วันที่ 18 พ.ค. 66 รายการโหนกระแส ดำเนินรายการโดย “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 ยังเกาะติดการจับมือจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล โดยสัมภาษณ์ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลอย่าง “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย

 

ล่าสุดเป็นเจ้าสาวเนื้อหอม?

นพ.ชลน่าน :   ถือว่าเป็นเจ้าสาวที่สวย แต่ไม่ได้มีเงื่อนไขที่จะเรียกร้องสินสอดทองหมั้นนะ เราลำดับการทำงานร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ตั้งแต่ผมเองในนามหัวพรรคเพื่อไทยได้แถลงการณ์ออกไป เราเคารพเสียงพี่น้องประชาชนที่เลือกฝ่ายประชาธิปไตย นี่เป็นเรื่องแรก เลือกก้าวไกลเป็นอันดับ 1 เลือกเพื่อไทย เป็นอันดับ 2 เลือกฝ่ายเสรีประชาธิปไตยมาเสียงท่วมท้น เราเคารพตรงนี้ก่อน สองเมื่อก้าวไกลได้ลำดับ 1 โดยหลักการ ธรรมเนียมวิธีปฏิบัติ เรายึดตรงนั้นเป็นหลัก ก็ให้ก้าวไกลเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล หมายความว่าเราก็ยินดีจะเข้าไปร่วม เมื่อเข้าไปร่วมแล้วภารกิจต่างๆ ที่จะดำเนินการก็เป็นสิทธิ์ของแกนนำ เราก็ถือว่าเป็นหน้าที่แกนนำเลย เช่น กำหนดประเด็น เงื่อนไขการพูดคุย ขั้นตอนนี้เป็นภารกิจหลักของพรรคแกนนำที่เขาทำ เราเป็นพรรคระดับรองก็รอ เมื่อวานเป็นการประชุมครั้งแรก พูดคุยปรึกษาหารือแนวทางที่เราจะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน เรามีมติชัดว่าเราจะยินดีสนับสนุนหัวหน้าพรรคก้าวไกลคุณพิธาเป็นนายกฯ ผ่านกระบวนการการเลือกตั้งในรัฐสภา สองเราใช้กลไกของบันทึกข้อตกลงร่วม หรือ MOU เป็นเครื่องมือในการพูดคุยกันว่าจะร่วมกันอย่างไร

MOU ในที่นี้คือสัญญาหรือข้อตกลงร่วมกัน?

นพ.ชลน่าน : เป็นบันทึกข้อตกลงร่วมกัน

เท่าที่ก้าวไกลแถลงนโยบาย 8 ข้อจะอยู่ในนี้ เพื่อไทยเห็นแล้วสามารถแย้งได้มั้ย?

นพ.ชลน่าน : แนวทางการทำงานร่วมกัน เมื่อเราให้สิทธิ์เขาเป็นผู้เริ่ม เขาก็ไปยกร่างบันทึกข้อตกลงมา และมอบให้พวกเราทุกพรรค ว่าลองไปช่วยพิจารณาดูบนหลักการที่บอกว่าทุกพรรคสามารถปรับปรุงแก้ไข เติมเต็มอะไรเขาก็ยินดี โดยมีคณะทำงานร่วมกันแต่ละพรรค เพื่อไทยเองก็มีคนคอยประสานงาน และมาทำงานร่วมกัน แต่ละพรรคก็ไปคุยกัน ว่าพรรคของผมต้องเติมต้องตัดอะไร เห็นด้วยอะไร ไม่เห็นด้วยอะไร มีอะไรเพิ่มเติมอยู่ในขั้นตอนนี้อยู่ ถึงเอามาพูดคุยบนโต๊ะว่าอะไรรับได้ไม่ได้อย่างไร อะไรคือความเห็นร่วม อะไรคือความเห็นต่าง อะไรที่พอปรับแก้ปรับจูนกันได้

MOU พรรคก้าวไกล อันนี้แค่คาดการณ์ เพราะจริงๆ แล้วมีการพูดเอาไว้ยกเลิกเกณฑ์ทหาร,แก้รัฐธรรมนูญ,เลือกตั้งผู้ว่าฯ,สมรสเท่าเทียม,ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ,นิรโทษกรรมคดีการเมือง,เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ,การกระตุ้นเศรษฐกิจ ดูแล้วเข้า?

