เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 23 พ.ค. 66 ที่อาคารอนาคตใหม่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมสืบเนื่องจากการร่วมลงนามความร่วมมือ (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล ของทั้ง 8 พรรค เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ว่า การจัดทำบันทึกความร่วมมือนี้ เป็นแค่วาระร่วมกันขั้นต่ำ ในส่วนของพรรคก้าวไกล ที่มีกว่า 300 นโยบาย และที่เคยหาเสียงไว้ ทางพรรคก้าวไกลจะพยายามผลักดันให้สำเร็จ
ขณะเดียวกัน พรรคก้าวไกล ก็มีวาระเฉพาะของพรรคก้าวไกล โดยผ่านกลไกบริหาร ซึ่งเมื่อตนเป็นนายกฯจะมีอำนาจในการบริหารจัดการ เพื่อให้วาระของพรรคก้าวไกลที่ได้นำเสนอไว้เกิดผลความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ส่วนรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลที่จะอยู่ตามกระทรวงต่างๆ ในการผลักดันวาระที่ไม่อยู่ในเอ็มโอยู และแม้ว่าพรรคก้าวไกลอาจจะไม่ได้เป็นเจ้ากระทรวง แต่เราสามารถที่จะผลักดันในการประสานงานของรัฐบาลร่วม เพื่อให้รัฐมนตรีเจ้าของกระทรวงผลักดันนโยบายของพรรคเราได้
ในส่วนของกลไกฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเฉพาะ 45 กฎหมาย ที่เราได้สัญญากับประชาชนไว้ เนื่องจากเรามีส.ส. 152 คนที่จะสามารถผ่านกฎหมาย เพื่อให้เกิดการถกเถียง และให้เกิดกรรมาธิการเพื่อให้ผ่านสภาเป็นกฎหมาย มีอำนาจรองรับ เช่น พ.ร.บ.น้ำประปาสะอาด พ.ร.บ.รับรองคำหน้าอัตลักษณ์ทางเพศ เป็นต้น ถึงแม้เรื่องดังกล่าว จะไม่อยู่ในวาระร่วมของรัฐบาล แต่ก็มีหลายกฎหมายที่เราสามารถผลักดันได้ ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เราได้สัญญาไว้ให้กับประชาชน
นายพิธากล่าวย้ำว่า การที่มีเอ็มโอยู 23 ข้อ เป็นวาระร่วมแค่ขั้นต่ำ แต่ในขณะเดียวกันหลายประเด็นที่อาจจะทำให้ประชาชนต้องลำบาก และต้องการความเปลี่ยนแปลงผ่านกฎหมายที่ก้าวหน้า และการบริหารงานของพรรคก็จะมีวาระเฉพาะที่สามารถผลักดันได้เช่นเดียวกัน
สำหรับเรื่องของคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ประชุมแรกได้ไปประชุมกับสภาอุตสาหกรรม ซึ่งมีประเด็นที่หารือกันหลายเรื่อง ในเรื่องของขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การสนับสนุน SME การหาแรงงานให้ตรงกับความต้องการของต่างประเทศ รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของค่าแรง การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
ซึ่งพรรคก้าวไกลยืนยันว่าการขึ้นค่าแรงขั้นเพื่อบรรเทาทุกข์ ยังจะมีอยู่แน่นอน พรรคก้าวไกลหนุนที่ 450 บาท/วัน ส่วนพรรคเพื่อไทยหนุนที่ 400/วัน แต่ขณะเดียวกันไม่ได้นำเสนอต่อสื่อมวลชน ก็คือคำนึงถึงเรทของคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจผู้ประกอบการ บางรายที่สนับสนุนสมทบเงินประกันสังคม 6 เดือนแรก หรือการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 2 เท่า 2 ปี สามารถที่จะหักภาษีได้ คือสิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอ หรือแม้แต่การลดภาษีของธุรกิจ SME จาก 20 เปอร์เซ็นต์เป็น 15 เปอร์เซ็นต์จาก 15 เปอร์เซ็นต์ เป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ทั้งหมดคือภาพใหญ่ที่มีการประชุมกัน แต่ไม่ได้ผ่านสื่อมวลชน จึงเป็นการสร้างความเข้าใจผิดว่า เมื่อเป็นรัฐบาลผสม ค่าแรง 450 อาจจะทำไม่ได้ทันที ซึ่งไม่เป็นความจริง เรากำลังเดินหน้ารับฟังผู้ที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบ แต่ยังยืนยันกับประชาชนว่า ค่าแรงขั้นต่ำมีความจำเป็นที่จะต้องขึ้น และต้องขึ้นอย่างสม่ำเสมอโดยอัตโนมัติ เพื่อให้เกิดประโยชน์กันทั้ง 2 ฝั่ง
