ศมข.สุราษฎร์ธานี ผลักดันศูนย์ข้าวชุมชนระดับจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ลดต้นทุนการผลิต บนวิถีดั่งเดิมในการปลูกข้าวหอมไชยา

ข้าวเป็นสินค้าเกษตรหลักที่สำคัญของประเทศ โดยเป็นอาหารหลักของคนในชาติ การที่จะปลูกข้าวให้ได้ผลดีมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งคุณภาพของดิน ปริมาณน้ำและเทคโนโลยี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ เมล็ดพันธุ์ดี ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ให้ผลผลิตเฉลี่ยสูง ต้านทานต่อโรค แมลงศัตรูพืช และได้เมล็ดข้าว ที่มีคุณภาพดีตรงกับความต้องการของตลาด และวันนี้ทางศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานีได้พามาที่ ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลโมถ่าย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และยังเป็นศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยาของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา ที่มีการปลูกข้าวหอมไชยา ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวท้องถิ่นของจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีชื่อเสียงมายาวนาน โดยมีเอกลักษณ์ในเรื่องของความหอม ความนิ่ม ความอร่อย แต่ในปัจจุบันมีพื้นที่การปลูกน้อยลง เพื่อไม่พันธุ์สูญหายไป กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา จึงได้อนุรักษ์และสืบทอดเป็นมรดกของชาติสืบต่อไป

นายพูนศักดิ์ สาระคง ประธานศูนย์ข้าวชุมชนระดับจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า เกษตรกรในพื้นที่ ตำบลโมถ่าย อำเภอไชยา สุราษฎร์ธานี มีการปลูก “ข้าวหอมไชยา” ข้าวพันธุ์ดีพื้นเมืองสุราษฎร์ธานี เพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองมาอย่างยาวนาน ผ่านการขับเคลื่อน “โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)” และโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมและพัฒนาการผลิตข้าวหอมไชยามาขยายผลสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างการพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และการลงมือปฏิบัติจนกลายเป็นวิถีชีวิตประจำวัน แต่ปัจจุบันมีการปลูกข้าวน้อยลง หันมาปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่ ทางศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี กรมการข้าว ได้เข้ามาส่งเสริม สนับสนุน ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมไชยาไว้ใช้เอง จึงอนุรักษ์และสืบทอดเป็นมรดกของชาติ ได้มีการรวมกลุ่มและขยายพื้นที่ในการปลูกข้าวหอมไชยา ศึกษาพัฒนาข้าวหอมไชยา จนได้มาตรฐาน GAP จัดตั้งเป็นธนาคารข้าวหอมไชยา ศึกษาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมข้าวหอมไชยา รวมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ข้าวหอมไชยาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อปลูกข้าวรักษ์โลกในรูปแบบเกษตรยั่งยืน

ศูนย์ข้าวชุมชนระดับจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการดำเนินงานกิจกรรมต่อเนื่องในลักษณะการบริหารจัดการแบบชุมชน มีส่วนร่วม “โดยชาวนา เพื่อชาวนา” ภายใต้การกำกับดูแลของกรมการข้าว โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์สุราษฎร์ธานี ได้มีการเข้ามาดูแล คอยเป็นพี่เลี้ยงมอบองค์ความรู้ เพิ่มศักยภาพการผลิต รวมถึงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีการปลูกน้อยลง ให้คงอยู่คู่เกษตรกรไทยในพื้นที่การดูแลของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานีต่อไป

นายสันติภาพ ทองอุ่น หัวหน้ากลุ่มถ่ายทอดวิทยาการผลิตเมล็ดพันธุ์ดี ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี ได้มีการดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง และสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันมีพื้นที่การดูแลของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี มีการปลูกข้าวน้อยลง จึงเข้ามาส่งเสริมดูแลในการปลูกข้าวให้คงอยู่คู่เกษตรกรไทยต่อไป ในการเข้ามาส่งเสริมศูนย์ข้าวชุมชนในแต่ละจังหวัด โครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ด้านการลดต้นทุนการผลิตข้าว พร้อมโครงการอื่นๆของภารกิจในฐานะกรมการข้าว ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชาวนาและผลงานทางวิชาการด้านข้าว ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชาวนาที่เกี่ยวข้อง ในการสร้างความตระหนักรู้ในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว การลดต้นทุนการผลิตข้าว การเพิ่มผลผลิต การยกระดับคุณภาพ การสนองความต้องการของตลาด การผลิตข้าวที่ปรับตัวและการดูแลสิ่งแวดล้อม

รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชนให้มีความเข้มแข็ง พัฒนาขีดความสามารถในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ได้รับการพัฒนาด้านการผลิต ส่งผลให้เกิดการยอมรับและเพิ่มโอกาสการแข่งขันในตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการของชาวนาในชุมชนและของประเทศ อีกทั้งมุ่งเน้นการสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายอย่างเป็นระบบมากขึ้น รวมทั้งผลักดันให้ศูนย์ข้าวชุมชนมีส่วนร่วมในดำเนินงานเชิงนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในระดับพื้นที่มากขึ้น

แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าข้าวคุณภาพดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ผลผลิตเฉลี่ยข้าว ยังมีผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ต่ำ สาเหตุหนึ่งมาจากการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรเก็บไว้เองหลายรอบ ซึ่งมีคุณภาพต่ำ การที่จะปลูกข้าวให้ได้ผลดีมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งคุณภาพของดิน ปริมาณน้ำ และเทคโนโลยี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมล็ดพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ยสูง ต้านทานต่อโรค และแมลงศัตรูพืช ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีตรงต่อความต้องการของตลาด เกษตรกรสนใจเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี ตำบลท่าอุแท อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กลุ่มพัฒนาธุรกิจเมล็ดพันธุ์ 077-259330 , 065-424415 , 091-0423814