นพ.ชลน่าน : มันเป็นตัวร่างที่เขาทำแล้วมาเสนอให้เราพิจารณา หลายเรื่องเราก็เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ควร เราก็เสนอไปว่าเรื่องนี้ไม่ควรนะ ยกตัวอย่าง นิรโทษกรรมคดีการเมือง เราบอกว่าตรงนี้ต้องพิจารณาให้รอบด้านนะ มันจะเป็นประเด็นกับเพื่อไทยหรือเปล่า กับพรรคที่เข้าไปร่วมหรือเปล่า เจาะลึกไปในรายละเอียด ถ้าพรรคแกนนำบอกว่าเป็นประเด็นเขาก็ยินดีถอย แต่เป็นเพียงแต่ร่างนะ เราก็มานั่งพิจารณาว่าอะไรที่ร่างนี้ควรเป็นร่างข้อตกลงร่วม ที่เราจะลงนามร่วมกัน ก็มาคุยกัน หลายเรื่องไม่ได้อยู่ในนี้ มีการพูดคุยเบื้องต้นแล้ว ไม่มีอะไรต้องผูกมัดกัน หลายเรื่องเขียนเป็นกรอบกว้างๆ ไว้เพื่อจัดทำนโนบาย ถ้าสมมติเราเป็นรัฐบาลร่วมกัน ก็จะเป็นนโยบายร่วมกัน

เรื่องกระทรวง มีในใจบ้างมั้ยของเพื่อไทย?

นพ.ชลน่าน : ขั้นตอนการพูดคุยเราไม่ได้ยึดตัวกระทรวงเป็นหลัก ก้าวไกลเขาใช้ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นตัวนโยบายที่เราจะตอบสนองความเดือดร้อนเป็นหลักซึ่งต้องมาดูกัน ตรงนี้ก็อยู่ใน MOU นี่แหละถึงจะออกไปว่าใครดูอะไรเพื่อให้ออกไปตามนโยบายที่ต้องการผลักดัน

ถ้าเห็นแล้วไม่ใช่ ไม่เอาเลย หรือช่วยกันปรับแก้?

นพ.ชลน่าน : ส่วนใหญ่ที่เขายกร่างมา ค่อนข้างเป็นกลางๆ อะไรที่ดูเห็นแย้งตรงข้ามเลยจะไม่มี ในร่างนะที่ตัวพรรคแกนนำหลักเขายกร่างจะออกเป็นกลางๆ ส่วนใหญ่นำมาพิจารณาร่วมกัน ให้สอดรับด้วยกันได้

ไม่น่าจะพลิกโผในการมาร่วมรัฐบาล?

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ : ไม่หรอกครับ เพราะตอนหาเสียงพรรคเสรีรวมไทยได้เชิญชวนพี่น้องประชาชนให้เลือกเสรีรวมไทยให้มากๆ ทั้งคนทั้งพรรค จะได้เป็นนายกฯ บริหารงานตามนโยบายที่เสนอพี่น้องประชาชน แต่เมื่อการเลือกตั้งจบมาผลเป็นอย่างนี้ เราก็ต้องยอมรับฉันทามติพี่น้องประชาชนและสิ่งที่เราพูดไปด้วย ว่าถ้าได้เสียงข้างมากเป็นนายกฯ เมื่อพรรคก้าวไกลได้เสียงมากที่สุด ก็ต้องสนับสนุนให้คุณพิธาเป็นนายกฯ เมื่อวานอย่างที่ท่านชลน่านพูด เป็นการไปคุยร่วมกันเท่านั้นเอง ไม่เคยเจออะไรกันเลย แล้วนัดแถลงข่าวก็ไม่ใช่ เมื่อวานก็ไปคุยกันก่อนว่าจะร่วมกันได้มั้ย พื้นๆ วันนี้ก็แถลงว่าจะร่วมกันเพื่อยืนหยัด ส่วนจำนวนเสียงจะพอหรือไม่พอ ตอนนี้ได้ 313 เสียง เราก็จะช่วยกัน ไม่ใช่ปล่อยให้พรรคก้าวไกลไปดำเนินการเพียงพรรคเดียว คุยกับส.ส. ด้วยกันเองที่ไม่ได้เข้ามาร่วม ไม่ว่าจะส.ส.เก่า ส.ส. ใหม่ หรือสว. ให้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลได้ เผื่อปล่อยให้พรรคก้าวไกลทำไปพรรคเดียวอาจไม่สัมฤทธิ์ผล ก็ต้องช่วยกันเพื่อให้เสียงที่พี่น้องเลือกมามากที่สุดให้มีโอกาสทำงานทางการเมืองได้

313 เสียง มีก้าวไกล เพื่อไทย ประชาชาติ ไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย เป็นธรรม เพิ่มมาอีกสองคือเพื่อไทยรวมพลัง และพลังสังคมใหม่ 313 เสียงถือว่าเสถียรมั้ย?

