วันที่ 23 พ.ค. 2566 เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ให้สัมภาษณ์ถึงแนวโน้มของส.ว.ในการโหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า ยังมีเวลาเกือบอีก 2 เดือน ยังไม่มีการหารือของส.ว.อย่างเป็นทางการ มีการแลกพูดคุย และปรึกษาหารือกัน แต่ยังไม่ถึงขนาดตัดสินใจไปในแนวทางใดชัดเจน จากการที่ตนติดตามและปรึกษาหารือในหลายกลุ่มนั้น สรุปแนวทางได้ 3 แนวทางคือ 1. เป็นส.ว.ที่ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกหรือไม่เลือก ซึ่งมีจำนวนหนึ่ง แต่ไม่มากนัก 2.เป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ ขอรอเวลาก่อน และ3.อยู่ในระหว่างการพิจารณา จะไปตัดสินใจในวันโหวต ซึ่งกลุ่มที่ 2 และ 3 ถือว่ามีจำนวนมากคงดูสถานการณ์แล้วค่อยตัดสินใจ เพราะหากตัดสินใจในวันนี้ ไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ต่างๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่ เขาจึงสงวนท่าที แล้วพิจารณาสถานการณ์ไปเรื่อยๆ แล้วไปตัดสินใจในวันโหวตเลย
ดังนั้นจึงเชื่อว่าแนวทางในการโหวตเลือกนายกฯจะมี 3 แนวทางดังกล่าว ส่วนแนวทางไหนจะมากหรือน้อยกว่ากัน ยังไม่สามารถบอกได้ แต่เชื่อเหลือเกินว่าส.ว. มีการปรึกษาหารือกันตลอด และบอกว่าการตัดสินใจครั้งนี้ มีแนวทางวิธีการที่จะโหวต เพื่อประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ และยืนยันว่าจะไม่ทำให้พี่น้องประชาชนผิดหวังแน่นอน ส่วนตนตัดสินใจจุดยืนไม่เปลี่ยนจะโหวตให้คนที่ได้รับเสียงข้างมาก
เมื่อถามว่าพรรคก้าวไกล ได้มาทำความเข้าใจกับทางส.ว.แล้วหรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า เชื่อว่ามีการพูดคุยแลกเปลี่ยนจนกระทั่งตกลงกันได้ อะไรที่เห็นว่าส.ว.ยังไม่เข้าใจ เห็นไม่ตรงกัน ควรจะสื่อสารและทำความเข้าใจกัน ส่วนของตนไม่ได้รับการประสานใดๆ แต่เขาอาจจะติดต่อกับคนบางกลุ่ม แต่ยังไม่ได้เป็นทางการ ซึ่งทราบจากเพื่อนส.ว. คนไหนที่มีกลุ่ม และรู้จักแต่ละคนก็มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน
เมื่อถามว่า ในเอ็มโอยูไม่มีเรื่องของมาตรา 112 จะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ส.ว. เลือกนายพิธา หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของส.ว. แต่ละคน ตนพยายามที่จะพูดด้วยความระมัดระวัง เพราะส.ว. แต่ละคนมีสิทธิของตัวเอง เพราะฉะนั้นใครจะพูดหรือแสดงความคิดเห็นก็เป็นสิทธิแต่ละคน ส่วนตนเห็นเอ็มโอยูแล้วรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้ติดใจอะไร และคิดว่าประเด็นเหล่านี้ยังอีกยาวไกล ที่จะนำมาพิจารณาและมีระยะเวลาในการพิจารณาอีกมาก ส่วนส.ว.ท่านใดจะตัดสินใจอย่างไร จะให้ความเห็นต่อประเด็นนี้อย่างไรตนคิดว่าเป็นสิทธิของแต่ละคน
