เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 7 มิ.ย.66 ที่ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. รักษาราชการ ผบก.ทล. เพื่อร้องขอให้ตรวจสอบ อดีต ผบก.ทล. กรณีที่ผู้ใต้บังคับบัญชามีการร้องเรียนเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงที่อาจส่อเจตนาไม่สุจริต

นายอัจฉริยะ กล่าวว่า ได้รับข้อมูลมาว่ามีการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงที่ไม่ปกติหลายโครงการทำให้ตำรวจทางหลวงทั่วประเทศหลายคนไม่ได้รับเงินจำนวนมาก โดยอ้างว่าเบิกจ่ายเงินได้ล่าช้า นอกจากนั้นยังอยากเรียกร้องให้มีการตรวจสอบเรื่องส่วยสติกเกอร์ให้รอบด้าน และดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แต่อยากให้มีการผ่อนปรนกับผู้ประกอบการรถบรรทุกเกินได้ 1-2 ตัน เพื่อป้องกันการเสนอผลประโยชน์

นายอัจฉริยะ ยังบอกว่า สมาพันธ์ และสมาคมรถบรรทุก เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการขายสติกเกอร์ แล้วเก็บเงินส่งให้ตำรวจแต่เมื่อเห็นว่ามีผลประโยชน์เยอะจึงตัดออกมาทำเองทำให้เกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่การร้องเรียนให้ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันยังอยากเรียกร้องให้นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ส.ส.พรรคก้าวไกล และประธานสมาพันธ์รถบรรทุก มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกระทำผิด หรือผู้ที่ขายสติกเกอร์ 46 รูปแบบที่กล่าวถึง เพื่อที่จะได้รู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ และเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจที่กล้าแจ้งความดำเนินคดีกับคนที่กระทำผิด

นายอัจฉริยะ  ยังระบุว่า ที่ผ่านมาตราชั่งวัดน้ำหนักรถบรรทุกหลายๆ ด่านตรวจ โดยเฉพาะตั้งแต่จังหวัดสมุทรสาคร ถึงอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ถ้ามีสติกเกอร์ติดหน้ารถจะไม่ต้องตรวจวัดน้ำหนัก แต่หากไม่ติดก็จะถูกตรวจวัดและน้ำหนักมักจะเกินกว่าที่ได้บรรทุกมา บางคันเกินเพราะผู้โดยสารที่นั่งมาด้วยกผ้จะถูกดำเนินคดี ส่งฟ้องอัยการให้มีคำสั่งยึดรถ หากไม่อยากให้ถูกยึดรถก็จะต้องวิ่งเต้นคดี ทำให้เห็นว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องกับการรับส่วย โดยเฉพาะกรมทางหลวงที่เป็นเจ้าของด่านชั่งน้ำหนัก ต้องไปตรวจสอบว่าเครื่องชั่งได้มาตรฐานหรือไม่

สำหรับตำรวจทางหลวงที่เกี่ยวข้องกระทำความผิด นายอัจฉริยะ เชื่อว่ามีมากกว่า 10 นาย แต่ยังอยากให้ตรวจสอบไปถึงชุดเฉพาะกิจของกรมทางหลวง 12 ชุด หรือที่เรียกกันว่า “ชุดเฉพาะเก็บ” ว่าเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ นอกจากนั้นยังเห็นว่าควรตรวจสอบทั้ง 4 หน่วยงานคือ กรมทางหลวง กรมการขนส่งทางบก จราจรกลาง และตำรวจทางหลวง เพราะหน่วยงานเหล่านี้รับผิดชอบตั้งแต่การตรวจสภาพเสริมแหนบรถก่อนจะบรรทุกน้ำหนักเกินได้ ขนไปถึงการตรวจควันดำ หากจะตรวจสอบเฉพาะตำรวจทางหลวงเห็นว่าไม่มีความเป็นธรรม ส่วนการออกมาเปิดเผยว่าจะย้ายตำรวจทางหลวงให้มาช่วยราชการก่อน ก็คาดว่าจะทำได้เฉพาะตำรวจชั้นผู้น้อย ยังไม่สามารถดำเนินคดีกับตำรวจในระดับสั่งการได้