นพ.ชลน่าน : ความเข้มแข็งเสถียรภาพรัฐบาล ถ้าเกิน 300 ถือว่าเข้มแข็งครับ ตัวเลขที่เหมาะที่สุดคือ 300 310 ในความเห็นผมไม่ควรมากไปกว่านี้ รัฐบาลที่เข้มแข็งขนาดนี้แล้วพอ ถ้ามากไปกว่านี้เดี๋ยวจะหลุดเส้น คือที่หลายคนกังวลคือเผด็จการรัฐสภา ที่จะเป็นวาทกรรมอยู่ตลอด ใช้เสียงข้างมากผลักดันอะไรที่ฝืนกับความรู้สึกพี่น้องประชาชน ตอนนี้การเฝ้ามองการตรวจสอบ ระยะนี้ต้องให้เข้มแข็ง ถ้าเราไปรุกล้ำฝ่ายตรวจสอบมากเกินไป กระบวนการตรวจสอบในสภาจะอ่อนแอ เป็นเหตุเป็นชนวนได้ ฉะนั้น 350 ต้องคิดหนักนะว่าจำเป็นหรือเปล่า ถ้าได้ไม่ควรเกิน 320 ให้ฝ่ายตรวจสอบเขามีอย่างน้อย 170 180 ก็พอฟัดพอเหวี่ยงกันหน่อย

คุณพิธาจะได้เป็นนายกฯ หรือไม่ได้เป็น ล่าสุดสว.บางท่านไม่เอาด้วย แล้วจะมีโอกาสมั้ยในมุมเพื่อไทยที่มอง?

นพ.ชลน่าน : หลักการที่ควรจะเป็น เมื่อพรรคฝ่ายประชาธิปไตยโดยแกนนำอย่างก้าวไกล ผมเชื่อว่าเสรีประชาธิปไตยได้ 300 กว่าเสียง เหมือนเป็นเสียงข้างมากที่ค่อนข้างเด็ดขาดที่พี่น้องประชาชนมอบให้ รวมกันแล้ว 25 ล้านเสียง จาก 39 ล้านเสียงที่ลงคะแนน พอมาดูตัวบทกฎหมายที่รองรับ การเลือกนายกฯ เอาสว.มาร่วมเสียงที่โหวตก็ควรยึดหลักการนี้เป็นหลักคือเคารพเสียงข้างมากของพี่น้องประชาชน ถ้าใครรวมเสียงได้มาก เหมือนท่านอ้างปี 62 รวมเสียงข้างมากก็โหวตให้ท่านประยุทธ์เป็นนายกฯ ตอนนี้ก็ควรจะโหวตให้คุณพิธาเป็นนายกฯ จริงอยู่ สว.มีที่มาที่ไปต่างกันเยอะ ความเห็นหลากหลาย แต่การใช้เสียง 250 ไม่จำเป็น เราเคารพความเห็นต่าง แต่เรามั่นใจว่าเสียงที่เห็นด้วยมีประมาณ 60-70 เสียง มันทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าสว.กลุ่มนึงจะให้เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยที่พี่น้องประชาชนมอบให้

บางคนมองว่าเป็นกับดักรัฐบาลชุดเก่า ที่ให้สว.มาร่วมโหวต และอาจเป็นขั้วเก่าของรัฐบาลท่านประยุทธ์ อาจไม่มีการยกให้ ถ้ามีก็อาจเป็นส่วนน้อย มองยังไง?

นพ.ชลน่าน : ช่วงเริ่มต้นเพื่อสร้างความมั่นใจว่าเขาจะได้สืบทอดอำนาจต่อ เขาเขียนรัฐธรรมนูญมารองรับอย่างนั้น นี่ชัดเจนอยู่แล้ว เขาได้สืบทอดอำนาจจริงๆ แต่เมื่ออยู่แล้ว 8-9 ปีชัดแจ้ง เมื่อมีการเลือกตั้ง 14 พ.ค. พี่น้องประชาชนเขาตัดสินแล้วก็ไม่ควรย้อนลึกไปเมื่อปี 62 อันนี้น่าจะเป็นดุลยพินิจตรงนั้นมากกว่า ผมมั่นใจว่าไม่น่าใช่กับดัก ผมเชื่อว่าสว.ส่วนหนึ่งที่เห็นแก่ระบบ ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบอบรัฐสภา  เพื่อความสงบ ความเรียบร้อย การขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ระยะเปลี่ยนผ่านตรงนี้มันจำเป็นจริงๆ ผมก็ยังมั่นใจว่าเราสามารถประสานพูดคุยให้สว.หลายๆ ท่าน หรือแม้แต่ไม่พูดคุย ท่านมีดุลยพินิจตรงนี้อยู่แล้ว เข้ามาโหวตตรงนี้ได้ ผมเชื่อมั่นอยู่ ตรงนี้ท่านเสรีพูดไปแล้ว เราจะช่วยกันทำ

จำเป็นต้องไปจบที่สว.มั้ย?

นพ.ชลน่าน : โดยระบบต้องเป็นอย่างนั้นเพราะคุณเขียนรัฐธรรมนูญไว้อย่างนั้น ถ้า ส.ส.โหวต 376 คนมาโหวตให้เป็นนายกฯ ถ้าเขามาเป็นฝั่งรัฐบาลเขาก็ยินดีโหวตให้ แล้วไปคาดหวังว่าเป็นฝ่ายค้านแล้วมาโหวต

บางคนบอกว่าต้องเป็นสปิริต?

