เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 26 พ.ค. 66 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยว่าที่ ส.ส.ปีกแรงงานพรรคก้าวไกล เดินทางมาถึงสำนักงานเทศบาลบางเสาธง จ.สมุทรปราการ เพื่อพบปะพูดคุยกับเครือข่ายผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ จำนวน 45 องค์กร กว่า 200 คน เพื่อแลกเปลี่ยนสอบถามเกี่ยวกับนโยบายแรงงานของพรรคก้าวไกล
โดยเครือข่ายผู้ใช้แรงงานที่มาร่วมพูดคุย ประกอบด้วยสหภาพแรงงาน กลุ่มแรงงาน สภาองค์การลูกจ้าง รวมถึงสหพันธ์ผู้ค้าจากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ เหล็ก อาหารและยา ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ สิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ พลาสติก รัฐวิสาหกิจ แรงงานนอกระบบ ภาคบริการ และอีกหลายส่วน
ภายหลังการพบปะหารือภายใน นายพิธา ได้ตอบข้อซักถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับความกังวลของผู้ประกอบการต่อการขึ้นค่าแรง 450 บาท ตามแนวนโยบายของก้าวไกล ว่า เรื่องค่าแรง ต้องไม่ดูที่เหรียญด้านเดียว แต่ต้องดูมิติของการช่วยเหลือเยียวยา SME ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีจาก 20% เหลือ 15% หากมีผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง ทำให้สามารถหักภาษีได้ 2 เท่าภายใน 2 ปีแรก รวมถึงศึกษามาตรการหลังการขึ้นค่าแรงเมื่อปี 2556
นายพิธา ยืนยันด้วยว่า หากพิจารณาตัวเลข ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราค่าเงินเฟ้อ รวมถึงผลิตภัณฑ์ของพี่น้องแรงงานในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขของค่าแรงที่เหมาะสมคือ 450 บาท โดยหลังหารือกับสภาอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมเยาวชน จะเดินสายหารือกับหอการค้าและสภานายจ้าง เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนของเหรียญทั้งสองด้าน
"หากเราแก้ไข พ.ร.บ.แรงงาน ค่าแรงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยอัตโนมัติ การขึ้นค่าแรงต้องขึ้นน้อยๆ ขึ้นบ่อยๆ ถ้านานๆขึ้นที ไม่สามารถที่จะบริหารจัดการได้"
ขณะที่สภาหอการค้าแสดงความกังวลว่า ผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง อาจทำให้มีการพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปประเทศเวียดนาม นายพิธา กล่าวว่า ได้รับฟังจากในข่าว แต่ยังไม่ได้หารือจริง จึงยังไม่รู้ข้อกังวล การย้ายฐานการผลิตไปประเทศใดนั้น ต้องดูที่ค่าแรงเป็นหลัก แต่ก็ไม่ใช่ส่วนเดียว ต้องดูทั้งบุคลากร อัตราการคอร์รัปชั่น ระบบภาษีอัตราการส่งออก และตลาดในประเทศด้วย มีมากถึง 8-9 ปัจจัย ค่าแรงอาจจะเป็นเพียงปัจจัยเดียว ต้องดูทั้งองคาพยพ
พร้อมมั่นใจว่า ยังจะสามารถผลักดันนโยบายเพิ่มค่าแรงได้ภายใน 100 วันแรก หลังจากได้เป็นรัฐบาล และหลังจากได้หารือ รับฟังข้อมูล จากเครือข่ายแรงงานหลายส่วน ทั้งใน และต่างประเทศ
ส่วนกรณีการแถลงข่าวของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ระบุว่า พร้อมส่งมอบงานให้รัฐบาลใหม่ทางพรรคก้าวไกลได้วางบทบาทพรรคการเมืองใดเป็นพิเศษ และมีแนวทางอย่างไร นายพิธา กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุยอย่างลงรายละเอียดในเรื่องนี้ แต่ทางพรรคก้าวไกลมี นายรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 20 ของพรรคก้าวไกล
รวมถึงว่าที่ ส.ส. และผู้สมัคร ส.ส. ในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ดูแลเรื่องนี้อยู่ นโยบายของพรรคก็มีความชัดเจน ต้องดูว่าแผนที่จะส่งมอบเป็นอย่างไร ต้องเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด และคงไม่ใช่แค่ชายแดนใต้ เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านอำนาจ
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาหัวหน้าคณะพูดคุยฯ เป็นทหารมาโดยตลอด มีโอกาสที่จะเปลี่ยนให้เป็นพลเรือนหรือไม่ นายพิธากล่าวว่า เป็นสิ่งที่ตั้งใจอยู่แล้ว