เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 26 พ.ค.66 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ​ (กมธ.) การกฎหมาย​ การยุติ​ธรรม​ และสิทธิ​มนุษยชน​ สภาผู้แทน​ราษฎร​ กล่าวว่า ตนมาร้องเรียนวันนี้มี 2 ประเด็นหลัก ประเด็นที่ 1 กรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า มีการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็น โดยให้พรรคก้าวไกลจะต้องยึดมั่นในตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นของพรรคก้าวไกล ซึ่งประเด็นประธานสภาผู้แทนราษฎรจะอยู่กับพรรคใดพรรคหนึ่งนั้น เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่จะเลือกกันเอง คนตั้งข้อสังเกตว่าประธานสภา ตามรัฐธรรมนูญ 2560 หมายถึง ประธานรัฐสภาด้วย นั่นหมายความว่าประธานสภาฯ  ก็เป็นประธานวุฒิสภาด้วย มีหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของประธานวุฒิสภา ซึ่งเหลืออายุอยู่ประมาณปีกว่าๆ 

ดังนั้น พฤติกรรมของนายปิยบุตร ซึ่งเป็นผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่งตั้งการเป็นผู้ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งที่ผ่านมา รวมถึงการโพสต์ข้อความในลักษณะชี้นำ ทำให้เห็นอนุมานได้ว่า พรรคก้าวไกลโดยที่ผู้บริหารหรือใครก็ตามไม่ได้ออกมาปฏิเสธ อีกทั้งยังพูดไปในทิศทางเดียวกัน จึงเป็นเรื่องที่อนุมานได้ว่า เข้าข่ายพระราชบัญญัติ​ประกอบรัฐธรรมนูญ​(พ.ร.ป.)​ ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 28 มาตรา 29 และนำไปสู่การถูกยุบพรรค ได้ตามมาตรา 92 (3) จึงขอให้กกต.วินิจฉัย และตีความการกระทำของนายปิยบุตร เพื่อเป็นการชี้นำ ครอบงำพรรคก้าวไกลหรือไม่อย่างไร ส่วนพิจารณาแล้วจะส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับกกต.จะพิจารณา 

นายสนธิญา กล่าวว่า ประเด็นที่ 2 คือกรณีน.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย (พท.) เดินทางไปเยี่ยมนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ประเทศสิงคโปร์ ตนมองว่าการไปเยี่ยมบิดา หรือผู้มีพระคุณนั้นสามารถทำได้ แต่ขณะนี้ น.ส.แพทองธารได้รับการแต่งตั้งจากพรรคเพื่อไทยเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ดังนั้น พฤติกรรมของว่าที่นายกฯ อยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน และตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 45 และผูกพันไปถึง มาตรา 92 (3 ) จึงขอให้กกต.พิจารณาว่าพฤติกรรมดังกล่าว ของน.ส.แพทองธารนั้น ขัดต่อกฎหมายนี้หรือไม่ เมื่อวินิจฉัยแล้วอาจจะส่งคำร้องของตนเข้าไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อโปรดพิจารณาวินิจฉัย เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติของว่าที่แคนดิเดตนายกฯ หรือว่าที่นายกฯ ต่อไปในอนาคตด้วย 

"ผมยังมั่นใจว่าพรรคก้าวไกล โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่สามารถที่จะทะลุผ่านเข้าไปสู่กระบวนการโหวตเป็นนายกฯได้ แล้วแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย คนที่ 1 ก็คือน.ส.แพทองธาร ซึ่งมีหลายคนที่ออกมาวิเคราะห์กรณีน.ส.แพทองธาร เดินทางไปเยี่ยมพ่อ ในช่วงเวลาสถานการณ์อย่างนี้ ซึ่งโดยจริยธรรม คุณธรรมและมารยาท หรือกฎหมาย ก็ไม่น่ากระทำการโดยเปิดเผย ซึ่งการไปเยี่ยมพ่อหรือผู้มีพระคุณนั้นไม่มีปัญหา แต่การไปเยี่ยมในช่วงมีตำแหน่ง หรือเป็นแคนดิเดตนายกฯ นั้น อธิบายไม่ได้ในเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเฉพาะนายทักษิณ และน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นผู้ที่ถูกศาลไทยพิจารณาให้จำคุกไปแล้ว ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวล จึงเป็นที่มาของการมาเพื่อร้องกกต.โปรดพิจารณาวินิจฉัย การกระทำของน.ส.แพทองธาร" นายสนธิญา กล่าว 

เมื่อถามถึงการถือหุ้นสื่อของนายพิธา นายสนธิญา กล่าว รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนว่าต้องถือจำนวนเท่าไหร่ แต่เขียนเพียงว่า ผู้ลงสมัครส.ส.ห้ามมีหุ้น จึงน่าเป็นห่วง และนายพิธา ก็เพิ่งมาแจ้งต่อป.ป.ช. จึงอยากวิงวอนนายพิธา และพรรคก้าวไกล เพราะตั้งแต่ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาด้วยเสียงข้างมาก ตลาดหุ้นไทยตก ผู้ถือหุ้นจากต่างประเทศก็ถอนหุ้นออกไปเกือบแสนล้านบาท ด้วยความไม่ชัดเจน ตนเป็นกำลังใจให้นายพิธา และพรรคก้าวไกล แต่หลายเรื่องควรคลี่คลายให้ชัดเจน ก่อนที่นายพิธาจะรับตำแหน่งนายกฯ เพราะหากได้รับการโหวตเป็นนายกฯ แล้วศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย พร้อมสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จะไม่เป็นผลดีต่อพรรคก้าวไกล และประเทศ จึงต้องการให้ดำเนินการเรื่องนี้ให้จบเสียก่อน