอบธรรม นั่นแสดงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการกำหนดอนาคตของตนเอง โดยการเลือกตั้งส.ส.ครั้งล่าสุด ในปี 66 ที่ผ่านมา มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากที่สุดร้อยละ 75.7 มีบัตรเสียร้อยละ 3.19 น้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ที่มีบัตรเสียร้อยละ 5.58

นอกจากนี้ สำนักงานกกต. ยังคงตระหนักถึงเจตนารมณ์ของประชาชน ที่มาออกเสียงลงคะแนนให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคะแนนเสียง บริหารจัดการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพ การให้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนเกี่ยวกับการเลือกตั้งแก่ประชาชน การอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งในการออกเสียงลงคะแนน รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบการจัดการการเลือกตั้งตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น สำนักงานกกต.ได้รับความร่วมมือจากประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง องค์กรเอกชนสื่อมวลชนทุกแขนง หน่วยงานของภาครัฐ ที่เข้ามาร่วมเป็นภาคีเครือข่าย และผู้มีส่วนในการจัดการเลือกตั้ง เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วย ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง คณะกรรมการประจำเขตเลือกตั้ง โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงขอขอบคุณทุกคนมา ณโอกาสนี้

สุดท้ายนี้ สำนักงานกกต.ขอให้คำมั่นสัญญาว่า จะจัดการการเลือกตั้งในทุกระดับ ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ให้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม ดูแลเจตนารมณ์ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกสิทธิทุกคะแนนเสียง เพื่อการเมืองดี การบริหารจัดการบ้านเมืองดี และธำรงรักษาไว้ซึ่งระบอบการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขสืบไป

เมื่อถามถึงกรณีที่กกต.มีมติให้มีการนับคะแนนใหม่ 47 หน่วยเลือกตั้ง ใน 16 จังหวัด มีที่ปัญหานั้น ประชาชนจะสามารถเข้าไปสังเกตการณ์ได้หรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า ในวันที่ 11 มิ.ย. ที่จะมีการนับคะแนนใหม่ ประชาชนสามารถเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ได้เหมือนเดิม และในส่วนของสำนักงานกกต.เอง ก็จะมีการบันทึกภาพและวิดีโอไว้ ทุกขั้นตอนเพื่อเป็นหลักฐาน และใช้ประโยชน์ต่อไป

เมื่อถามถึงกรณีที่สำนักงานกกต. มีการเปลี่ยนสโลแกน จาก “สุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม” เป็น “สุจริต เที่ยงธรรมและชอบด้วยกฎหมาย” เหตุใดจึงตัดคำว่า “โปร่งใส” ออกไป นายแสวง กล่าวว่า “สุจริต” และ “เที่ยงธรรม” สองคำนี้ก็รวมคำว่า “โปร่งใส” ไว้อยู่แล้ว และไม่ได้แตกต่างอะไรกับตัวตนขององค์กร ไม่ว่าจะเขียนอย่างไร แต่สิ่งที่เราได้แสดงออกไปนั้น สมควร หรือมีเกียรติในตำแหน่งที่เราทำ ขอขยายความในเรื่องความโปร่งใส เนื่องจากสามารถดูได้2 อย่าง ส่วนแรก คือ เห็นได้ด้วยตา โดยประชาชนสามารถไปร่วมสังเกตการณ์ในหน่วยเลือกตั้ง และบันทึกภาพได้ตลอดเวลา ส่วนที่สอง คือ เรามีระบบที่สามารถตรวจสอบได้ ว่ากระบวนการที่เราทำนั้น เมื่อประชาชนมีข้อสงสัย ก็สามารถตรวจสอบได้ หรือหากมีข้อสงสัยอื่นใด ก็ขอให้ทางสำนักงานตรวจสอบได้เช่นกัน ซึ่งหากเราเดินหน้าแบบนี้จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม 

สำหรับกรณีที่ถูกสังคมมองว่า การสั่งให้นับคะแนนใหม่ เป็นเหมือนการดึงเกมทางการเมือง นายแสวง กล่าวว่า นับตั้งแต่ที่เราได้มีการเลือกตั้งในช่วงเดือนพ.ค. และมีการประกาศผลคะแนนอย่างเป็นทางการจากที่แต่ละเขตรวบรวมมานั้น เราไม่ได้หยุดนิ่ง และตระหนักดี ว่าประชาชนต้องการทราบผล แม้กฎหมาย จะให้เวลาทำงาน 60 วัน แต่ทางสำนักงานกกต. ได้เร่งรัดการทำงาน เพื่อเสนอให้กกต. ได้พิจารณาภายในสัปดาห์หน้าตามแผนงาน โดยจะพิจารณาจากกลุ่มว่าที่ ส.ส. ที่ไม่มีเรื่องร้องเรียนก่อน และมั่นใจว่า ทุกอย่างจะเป็นไปตามเวลาที่ควรจะเป็น