หลังเสร็จศึกเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 “พรรคก้าวไกล” ชนะการเลือกตั้ง ก้าวสู่ “พรรคอันดับหนึ่ง” ด้วยกวาดส.ส.ในมือได้ 152 ที่นั่ง แบ่งเป็นส.ส.เขต 113ที่นั่งและ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 39 ที่นั่ง
วันนี้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรค และในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้รับความชอบธรรมที่จะได้รับการเสนอชื่อต่อที่ประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตให้เป็นนายกฯคนที่ 30 โดยเวลานี้ยังอยู่ในกระบวนขั้นตอนของการ “จัดตั้งรัฐบาล” และรวบรวมเสียงยกมือสนับสนุนพิธา ให้ได้ตามรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ที่ 376 เสียง คือเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา ที่มีทั้งหมด 750 เสียง จากส.ส. 500 คนและจาก ส.ว. 250 เสียง
การเดินหน้ารวบรวมเสียงทั้งจาก “8พรรคร่วมรัฐบาล” แล้วไปบวกกับ “66 ส.ว.” เพื่อให้ได้ตัวเลข 376 เสียงของพรรคก้าวไกลนั้นจะมีเวลาดำเนินการ เป็นเวลา “60วัน”
เนื่องจากต้องรอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณา “รับรอง” ผลการเลือกตั้ง ส.ส. และมีจํานวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด (400เขตเลือกตั้ง) ซึ่งกกต.จะมีเวลาการประกาศรับรองผลไปจนถึง13ก.ค.66 โดยอยู่ในกรอบ 60 วัน ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.2561 โดยนับจากวันเลือกตั้ง14 พ.ค.
เมื่อกกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งส.ส.แล้ว ภายใน 15 วัน ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. 2561 มาตรา 121 กำหนดให้เรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก เพื่อประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมสภาฯ เลือก “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” โดยจะไปอยู่ในราวปลายเดือนก.ค.
เมื่อเลือกประธานสภาฯ เสร็จสิ้น จะไปสู่กระบวนการเลือก “นายกรัฐมนตรีคนที่ 30” ในราวปลายเดือนก.ค. ไปจนถึงกลางเดือน ส.ค. ซึ่งในขั้นตอนการโหวตนายกฯตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 และมาตรา 272 ต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา จำนวน 376 เสียง ที่มาจาก ส.ส. 500 เสียง และ 250 ส.ว.
ซึ่งตัวเลขนี้ทั้ง “8พรรค” ที่ประกาศจัดตั้ง “รัฐบาลเสียงข้างมาก” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา จะต้อง “ร่วมมือกัน” หาเสียงสนับสนุน เพื่อใช้ในวันโหวตนี้
เมื่อโหวตเลือกนายกฯคนที่ 30 เสร็จสิ้น จะไปสู่การ “ตั้งคณะรัฐมนตรี” ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯรายชื่อครม. จากนั้นครม.ชุดใหม่ จะแถลงนโยบายต่อสภาฯ
แต่ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการเลือกนายกฯและการตั้งคณะรัฐมนตรีเอาไว้แต่อย่างใด ดังนั้นหากกระบวนการขั้นตอนข้างต้น ยังไม่เสร็จสิ้น “รัฐบาลเก่า” จะทำหน้าที่รักษาการ ไปจนกว่าจะมีครม.ชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่!