นพ.ชลน่าน : อย่าไปพูดอะไรที่เกินข้อเท็จจริง อย่าไปบีบบังคับเขาอย่างนั้น เพราะหลักการเสียงข้างมาก ระบบรัฐสภา มีเสียงข้างน้อย เราต้องการเสียงข้างมากก็แบ่งให้ชัด ถ้าเป็นเสียงข้างน้อยก็เป็นให้ชัด ไม่ใช่ก้ำๆ กึ่งๆ ในอุดมคติคิดได้ วาดฝันจะเป็นสปิริตได้แต่อย่าไปฝืนข้อเท็จจริงและไปบีบบังคับกันในเรื่องที่ดูไม่ใช่ข้อเท็จจริง ผมไม่เห็นด้วยเหมือนกัน ดังนั้นควรให้เป็นไปตามระบบดีที่สุด

ล่าสุดท่านศรีสุวรรณไปร้องวันจันทร์นี้เรื่องฝั่งคุณธนากร , คุณช่อ , คุณปิยบุตรว่าไปก้าวก่ายเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลของฝั่งก้าวไกล ท่านมองเรื่องนี้ยังไง?

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ : มองคุณศรีสุวรรณร้องไปเรื่อยและมีผลประโยชน์ตอบแทน เป็นคำพูดของเขาเองนะ เขาร้องเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้เรื่องละห้าพัน เรื่องละหมื่นสองหมื่นนะ แล้วไม่ได้เข้าบัญชีมูลนิธิองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญอะไรหรอก ผมให้กรมการปกครองตรวจสอบหมดแล้ว เป็นอย่างนี้จริงๆ ไปสถานที่ก็ปิดไม่มีใครอยู่ ไม่มีใครทำงาน เรียกการเงิน เหรัญญิกขององค์กรมาให้การต่อศาลที่ผมฟ้องคดีอาญา เขาบอกไม่มี หนูไม่รู้เรื่องเลย เงินได้มาคุณศรีสุวรรณก็เอาไปหมด อะไรต่างๆ แล้วกรมการปกครองก็ให้ทางนี้ชี้แจง ทางนี้ก็ดึงไปดึงมา กรมการปกครองตอบรับกับผมว่าจะให้เสร็จวันที่ 10 มี.ค. พอยุบสภาก็ยังเอื่อยอยู่ เดี๋ยวผมจะตามเรื่องอธิบดีกรมการปกครองว่าจะยุบไม่ยุบ ถ้าไม่ยุบมีเรื่อง ส่วนคดีอาญา ศาลประทับรับฟ้องไว้แล้ว

เขาควรไปร้องมั้ย?

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ : เราไปห้ามเขาไม่ได้ แต่ผู้ที่ถูกร้องควรใช้กฎหมายบ้าง สังเกตสนธิญา สวัสดี ตอนนี้ไม่ยุ่งกับเสรีเลย เพราะถูกเสรีฟ้อง จำคุก ผมไม่เคยฟ้องเอาเงินใครนะ ผมฟ้องเอาเงินด้วย ศาลพิพากษาให้เงินผม 2 ล้าน ตอนนี้ไม่กล้ามาจยุ่งกับผมอีกเลย อย่างศรีสุวรรณโดนผมก็ไม่กล้ายุ่งกับผม คนอื่นใช้กฎหมายบ้าง เราไม่ต้องไปตบปากเขา ไม่ต้องไปโน่นไปนี่อะไรหรอก

ท่านตามข่าวตลอด เป็นแฟนคลับ?

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ : ไม่ต้องตามหรอก ข่าวมันออกเผยแพร่ไปหมด ไม่ใช่เอฟซี (หัวเราะ) ไม่อยู่ในสายตาเลยคนนี้ มันควรจบชีวิตไป พ้นจากวงจรต่างๆ นี้ไป ไม่งั้นสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้คนโน้นคนนี้

ถ้าคุณศรีสุวรรณไปร้องคุณช่อ คุณธนาธร คุณปิยบุตร ทั้งสามท่านควรฟ้องกลับเหมือนกัน?

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ : ฟ้องศาลเร็วกว่า ไปแจ้งความบางทีตร.ก็ช้า หรือไม่กล้า ก็แล้วแต่ บางทีก็อาจคิดว่าคุณศรีสุวรรณมีพรรคไหนสนับสนุน ก็ไม่กล้า ไปฟ้องศาลเลยดีกว่า

ฝั่งก้าวไกลไว้วางใจท่าน ดึงท่านมาเป็นพรรคร่วม ถ้าวันนี้ท่านเลือกได้ อยากดูแลตรงส่วนไหนของฝั่งรัฐบาล?