นายพิธาได้ตอบคำถามเรื่องค่าแรง 450 บาทของพรรคก้าวไกล ว่า มีหลักการว่าที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้มีการขึ้นค่าแรงบ่อยครั้ง นับตั้งแต่สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จึงอาศัยการคำนวนค่าเงินเฟ้อและอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมถึงประสิทธิภาพของแรงงานที่เพิ่มขึ้นจำนวนค่าแรงควรอยู่ที่ประมาณ 425-440 บาทต่อวัน พรรคก้าวไกลจึงได้เสนอ 450 บาท ควบคู่กับมาตรการดูแลผู้ประกอบการไปด้วย
“ยืนยันไม่ได้ขึ้นค่าแรงตามใจตัวเอง ขึ้นแบบมีหลักการ หลักสากล ตอนนี้ยังมีเวลาก่อนคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) รับรอง ดังนั้นในเวลา 2 เดือนนี้ ผมจึงต้องเดินสายทำงานให้รอบคอบ” นายพิธา กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ออกมาแนะนำภายหลังการแถลงเอ็มโอยู ที่หัวข้อในเอ็มโอยู อาจจะซ้ำกับรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีที่มา ขั้นตอน และกระบวนการในการร่างอย่างไร นายพิธา กล่าวว่าคงเป็นความกังวลใจของนายปิยบุตร ซึ่งตนก็เข้าใจ ส่วนเอ็มโอยูและรัฐธรรมนูญที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตนคิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร หรือไม่มีความเข้าใจผิดอะไร ในภาพรวม
เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสงสัยถึงความล่าช้าในการแถลงข่าวร่วมลงนามเอ็มโอยู เป็นผลมามาจากการตัดหรือเพิ่มคำรวมถึงตัดข้อที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายนิรโทษกรรมออกไป นายพิธา กล่าวว่า คงไม่ใช่แค่นั้น ตอนแรกคิดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง แต่มีความล่าช้าหลายอย่าง และมีการแก้ถ้อยคำสุดท้าย แต่ภาพรวมที่ออกมาเป็นไปได้ด้วยดี ทุกคนเห็นด้วยกับเอ็มโอยู
เมื่อถามว่า ภายหลังการลงนามเอ็มโอยู จะมีขั้นตอนอย่างไรต่อไป มีการเลือกบุคคลที่จะเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานสภา และรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ หรือยัง นายพิธากล่าวว่า ตนคิดว่าจะเป็นการเดินสายรับฟังพี่น้องประชาชนมากกว่า และจะเชิญพรรคร่วมเข้ารับฟังให้มากขึ้น เพราะต้องทำนโยบายร่วม ในการแถลงต่อรัฐสภา แต่รับประกันได้ว่าจะต้องเป็นคนที่เหมาะสมกับงาน
เมื่อถามว่าจะสามารถคืนความมั่นใจของนักลงทุนได้อย่างไร เนื่องจากภายหลังเลือกตั้งตลาดหุ้นตกลงอย่างต่อเนื่องนายพิธา กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลตอนนี้ไม่ใช่เรื่องศักยภาพของประเทศ แต่เป็นความผันผวนทางการเมือง เพราะเท่าที่ผ่านมา เคยมีพรรคการเมือง ที่ชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้เป็นนายกฯ ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่แน่นอน จึงต้องเร่งสร้างความมั่นใจ ว่าระบบการเมืองมีความแน่นอน สะท้อนเจตจำนงของประชาชน จึงจะสามารถคืนเสถียรภาพของการลงทุนกลับมาได้