เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2566 สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจศึกษาต่อเนื่อง เรื่อง ก้าวไกล กับ ราษฎร กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น 1,035 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 – 28 พฤษภาคม พ.ศ.2566 โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.2 เบื่อหน่ายการเมือง จัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง เพราะมีแต่แย่งชิงตำแหน่ง อำนาจ ผลประโยชน์ ละเลยความเดือดร้อนของราษฎร การแพร่ระบาดของโควิด และปัญหาปากท้อง เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 14.8 ไม่เบื่อ เพราะ น่าสนใจติดตาม ใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคอะไรจะได้เป็นรัฐบาลบ้าง พิธา จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เป็นเรื่องธรรมดาของการเมือง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.5 รู้สึกผิดหวังต่อจุดยืนของพรรคก้าวไกล ที่เคยหาเสียงไว้ เช่น พอได้เป็นแล้วเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ค่าแรง 450 ไม่ชัดเจน กฎหมาย 112 การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ และอื่น ๆ เป็นต้น ในขณะที่ ร้อยละ 29.5 ไม่ผิดหวัง เพราะ เพิ่งรวมตัวกันต้องให้เวลาก่อน ค่อยเป็นค่อยไป หนักแน่นในก้าวไกล เป็นต้น
ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงความเห็นต่อการถอนตัวของพรรคเพื่อไทย จากความขัดแย้งต่าง ๆ ในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่กำลังพยายามจัดตั้งโดยพรรคก้าวไกล พบว่า จำนวนมากหรือร้อยละ 44.9 ระบุ แล้วแต่เลย ถอนก็ได้ ไม่ถอนก็ได้ ในขณะที่ ร้อยละ 32.8 ระบุควรอยู่ต่อ และร้อยละ 22.3 ระบุควรถอนตัว ตามลำดับ