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ : เรียนตรงๆ ว่าครั้งนี้กระแสมันแรง ผมหวังว่าจะได้สัก 10 ที่นั่งมาช่วยพรรคประชาธิปไตย แต่ได้แค่เพียงหนึ่ง แต่หนึ่งยังไงก็ช่วย แต่เราจะไปเรียกร้องเอาโน่นเอานี่ไม่เหมาะสม อยู่ที่อำนาจผู้ที่จะเป็นนายกฯ เขาจะดำเนินการอย่างไร ทุกคนนะ ทีนี้ในอดีตนายกฯ จะแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งต่างๆ ใครเอาเสียงข้างมากมาได้ จำนวนส.ส.มีกี่คน  ก็เอารัฐมนตรีไป คนนี้เป็นส.ส.กี่สมัยแล้ว ก็เป็นรัฐมนตรีไป ผมเรียนตรงๆ จากที่มีประสบการณ์ส.ส.แค่เพียงสมัยเดียว พวกนี้เป็นนักเลือกตั้ง เลือกตั้งทีไรก็ชนะทุกที แต่จะมาเป็นรัฐมนตรี บริหารประเทศชาติมันไม่ได้ นี่คือจุดอ่อนของประเทศเราเป็นแบบนี้ ยกตัวอย่างคุณประยุทธ์ตั้งรัฐบาลคราวที่แล้ว เอาพรรคโน้นพรรคนี้มาร่วม เขายึดกระทรวงใหญ่หมดเลย คุณประยุทธ์ก็ไม่กล้า คุณประยุทธ์ก็เป็นนายกฯ ไม่ได้ คุณประยุทธ์ก็เห็นแก่ตัว ขอให้กูอยู่ได้เถอะ

อุ้ย?

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ : ไม่ต้องอุ้ย (หัวเราะ) คุณประยุทธ์เห็นแก่ตัว เพื่อให้ตัวเองอยู่ได้ ประเทศชาติจะเป็นยังไงช่างมัน คนนี้จะเหมาะสมไม่เหมาะสม คนนี้จะทุจริตไม่ทุจริต เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น บ้านเมืองถึงมีปัญหา ฉะนั้นก้าวไกลจะจัดรัฐบาล ต้องจัดแนวใหม่ ต้องดูพรรคร่วม พรรคตัวเอง ใครมีความรู้ มีประสบการณ์ด้านไหน ก็ต้องใช้คนให้เหมาะ ก็ดูสิ คุณหมอชลน่านมีความรู้ความสามารถด้านไหนก็ว่าไป ของผมทางไหนก็ว่าไป แม้แต่พรรคก้าวไกลเองเป็นบุคคลใหม่เยอะแยะเลย เอาเด็กขึ้นมา จะเอาตามโควตาตั้งๆ ไปเหรอ เอาคนไม่เจป็นไปทำงานเหรอ คุณก็ควรดูทุกพรรค เขามีความรู้ความสามารถด้านไหน

แล้วท่านล่ะ?

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ : บอกตรงๆ หนึ่งไม่เรียกร้อง สองไม่เป็นก็ได้ สามให้คนในพรรคเป็นแทน แต่ถ้าถามความรู้ความสามารถของผม จะไปบอกผมเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นไปไม่ได้หรอก ไม่เหมาะ ผมจะเหมาะก็เกี่ยวกับความมั่นคง

บู๊ๆ เสรีมีไว้ลุย?

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ : (หัวเราะ) แล้วผมลุยจริงๆ ไปดูประวัติผมตั้งแต่ร้อยตำรวจตรี จนถึงพลตำรวจเอก แล้วเป็นส.ส. ผมก็ลุยหมดนะ ถ้าถามก็เกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก ถ้าจะให้ผมผิดกับงานก็เกิดประโยชน์เหมือนกัน ผมเป็นคนขยัน ทำงานให้พี่น้องประชาชนตลอด แต่ถ้าจะให้ได้ประโยชน์มากกว่า ก็เกี่ยวกับความมั่นคง ไม่ว่าจะตร. ทหาร มหาดไทย ยุติธรรม ได้หมด แต่ถ้าเป็นต่างประเทศ พลังงาน อันนี้ไม่เหมาะสมหรอก คมนาคม ก็ไม่เหมาะหรอก แต่ก็เป็นได้ เพราะเราบริหารจัดการ เราเคยเป็นผู้บริหารมาแล้ว โดยเฉพาะผม เรื่องประหยัดผมถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลทุกรัฐบาล ไม่ประหยัดปล่อยให้กระทรวงทบวงกรมต่างๆ เสนองบขึ้นมา จนเกินงบ เกินภาษีที่เก็บได้ เลยต้องไปกู้ๆ ผมถึงบอกว่าคนเป็นนายกฯ คนต่อไปต้องกล้าที่จะแก้งบประมาณต่างๆ ที่เสนอมา ไม่จำเป็นต้องตัดๆ แล้วทำมาใหม่ถึงเข้าสภา ถ้าหลับหูหลับตาเซ็นเข้าสภาเลยปัญหาก็เกิด

เคยมีอย่างนั้น?

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ : ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเอาตรงๆ ตอนนี้ไม่มีศึกสงคราม คุณจะซื้อทำไมรถถัง 20 คัน

อุ้ย ?

