วันที่ 19 พ.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคเพื่อไทย ว่า สำหรับเอ็มโอยูที่พรรคก้าวไกล  ยื่นมาให้พรรคร่วมนั้น เป็นการลงรายละเอียดโดยยึดหลักนโยบายของพรรคก้าวไกลเป็นหลัก อาทิ คืนความยุติธรรมจากผู้ได้รับผลกระทบจากรัฐประหาร ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมืองโดยไม่รวมความผิดคดีคอร์รัปชั่น และเป็นอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย ซึ่งพรรคร่วมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่มองว่าหากผลักดันเรื่องดังกล่าว จะถูกโยงว่าทำไปเพื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และจะไม่ร่วมเซ็นในเอ็มโอยูหากมีประเด็นนี้ แต่ถ้าพรรคก้าวไกลจะเสนอในนามพรรคในวาระต่อไปก็ไม่ติดใจ

นอกจากนี้ยังมีประเด็นการยกเลิกการผูกขาดอุตสาหกรรมผลิตสุรา ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งประเด็นนี้พรรคประชาชาติ  ไม่เห็นด้วย เพราะขัดกับหลักศาสนาอิสลาม ที่เป็นฐานเสียงหลักของพรรคประชาชาติ ทั้งนี้ จากประเด็นที่พรรคก้าวไกลเสนอมาในเอ็มโอยูนั้น ทุกพรรคเห็นว่าเป็นประเด็นที่ผูกมัดบีบให้ทุกพรรคยอมรับในเงื่อนไขของพรรคก้าวไกลมากเกินไป จึงอยากให้ปรับโดยเขียนเป็นหลักการกว้างๆไว้ก่อน แล้วค่อยนำนโยบายของแต่ละพรรคมาปรับใช้ในภายหลัง อย่างไรก็ตาม เนื้อหาไม่มีการพูดถึงการแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งประเด็นนี้ทุกพรรคเห็นด้วย เพราะไม่มีใครอยากให้นำประเด็นนี้มาผูกมัดในเอ็มโอยู

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในเอ็มโอยูยังได้ระบุถึงการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี ว่าจะคำนึงถึงความเป็นธรรม เหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายพรรค ให้เกียรติ จริงใจ สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน หากใครได้ตำแหน่งรัฐมนตรีแล้วประพฤติในทางมิชอบ ต้องยุติการดำรงตำแหน่ง แต่ในเรื่องของการจัดสรรโควตารัฐมนตรีนั้น แกนนำพรรคเพื่อไทยยังไม่ได้รับการประสานอย่างเป็นทางการเข้ามาจากแกนนำพรรคก้าวไกล และยังไม่อยากให้คุยไปไกลถึงเรื่องดังกล่าว อยากให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยก่อน และแปลกใจกับข่าวที่ออกมาเช่นนี้ ไม่เข้าใจว่าคนที่ปล่อยมีเจตนาจองเก้าอี้ไว้ก่อนหรือไม่อย่างไร เพราะปกติการแบ่งโควตานั้นต้องรอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรอง ส.ส.อย่างเป็นทางการแล้วค่อยนำจำนวนส.ส.พรรคร่วมมาเฉลี่ยว่าแต่ละพรรคควรได้กี่เก้าอี้อย่างไร เช่นเดียวกับตำแหน่งประธานรัฐสภาที่ทางพรรคเพื่อไทยยังไม่ได้รับการประสานมาแต่อย่างใด