วันที่ 16 พ.ค. 66 นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่กระแสสังคมกดดันการตัดสินใจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยให้เคารพฉันทามติของประชาชนที่สะท้อนจากผลเลือกตั้ง ว่า ตนขอให้ความเป็นธรรมกับส.ว. ด้วย เนื่องจากกระบวนการเลือกนายกฯ ในที่ประชุมรัฐสภานั้น ยังมีขั้นตอนและต้องใช้เวลา ทั้งการรับรองผลการเลือกตั้งส.ส.ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีกรอบเวลา 60 วัน ซึ่งตนเชื่อว่ากกต. จะตรวจสอบเรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จ คงไม่ปล่อยให้เข้าสภาฯ แล้วสอยทีหลังแน่นอน จากนั้นเป็นกระบวนการของการเปิดประชุมสภาฯงานรัฐพิธี หลังรับรองผลเลือกตั้ง 15 วัน จากนั้น ไม่เกิน 7 วัน ต้องประชุมเพื่อเลือกประธานสภาฯ ต่อจากนั้นคือการเลือกนายกฯ ซึ่งเชื่อว่าจะมีเวลาอีก 2 เดือน ดังนั้น จนถึงขณะนี้ ยังไม่ถึงขั้นตอนและไม่ทราบชัดเจนว่า จะเสนอชื่อใครเข้าสู่รัฐสภาให้ลงมติ ทราบแค่ความเคลื่อนไหวต่อการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้พรรคก้าวไกลดำเนินการไปก่อน และสูตรจัดตั้งรัฐบาลยังไม่นิ่ง

“กรณีที่สังคมกดดัน ทำโพลออนไลน์นั้น ผมมองว่าเป็นโพลวิชาการทำได้ แต่จะส่งผลให้ส.ว. ต้องปฏิบัติตามนั้นหรือไม่ ผมเชื่อว่ากดดันไม่ได้ เพราะส.ว. มีวุฒิภาวะ ดังนั้น หากไม่เห็นกระรอก อย่าเพิ่งโกร่งหน้าไม้ ยังมีเวลาอีกหลายเดือน ฐานะส.ว. ที่มีสิทธิโหวตนายกฯ แต่ไม่มีสิทธิเสนอ หากสภาเสนอมา ซึ่งไม่รู้ว่าจะใช่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯจากพรรคก้าวไกล หรือเป็นน.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯจากพรรคเพื่อไทย หรือเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯจากพรรคเพื่อไทย ส.ว.พร้อมพิจารณา เพราะการโหวตของส.ว. หรือของผมไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องเป็นขั้วอำนาจเดิม แต่หากวันนี้ เสนอมาแบบนี้ เป็นไปได้ว่าส.ว. จะโหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯ ส่วนจะได้ 60-70 เสียงหรือไม่ ผมตอบไม่ได้ แต่เป็นไปได้ทั้งหมด” นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวต่อว่า สำหรับสูตรตั้งรัฐบาล 309 เสียง ต้องพิจารณาถึงการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ก่อน ซึ่งหลังการเลือกตั้งปี 62 นั้น พบว่ามีการแข่งขันตั้งรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย เสนอนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดิเดตนายกฯจากพรรคอนาคตใหม่ ดังนั้นหากขั้นตอนตกลงเรื่องนโยบาย หากตกลงไม่ได้ เจรจาเก้าอี้รัฐมนตรีไม่ลงตัว อาจมีการสลับกันได้ ดังนั้น การใช้กระแสกดดันให้ส.ว. แสดงท่าทีนั้น ไม่มีประโยชน์ ส่วนกรณีที่ส.ว. บางคนพูดว่า สภาฯ ต้องรวมเสียงกันให้ได้ 376 เสียง จะได้ไม่พึ่งเสียงส.ว. ตนมองว่าเป็นเพียงการพูดตามเกณฑ์กึ่งหนึ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดซึ่งเป็นหลักการทั่วไป

เมื่อถามว่า สังคมตั้งข้อสังเกตว่าส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง จะไม่โหวตให้ขั้วฝ่ายค้านเดิม นายสมชาย กล่าวว่า สำหรับตนที่เป็นส.ว. มานาน ทำงานมาหลายรัฐบาล ไม่เคยมีปัญหากับการทำงานร่วมกัน ไม่ว่าฝ่ายค้านเดิมหรือรัฐบาลเดิมต้องพิจารณา ซึ่งตนมีหลักในการพิจารณาเลือกนายกฯ ทั้งมีความซื่อสัตย์ สุจริต มีวิสัยทัศน์นำพาประเทศไปสู่การพัฒนา มีความรอบรู้ นอกจากนั้น ต้องดูบริบทรอบข้าง คือการวางตัวรัฐมนตรี และกลุ่มของพรรคการเมือง ส่วนความเห็นของส.ว.แต่ละคนนั้นเป็นอิสระ 

“สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไป คือคะแนนนิยมของประชาชนที่สนับสนุนพรรคการเมือง หากรวมกันเสียงเด็ดขาดส.ว.ต้องยอม แต่หากรวมกันเสียงก้ำกึ่ง แต่หากแบ่งฝ่ายที่เท่ากัน ส.ว.มีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่บังคับให้ทำหน้าที่ ดังนั้น อย่าบังคับให้เลือกชื่อคนที่คุณเชียร์ ฉันทามติของใครเลือกพรรคไหน เพราะผลเลือกตั้ง ประชาชนลงคะแนนให้ทุกพรรค ดังนั้น ขอให้แฟร์ๆ” นายสมชาย กล่าว