ศูนย์วิจัยข้าวราชบุรี เป็นแหล่งศึกษา วิจัย ทดลอง และพัฒนางานด้านข้าวมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 เพื่อส่งเสริม สนับสนุนความรู้ ความต้องการด้านข้าวให้กับพี่น้องชาวนา ตามภารกิจ หน้าที่ที่ดำเนินงาน พัฒนาศักยภาพชาวนาและองค์กรชาวนา ตามนโยบายของกรมการข้าวและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

วันที่ 4 มิ.ย.66 นายปรัชญา แตรสังข์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวราชบุรี กล่าวว่า ศูนย์วิจัยข้าวราชบุรีมุ่งเน้นการศึกษาวิจัย ด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าว เทคโนโลยีการผลิตข้าว การอารักขาข้าว วิทยาการหลังเก็บเกี่ยว การอนุรักษ์และฟื้นฟูพันธุกรรมข้าวปลูกและข้าวป่าในเขตพื้นที่ภาคตะวันตก เพื่อพัฒนาการผลิตข้าวไทยให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ นอกจากนี้ยังมีการผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์คัดและพันธุ์หลักเพื่อสนับสนุนหน่วยงานภายในและภายนอกกรมการข้าวในการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดีให้เกษตรกรได้ใช้อย่างทั่วถึง และที่สำคัญที่สุดคือการส่งเสริมสนับสนุนและเผยแพร่องค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยด้านข้าวแก่ชาวนาและผู้ประกอบการ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและพัฒนาศักยภาพชาวนาและองค์กรชาวนาให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีพื้นที่รับผิดชอบ 3 จังหวัด คือ จังหวัดราชบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

นายประจักษ์ เหล็งบำรุง นักวิชาการเกษตรชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มวิชาการ ศูนย์วิจัยข้าวราชบุรี กล่าวว่า ศูนย์วิจัยข้าวราชบุรี เป็นสถานที่ดำเนินงานด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาพันธุ์ข้าวหอม พันธุ์ข้าวเจ้าเพื่อการค้า เป็นต้น งานอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวปลูกและข้าวป่า ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินงานที่สำคัญของภาคตะวันตก โดยการปรับปรุงพันธุ์ข้าวนั้น มีความมุ่งหวังให้ได้ข้าวพันธุ์ใหม่ที่ตรงตามความต้องการของเกษตรกรและผู้บริโภค เช่น การวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวเจ้าหอมไทย ได้ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าหอมไม่ไวต่อช่วงแสง และไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิตสูงเพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศที่นิยมบริโภคข้าวหอมเพิ่มสูงขึ้นและเป็นทางเลือกให้เกษตรกรได้ใช้พันธุ์ข้าวที่หลากหลายเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิต การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าเพื่อการค้าและการใช้ประโยชน์เฉพาะ เป็นการวิจัยและพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะทรงต้นดี อายุเก็บเกี่ยวสั้น ผลผลิตสูง และต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญ ขณะนี้การดำเนินการถึงขั้นตอนการเปรียบเทียบผลผลิตในแปลงนาเกษตรกรและการทดสอบความต้านทานต่อโรคและแมลงที่สำคัญแล้ว

ทั้งนี้ยังมีการวิจัยและพัฒนาการอนุรักษ์และการศึกษาคุณสมบัติพื้นฐานของทรัพยากรพันธุกรรมข้าว เช่น การรวบรวม อนุรักษ์ ฟื้นฟู และประเมินคุณค่าทรัพยากรพันธุกรรมข้าวปลูกและข้าวป่าในพื้นที่ภาคตะวันตกเพื่อเป็นแหล่งพันธุกรรมในการพัฒนาข้าวไทย รวมถึงการศึกษาลักษณะและคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์ของข้าวพื้นเมือง โดยได้เก็บรวมรวมข้าวพื้นเมืองจากจังหวัดเพชรบุรีพันธุ์ “เหลือง 11” มาคัดสายพันธุ์บริสุทธิ์และส่งกลับให้เกษตรกรไปปลูกเพื่อขยายพันธ์ต่อ ซึ่งข้าวพันธุ์นี้เป็นข้าวไวต่อช่วงแสงที่เหมาะสมกับพื้นที่ลุ่มต่ำมีน้ำขังเป็นเวลานาน และยังพบว่าเกษตรผู้เลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมืองนิยมนำไปใช้เลี้ยงไก่เนื่องจากไก่เจริญเติบโตและแข็งแรงดี นอกจากนี้ศูนย์วิจัยข้าวราชบุรียังได้เก็บรวมรวมข้าวพื้นเมืองพันธุ์ “เหลืองอ่อน” ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีความต้องการของผู้บริโภคสูงแต่ยังไม่มีการคัดสายพันธุ์บริสุทธิ์ จึงนำมาดำเนินการคัดอยู่ในขณะนี้อีกด้วย

นายปรัชญา แตรสังข์ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยข้าวราชบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้มีการดำเนินงานด้านการอารักขาข้าว ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงคือ การเข้าทำลายของโรคและแมลงศัตรูข้าวชนิดต่างๆ ซึ่งโรคและแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ได้แก่ โรคไหม้ (Blast) โรคขอบใบแห้ง (Bacterial blight) เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (Brown planthopper) เพลี้ยกระโดดหลังขาว (white backed planthopper) และ แมลงบั่ว (Gall midge) เป็นต้น แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงชีวชนิดของโรคและแมลงศัตรูข้าว ทำให้ข้าวบางพันธุ์ไม่มีความต้านทานต่อชีวชนิดใหม่ของโรคและแมลง ดังนั้นนักปรับปรุงพันธุ์จึงต้องพัฒนาพันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งต้องมีการคาดการณ์ล่วงหน้าอยู่เสมอ มีการปรับปรุงพันธุ์ให้มีความหลากหลายลักษณะ เมื่อมีความต้องการใช้ก็สามารถนำสายพันธุ์ที่ปรับปรุงออกมาแนะนำให้ใช้ได้ทันต่อเหตุการณ์

ศูนย์วิจัยข้าวราชบุรีเป็นสถานที่ที่สำคัญของภาคตะวันตกในการคัดเลือกข้าวพันธุ์ต้านทานต่อโรคไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โดยศึกษาปฏิกิริยาของสายพันธุ์ต่อการทำลายของโรคไหม้ระยะกล้า ทำการทดลองแบบ Upland short row และการศึกษาปฏิกิริยาของสายพันธุ์ต่อการทำลายของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลด้วยวิธี Standard Seedbox Screening Test ตามคู่มือระบบมาตรฐานการประเมินข้าว (Standard Evaluation System for Rice, SES) ของสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (International Rice Research Institute) เพื่อนำผลการทดสอบผลที่ได้นี้ไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการรับรองพันธุ์ข้าวร่วมกับแหล่งทดสอบอื่นทั่วประเทศและประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรับรู้เพื่อสะดวกต่อการวางแผนการจัดการศัตรูข้าวได้ ซึ่งพันธุ์ข้าวอื่นที่ไม่ได้ผ่านการรับรองพันธุ์จากกรมการข้าวจะขาดข้อมูลในส่วนนี้ ทำให้เสียงต่อการเกิดการระบาดของโรคและแมลงในอนาคตได้

จากความมุ่งมั่น และพัฒนางานทดลองและวิจัย การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของศูนย์วิจัยข้าวราชบุรี ที่ครอบคลุมจังหวัดราชบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นการพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตข้าวให้แก่เกษตรกร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องชาวนา ผู้ประกอบการ รวมไปถึงผู้บริโภค