'ผู้การจ๋อ'นำ จนท.ปปช.ขึ้นเบิกความ ฟ้องหมิ่น 'อัจฉริยะ' เผย ปปช.มีคำสั่งไม่รับเรื่อง ถูกร้องปม สั่งหยุดสืบคดี สว.อุปกิต-ย้ายชุดทำคดี จำเลย นำ’มานะพงษ์’ขึ้นเบิกความ


เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2567 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 951/2566 ระหว่าง พลตำรวจตรีธีรเดช ธรรมสุธีร์  เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอัจฉริยะ  เรืองรัตนพงศ์ ในฐานความผิดฐาน แจ้งความเท็จ และหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาต่อศาลอาญา ตาม ป.อาญา มาตรา 326, 329 โดยกล่าวหาโยงขบวนการยาเสพติดทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง โดยศาลประทับรับฟ้องเมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมาภายหลังไต่สวนมูลฟ้อง โดยวันนี้เป็นการนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 2 ภายหลังสืบไปเมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา 

โดยพยานโจทก์วันนี้เป็นพยานโจทก์ปากที่ 5 ซึ่งเป็นปากสุดท้ายเป็น เจ้าหน้าที่ ปปช.เบิกความว่า นายอัจฉริยะได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อ กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.)  เเละได้รับเรื่องรายงานมาที่ ปปช. ประมาณช่วงเดือน เม.ย. 2566 เป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษ จาก นายอัจฉริยะ ที่ร้องต่อ ปปป. โดยกล่าวหา พล.ต.ต.ธีรเดช จำนวน 2 ข้อหา คือ 1. พล.ต.ต.ธีรเดชในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน และผู้บังคับบัญชาสั่งการให้กองกำกับการสืบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนนครบาลกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ปฏิบัติหน้าที่สืบสวนคดีของ นายอุปกิต สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมีฐานความผิดเกี่ยวกับคดียาเสพติด ได้สั่งการให้หยุดการสืบสวนคดีดังกล่าว

เเละ2 พล.ต.ต.ธีรเดช ได้มีการจัดทำพยานหลักฐานเท็จในเรื่องของเอกสารการแต่งตั้ง ข้าราชการที่อยู่ในชุดสืบสวนคดีของนายอุปกิต โยกย้ายตำแหน่งออกไปโดยไม่เป็นธรรม กล่าวหา ว่าเป็นการกระทำความผิดตามประมาลอาญามาตรา 157 

ซึ่งในกรณีที่ประชาชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องการจะทำการตรวจสอบการกระทำความผิด ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่สันนิษฐานว่าทุจริต สามารถส่งเรื่องได้ที่ ปปช. โดยตรง ไม่จำเป็นต้องร้องเรียนหรือร้องทุกข์ต่อหน่วยงานอื่นก่อน

ซึ่งในการตรวจสอบ จะมีขั้นตอนดำเนินการ เมื่อมีการส่งเรื่องมาที่ ป.ป.ช. นิติกรจะมีการกลั่นกรอง เรื่องร้องทุกข์ที่มีการส่งเข้ามา ถึงการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐ โดยจะพิจารณาว่าเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ อย่างไร แล้วเสนอต่อไปที่ คณะกรรมการ ปปช. ในกรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ ทางนิติกร อาจจะเรียก มาสอบ เพิ่ม หรือ ขอพยานหลักฐานเพิ่มเติม หลังจากนั้น จึงจะมีความเห็นเสนอคณะกรรมการ ปปช. ถ้าเข้าหลักเกณฑ์จะมีมติรับเรื่อง แต่ถ้าไม่เข้าหลักเกณฑ์ก็จะไม่รับเรื่อง

ซึ่งในเรื่องของคดีดังกล่าว เมื่อตรวจสอบเอกสาร จำเลยมีการร้องโจทก์ให้ถูกรับโทษทางอาญา โดยมี บก.ปปป. ส่งให้ ปปช. ซึ่งตามระเบียบไม่ว่าจะเป็นการร้องทุกข์ ของหน่วยงานอื่นใดๆ ก็ต้องส่งไปให้ ปปช. พิจารณา ในส่วนของเจ้าหน้าที่ ปปช. ที่มีอำนาจไต่สวน เมื่อไต่สวนเสร็จสิ้น ต้องประมวลเสนอคณะกรรมการ ปปช. เพื่อชี้มูลว่ามีความผิดหรือไม่

ในการปฏิบัติเมื่อนิติกรทำการกลั่นกรองเรื่องแล้ว ส่งให้เจ้าหน้าที่ไต่สวนพิจารณาก่อน ก่อนส่งให้ คณะกรรมการ ปปช. หากเข้าหลักเกณฑ์ จะดำเนินการไปได้ 2 ทาง คือ 1 พิจารณา จะส่งให้ คณะกรรมการ ปปช. ต่อไป  และ 2 ไม่พิจารณา ซึ่ง เมื่อรับเรื่องแล้ว ปปช. จะทำการตรวจสอบ ขอเอกสารเพิ่มเติมจากทาง ตร. สอบปากคำพยานบุคคล ประมวลเรื่องเสนอต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นพิจารณาแล้ว มีมติว่าไม่ได้กระทำตามที่กล่าวหา และมีคำสั่งไม่รับเรื่องไว้พิจารณา 

ในช่วงบ่ายถึงเย็นเป็นการสืบพยานฝ่ายจำเลย โดยทนายฝ่ายจำเลยนำ พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สว.สส.สน.พญาไท ในฐานะเคยเป็นตำรวจฝ่ายสืบสวน กก.2 บก.สส.บช.น. ผู้สืบสวนจับกุมจำเลยคดี บริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป เเละเครือข่ายทุนมินลัต และผู้ยื่นคำร้องขอออกหมายจับ นายอุปกิต ปาจรียางกูร อดีต สว.ชื่อดังได้เบิกความในประเด็นเกี่ยวกับการขอศาลออกหมายจับนายอุปกิต เเละโดนสั่งให้หยุดการสืบสวนคดี โดยให้รายงานก่อนที่จะกระทำการในคดี เเละภายหลังศาลเพิกถอนหมายจับ ก็เชื่อว่าที่ถูกย้ายเพราะทำคดีนี้ เเต่ก็ยอมรับว่านายตำรวจที่ถูกย้ายมีเพียง 4 คนไม่ใช่ตำรวจทุกคนในคดี เเละตำรวจชุดที่ทำคดีก็มีได้เลื่อนขั้น  เเละเชื่อว่าการถูกย้ายไม่สามารถทำให้ขยายผลคดีดังกล่าวได้อีกเเม้กฎหมายอนุญาตให้ทำได้ เพราะยังอยู่ในฝ่ายสืบสวน เเต่ในทางปฏิบัติเมื่อถูกย้ายก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ในหน้างานประจำ ทำให้ไม่มีเวลาทำคดี พร้อมยอมรับว่าเมื่อครั้งหลังออกหมายจับนายอุปกิต พล.ต.ต.ธีรเดชก็ยังให้เงิน 1 หมื่นบาทเป็นค่าใช้จ่ายในการทำคดี เเต่พอภายหลังศาลเพิกถอนหมายจับ ก็มีการนำเงินไปคืนผ่านทาง ผกก.สืบสวน เเต่ไม่ทราบว่าคืนถึง พล.ต.ต.ธีรเดชหรือไม่