เมื่อถามว่าการถือครองหุ้นสื่อของนายพิธา จะเป็นปัจจัยในการตัดสินใจของส.ว.หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า เท่าที่พูดคุยกันส.ว.หลายคนบอกว่าเป็นเรื่องขององค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบที่จะวินิจฉัย ส่วนส.ว.ทั้ง 250 คน แต่ละคนก็อาจจะมีประเด็นแต่ละประเด็นไม่เหมือนกัน บางคนเขาไม่ได้ติดใจอะไรเลย บางคนก็บอกชัดเจนว่าคำนึงถึงเสียงข้างมากเป็นสำคัญ แต่บางคนในการตัดสินใจก็เป็นเหตุผลของเขา ตนขอไม่ก้าวล่วง
เมื่อถามถึงการชุมนุมในเย็นวันนี้(23 พ.ค.) ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จะมีผลต่อการตัดสินใจของส.ว.หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า เชื่อว่าการเคลื่อนไหวการชุมนุมใดๆ ส.ว.รับฟังอยู่แล้ว คงไม่มีใครที่จะปฏิเสธเสียงของพี่น้องประชาชน ดังนั้นทุกเรื่อง ทุกประเด็นต่างๆ นำมาประกอบการตัดสินใจได้ทั้งสิ้น ไม่ได้มองเป็นศัตรูคู่อาฆาต หรือไม่ได้มองกันถึงขนาดว่าจะเป็นเหตุของการที่จะโหวตให้หรือไม่โหวตให้ แต่เรามองด้วยเหตุด้วยผล เพราะถือว่าการชุมนุมเป็นการแสดงออกในระบอบประชาธิปไตย แต่ในสถานการณ์และภาวะอย่างนี้การเจรจาและการพูดคุยกัน หารือกันด้วยไมตรีที่ดีจะเป็นประโยชน์ร่วมกัน
"ผมเชื่อว่าส.ว.แต่ละคนมีวุฒิภาวะ ไม่ได้ดื้อรั้นอะไร แต่ความคิดเห็นก็เป็นสิทธิของแต่ละคน และส.ว.มีตั้ง 250 คน จะให้ไปในแนวทางเดียวกันคงเป็นไปไม่ได้ ที่บอกว่า มีกลุ่มนั้นมาสั่งกลุ่มนี้ กลุ่มนี้มาส่งกลุ่มนั้น หรืออยู่ในอาณัติของคนนั้นคนนี้ ผมอยากจะบอกให้พี่น้องประชาชน คลายกังวลต่อประเด็นนี้ได้เลย ไม่มีใครมาสั่งใครในสถานการณ์อย่างนี้ และไม่มีใครมาบอกว่า อย่างนั้นเอาไม่เอา ยิ่งในสถานการณ์อย่างนี้ ความเป็นอิสระในการตัดสินใจของแต่ละคนผมถือว่าเป็นเรื่องที่สวยงามและเหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมืองในขณะนี้" นายวันชัย กล่าว
เมื่อถามย้ำว่า ในวันนี้(23 พ.ค.) ส.ว. จะมีการหารือนอกรอบเพื่อพิจารณาเรื่องการโหวตนายกฯหรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ไม่ได้มีการประชุมกันแบบนอกรอบ หรือนัดกันเป็นกลุ่มใหญ่แต่อย่างใด แต่กลุ่มย่อยเล็กๆ 10-20 คน ก็จะคุยกัน ซึ่งตั้งแต่เช้ามาก็มีการพูดคุยกันตามลำดับ แม้จะปิดสมัยประชุม แต่การประชุมกรรมาธิการแต่ละคณะ การทำภารกิจร่วมกันก็ยังมีอยู่ตลอดเวลา จึงเชื่อว่าทุกครั้งที่มีการพูดคุยกัน มีการนำเรื่องทางการเมืองมาหารือกันอยู่แล้ว ยังมีเวลาอีกเกือบ 2 เดือนในการตัดสินใจ ดังนั้นส.ว. หลายคนสงวนท่าทีที่จะตอบ ส่วนส.ว. คนใดประกาศตัวว่าเลือกหรือไม่เลือกก็ถือว่าเป็นอิสระของท่าน แต่ส่วนใหญ่บอกว่ายังมีเวลาในการตัดสินใจ