วันที่ 29 พ.ค.66 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศูนย์ราชการ เมื่อเวลา11.00 น. นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เข้าให้ถ้อยคำต่อกกต. กรณีที่เร่งรัดให้ตรวจสอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตพรรคก้าวไกล ว่า กกต.โทรเรียกตนให้มาสอบเพิ่มเติม ซึ่งตนไม่ได้เป็นผู้ร้องหลัก แต่มาสะกิดให้กกต. สรุประยะเวลาที่จะตรวจสอบข้อมูล ของนายพิธา ว่าจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ โดยกกต.ได้ชี้แจงมาแล้วว่า จะทำคดีให้เสร็จภายหลังการรับรองส.ส. และจะส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ 

นายสนธิญา กล่าวต่อว่า ที่ตนมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ตนก็โดนว่า แต่ในความเป็นจริงทุกอย่างขึ้นตามรัฐธรรมนูญโดยเฉพา มาตรา 98 จำนวน 18 ข้อ ที่เป็นข้อบังคับ ห้ามมีให้ผู้มีลักษณะต้องห้ามมีสิทธิลงรับสมัครส.ส. นายสนธิญาย้ำด้วยว่า ไม่ใช่เรื่องการกลั่นแกล้ง หรือเมตตาธรรม เพราะส.ส.ต้องเข้าไปโหวตผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ เพราะฉะนั้น กระบวนการคัดเลือกส.ส. ก็คือกระบวนการนิติบัญญัติ จึงควรมีที่มาที่ถูกต้อง ตามมาตรา 98 (3) โดยเฉพาะนายพิธา ที่มีการถือหุ้นสื่อ 

ในเบื้องต้น วันนี้ตนขอเรียกร้องโดยตรงไปยังพรรคก้าวไกล และนายพิธา เนื่องจากขาดความชอบธรรมในการถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ซึ่งขณะนี้กกต. อยู่ในขั้นตอนตรวจสอบ เพื่อรับรองส.ส.ให้ครบ 95% หรือ 476 คน โดยเมื่อครบตามจำนวน ก็จะสามารถเปิดประชุมสภาฯ เพื่อเลือกประธานสภาฯ ตามรัฐธรรมนูญ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือประธานสภาฯ จะเรียกทั้งรัฐสภา ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ในการเลือกนายกฯ ต่อไป 

นายสนธิญา กล่าวด้วยว่า ตนขอถามว่า เมื่อกกต.ส่งรายชื่อนายพิธาที่มีข้อร้องเรียนไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้วประธานสภาฯ ไม่ว่าจะมาจากพรรคก้าวไกล หรือพรรคเพื่อไทย (พท.) จะเสนอชื่อนายพิธาหรือไม่ โดยกรณีนี้คล้ายคลึงกับกรณี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ถูกกกต.ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน และส่งผลให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ซึ่งอาจทำให้ประเทศจะอยู่ในช่องว่างของการปกครองหรืออำนาจ เพราะการจะทูลเกล้าฯ จะต้องทำภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว

“ทั้งหมดทั้งมวลไม่ใช่เพราะผู้ร้อง แต่เป็นเพราะเหตุผลที่ นายพิธา ไม่ได้ดำรงตัวเองให้ถูกต้องตามกระบวนการกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ฝ่ายกฎหมายของพรรคก้าวไกลไม่ได้ตรวจสอบให้ดี จึงทำให้ไม่มีสิทธิเป็นหัวหน้าพรรค และลงสมัคร ส.ส. อีกทั้งยังพัวพันไปถึง ส.ส. ทั้งสองระบบของพรรคที่จะโมฆะไปด้วย ย้ำว่า ไม่ใช่เรื่องชอบหรือไม่ชอบ เกลียดหรือไม่เกลียด แต่การกระทำไม่เป็นไป ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ” นายสนธิญา กล่าว 

ทั้งนี้ หลักฐานที่นำมาประกอบการให้ข้อมูลต่อ กกต. มีอยู่ 2 อย่าง คือ ข้อมูลที่ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงว่า นายพิธา เป็นผู้ถือหุ้นไอทีวีจริง และข้อมูลที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นผู้ร้อง โดยกระบวนการสอบสวนเป็นเรื่องของ กกต. ที่จะต้องสอบสวนในรายละเอียด ซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน จึงจะสามารถสรุปเรื่องต่างๆ ได้ 

เมื่อถามว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นตามหลักนิติรัฐแล้วเป็นสิ่งที่บิดเบี้ยว นายสนธิญา กล่าวว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประชาชนทั้ง 17 ล้านเสียง มีการรับร่างประชามติมาแล้ว ถ้าบอกว่าบิดเบี้ยว บิดเบี้ยวจากมุมมองของฝ่ายไหนมากกว่า และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้มาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งผ่านการใช้มาแล้ว 4 ปีในสภาฯ ถ้าบิดเบี้ยวจริงทำไมไม่คิดแก้ หรือดำเนินการในช่วงที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล หรือพรรคเพื่อไทย และทุกพรรค สามารถแก้ไขได้ 

เมื่อถามว่า กรณีการร้องเรียนนายพิธา จะนำไปสู่การลงถนนของประชาชนหรือไม่ สนธิญา กล่าวว่า การลงถนนนั้นสามารถทำได้ทั้งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และฝ่ายที่เห็นด้วยกับการที่ กกต. จะวินิจฉัยตามข้อมูล แต่บ้านเมืองนี้อยู่ด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถ้าทุกฝ่ายยอมรับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หรือเคารพสิทธิและเสรีภาพก็ไม่มีปัญหาอะไร