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ : อุ้ยอีกแล้ว เรือรบ เรือดำน้ำทั้งหลาย เทคโนโลยีสูงสมัยนี้ ไม่ต้องมีเครื่องก็เดินได้ ซื้อทำไม ผมใช้อำนาจนายกฯ ตัดๆ ออก เอาเงินพวกนั้นมาทำโครงการต่างๆ ให้พี่น้องประชาชนไม่ดีกว่าเหรอ

สร้างรพ.อย่างนี้?

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ : ทุกอย่างที่อยู่ในนโยบายทุกพรรค

เรือดำน้ำ?

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ : ตัด บางทีขายทิ้งด้วยซ้ำไป ใครจะรับซื้อเศษอีก (หัวเราะ) ก็มีเรื่องอื่นๆ อีกตั้งเยอะ สมัยก่อนมีปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ มีกองทัพ 4 ภาค จากนั้นอยากได้ยศตำแหน่งขึ้นมาก็ตั้งกองทัพน้อยขึ้นมาอีก 4 ภาค มีตั้งแต่ยศพลโท ถึงพลทหาร เปลืองกำลังพล เปลืองงบบำเหน็จบำนาญต่างๆ อยากให้ทหารมียศตำแหน่งก็ผู้เชี่ยวชาญผู้ชำนาญการ ผู้ทรงวุฒิเยอะแยะไปหมด ผมยังพูดในกองทัพ เอาหินขว้างไปก็โดนกบาลนายพลเยอะแยะไปหมด ไปดูสิทำงานที่ไหน เปลือง ดังนั้นต้องกล้าตัดกล้าลดกำลังพลโน่นนี่ ไม่ใช่เฉพาะทหารนะ ต้องทำทุกหน่วย เดี๋ยวทำเฉพาะทหาร หาว่าไม่เป็นธรรมอีก รังแกทหาร ไม่ใช่ นี่เป็นเรื่องประเทศชาติ ต้องช่วยกันแก้ไข ช่วยกันประหยัด ใช้เงินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

พี่หมอก็มองยังไง คิดว่าความรู้ความสามารถส.ส.ของพรรค น่าจะแก้ไขจุดไหนให้ประเทศชาติ?

นพ.ชลน่าน : คำถามคล้ายล้วงว่าจะเอากระทรวงไหน รู้ทันนะ แนวที่เราเสนอเป็นนโยบาย เพื่อไทยชัดในผลสำฤทธิ์ที่เราจะนำเอาไปใช้ และขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้ให้ไปเป็นนโยบายรัฐบาลให้ได้ แต่ก็ต้องขึ้นกับพรรคแกนนำเขา ว่าเขารับนโยบายเราได้ขนาดไหนอย่างไร ถ้าเขารับได้ ก็มาดูว่าบุคคล บุคลากร เหมาะสมสอดคล้องกับนโยบายที่เราเสนอ ก็มาจัดเป็นบุคคลและกระทรวง ต้องปิดเรื่องเราจะเอานั่นเอานี่ก่อนนะ เราพยายามยืนยันว่าเราไม่มีเงื่อนไข เดี๋ยวจะเป็นการต่อรองเกินเหตุ ไปฝืนมติมหาชน ไปเอาโน่นเอานี่ ต่อรองไม่สำเร็จก็แตกกัน เราพยายามลดตรงนี้ให้มากที่สุด ความมุ่งหมายคือเป็นรัฐบาลให้ได้ ทุกฝ่ายต้องหันหน้ามาจับมือกัน โดยเฉพาะพรรคแกนหลักกับระดับรองต้องจับมือกันไปให้ได้ บนพื้นฐานและเงื่อนไขที่คนรับได้ หลายคนคาใจว่าเพื่อไทยจะรับข้อเสนอก้าวไกลมาตรา 112 หรือไม่อย่างไร ถามกันบ่อยมาก ท่านเสรีก็มีจุดยืนของท่าน ผมชอบท่านนะ พูดเรื่องนี้ชัดมาก เพื่อไทยก็พูดหลายครั้งมากเกี่ยวกับความเห็นเรื่อง 112 แต่สิ่งสำคัญสุดเราต้องคำนึงหลักไว้ก่อน เช่น มาตรานี้เขาต้องการขึ้นมาปกป้องคุ้มครององค์พระมหากษัตริย์และรัชทายาท ฉะนั้นทุกคนมีความเห็นร่วมตรงนี้ อย่าถามว่ามีหรือไม่มีเลย เพราะหลักมันเป็นอย่างนั้น มันต้องมี สำหรับประเทศเรานะ ถ้ามี มีอย่างไร อะไรเป็นประเด็น เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ฉะนั้นก็อยู่ในข้อตกลง เงื่อนไขร่วมนั่นแหละพอทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าขับเคลื่อนไปได้ ไม่กระทบกระเทือน ไม่ไปยกเลิก ไปหักล้างในสิ่งที่อีกพรรคเสนอก็จะเป็นแนวนั้น  นี่ยกตัวอย่างง่ายๆ การพูดคุยมี 3 เรื่อง เรื่องที่หนึ่งเห็นพ้องต้องกัน ไปเลย เรื่องที่สองมีความเห็นต่าง แต่มีแนวโน้มพูดคุยเจรจากันได้ ประเด็นสาม ประเด็นเห็นต่าง ถ้าเห็นต่างแล้วจะเป็นเงื่อนไขไม่ร่วมรัฐบาลเหรอ ไม่ใช่ เพราะถึงขนาดนี้เราปฏิเสธตรงนี้ไม่ได้ เห็นต่างแล้วเราจะมีวิธีการอย่างไรเป็นความเห็นร่วมให้ได้ เช่นมีความหลากหลายมากของความเห็นต่าง ทั้งพรรคและมวลชนเอง 112 เห็นต่างเยอะมาก ง่ายๆ หาเวทีกลางเข้าสู่สภา อะไรที่เหมาะสมที่สุด อะไรที่เกิดประโยชน์กับประเทศและสถาบันมากที่สุด ต้องยึดตรงนั้นไว้ก่อน อะไรที่เกิดกับพี่น้องประชาชนมากที่สุด ปัญหาอะไรที่ต้องแก้เร่งด่วน อะไรทำได้ก็ต้องทำ 

คุณจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือนปช. ท่านออกมาพูดว่าให้คุณพิธาจับตาดูว่าพรรคเพื่อไทยจะซื่อสัตย์กับพรรคก้าวไกลและประชาชนจริงหรือไม่ ถ้าซื่อสัตย์จริงอย่างน้อยก็จับมือรวมกลุ่มกันไปก่อน โอกาสจัดตั้งรัฐบาลได้ก็สูง และควรต้องลงนามทำ MOU เสีย แต่สุดท้ายเชื่อว่านี่เป็นเพียงละครฉากแรก ส่วนตัวเชื่อว่าจะมีพรรคร่วมฝ่ายค้านรวมตัวกันไปจับมือกับพรรคฝ่ายรัฐบาลเดิมเพื่อชิงรัฐบาลใหม่ พี่มองยังไง?

นพ.ชลน่าน : ก็เป็นความเห็นคนๆ นึง เราห้ามความเห็นเขาไม่ได้ แต่ก็ยืนยันว่าเราเองก็มุ่งชัดจะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ขั้นตอนไปถึงขนาดนี้ ทำ MOU คุยรายละเอียดกันแล้ว วันที่ 22 จะแถลง MOU ร่วมกัน  313 ที่นั่งก็จะเซ็นวันที่ 22 ประกาศเลย จะเรียก MOU หรือสัตยาบรรณอะไรก็ได้ แล้วแต่ประสงค์ แต่ในนั้นก็จะมีเงื่อนไขที่จะมัดกันไว้ ตกลงกันไว้ว่าเราจะทำอะไรร่วมกัน โดยเฉพาะประเด็นที่เราบอกว่าเราจะให้คุณพิธาเป็นนายกฯ ให้ได้ ผ่านกลไกการเลือกในที่ประชุมรัฐสภา เราก็ต้องช่วยกันตรงนี้ ต้องทำให้ได้ เรามั่นใจว่าต้องทำได้ด้วย แต่ว่ากลไกการเลือกนายกฯ เขาเขียนมาในบัญญัติรัฐธรรมนูญ สมมติเราทำถึงที่สุดแล้ว มันมีลักษณะการเลือกไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้เป็นประเด็นๆ ไป

ถ้าสมมติวันนั้นคุณพิธาเข้าไปสู่การโหวต แล้วมีคนไม่โหวตให้เสียงไม่ถึง คุณพิธาอาจไม่ได้เป็นนายกฯ แล้วจะทำยังไงต่อไป?

นพ.ชลน่าน : การโหวตครั้งนั้นก็จบไป ผลสรุปคือผู้ถูกเสนอชื่อ สมมติเป็นคุณพิธา ก็ไม่ได้รับเลือกจากรัฐสภา ขั้นตอนต่อไปรัฐธรรมนูญก็เปิดอีกว่า สามารถเสนอชื่อบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อให้รัฐสภาลงความเห็นได้อีก เช่นพรรคร่วมเรายังคงจับมือกันแน่นเหมือนเดิม ก็ไปดูว่ารัฐธรรมนูญเขาให้โอกาสใคร ก็ไปดูรายชื่อแคนดิเดตที่พรรคการเมืองเสนอชื่อไปโหวตเป็นครั้งที่สอง สมมติโหวตที่สองก็โหวตไม่ได้ ถ้าการจับมือกันไม่เปลี่ยน ครั้งที่สาม สมมติมีแคนดิเดตมีรายชื่อ 4 คน คุณพิธา พรรคก้าวไกล เพื่อไทย 3 คน มีแค่นี้ พรรคอื่นไม่สามารถเสนอได้ เพราะมีไม่ถึง 25 เขาไม่ให้สิทธิ์เสนอ สิทธิ์เสนอก็มีอยู่ 4 คน คนที่หนึ่งไม่ได้ คนที่สอง สาม สี่ ไม่ได้ ก็เปิดช่อง ถ้ารัฐสภายินยอมให้บุคคลที่ไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีมาถูกเลือกเสนอชื่อโหวตเป็นนายกฯ ได้ก็มาดำเนินการ แต่เสียงต้อง 2 ใน 3 ก็เป็นคนนอกบัญชี จะเป็นส.ส. หรือท่านเสรีก็ได้ ถ้าผ่าน 2 ใน 3 ก็เข้าสู่กระบวนการเสนอชื่อเลือกนายกฯ ต่อ ก็ต้องเป็นชื่อบุคคลภายนอกบัญชีของพรรคการเมือง ผมเน้นนะนอกบัญชีพรรคการเมืองอาจไปเชิญส.ส. หรือสว. ขึ้นมาเป็นตัวเลือกให้โหวต สมมติมติที่ประชุมโหวตรับก็จบ แต่ถ้าไม่รับก็ต้องหาไปเรื่อยๆ อย่างนี้ มันก็เลยมีคำว่ารัฐบาลรักษาการได้ยาวไปจนกว่าจะโหวตนายกฯ ได้ หนุ่มถามว่ามีสิทธิ์เปลี่ยนข้างมั้ย สมมติข้างเราทำไม่ได้ เกิดมีการเสนอชื่ออีกฟากนึงเข้ามาแข่งกับเราในการโหวตแต่ละครั้ง เกิดไปโหวตที่เขา เขาก็ได้เป็นนายกฯ

เขาคืออีกฝั่งนึง?

นพ.ชลน่าน : ใช่ครับ

สมมติเสนอท่านประยุทธ์?

นพ.ชลน่าน : เขามีสิทธิ์นะ เพราะเขาได้รับเกิน 25 แต่เขาได้รับการโหวตเป็นนายกฯ ก็จริง แต่จะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ถ้าเขาบอกเป็นนายกฯ แล้วจะเรียกใครมาเป็นรัฐบาลก็ได้ แล้วจะมีพรรคไหนไป ก้าวไกลไปมั้ยโน เพื่อไทยไปมั้ย ไม่

ท่านไปมั้ย?

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ : ไม่ไปอยู่แล้ว บอกไม่เอากันอยู่แล้ว

นพ.ชลน่าน : ถ้าคุณได้นายกฯ จริง คุณเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย คุณบริหารประเทศไม่ได้ แค่งบประมาณไม่ผ่านวาระหนึ่งก็จบแล้ว ทำเพียงแต่ว่ารอยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ดึงไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่มีประโยชน์กับประเทศ นี่คือกลไกมันเป็นอย่างนี้ จะหาว่าเล่นละครคงไม่ได้ สมมติเขาไม่โหวตเลือกคุณพิธา พรรคร่วมที่จับมือด้วยกันเห็นพ้องต้องกันที่จะส่งแคนดิเดตนายกเพื่อไทยขึ้นไปเป็นนายกฯ ภาพอย่างนี้คือไม่จำเป็นเพื่อไทยต้องเป็นแกน มันคือพรรคร่วมเดิม แต่เลือกนายกฯ จากเพื่อไทย การพูดคุยประเด็นอื่นๆ ก็ยังคงเดิมอยู่ นี่คือภาพที่น่าจะเป็นธรรมชาติมากที่สุด ประเด็นนี้ไม่มีการตกลงกัน เพราะเรามั่นใจ หน้าที่เราต้องผลักดันให้เลือกนายกฯ ให้ได้ ถ้าเลือกไม่ได้ถึงมาคุยกันใหม่ ต้องเน้นย้ำว่าไม่ใช่ละคร เพราะจุดมุ่งหมายของเราคือโหวตเลือกนายกฯ ให้ได้ ถ้าโหวตไม่ได้ หรือโหวตได้แต่ไปต่อไม่ได้ก็เป็นอีกเรื่องนึง นั่นคือสิ่งที่เราจับมือร่วมกันแล้ว

ท่านดุมั้ย?

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ : ไม่ดุ เฉพาะเจ้าพ่อ มาเฟีย ไม่เคยยอม กวาดล้างแน่นอน ไปดูได้ยาเสพติดเป็นศูนย์จริงๆ ไปดูในนโยบาย แล้วคอยดูแล้วกัน อย่างปืนมีนโยบายเก็บอาวุธหยุความตาย เซอร์เบียทำแล้ว เก็บหมดทั้งประเทศเลย หลังจากมีการกราดยิงสองครั้ เรากราดยิงมาสองปีที่หนองบัวลำภู ยังไม่ทำอะไรเลย เรามีนโยบายเก็บอาวุธหยุดความตาย