บรรดาสำนักข่าวต่างประเทศ อาทิ เอเอฟพี เอพี รอยเตอร์ส บีบีซี ซีเอ็นเอ็น เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ และบลูมเบิร์ก ต่างพากันรายงานสถานการณ์การเลือกตั้งทั่วไป 2566 ของไทย ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.นี้ ภายหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา

โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งจะมีขึ้นระหว่าง 08.00 – 17.00 น. จะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวไทยที่มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 52 ล้านคน ได้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เพื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ชุดที่ 26 จำนวน 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ จำนวน 100 คน จากจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ที่ผ่านการรับรองของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต. จำนวนทั้งสิ้น 1,880 คน จากพรรคการเมือง 67 พรรค และผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจำนวน 4,710 คน จากพรรคการเมือง 70 พรรค

ทั้งนี้ มีเพียง 2 พรรคการเมืองเท่านั้น ที่ส่งผู้สมัครครบ 500 คน ได้แก่ พรรคเพื่อไทย หรือพท. และพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือรทสช.

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการเลือกตั้งทั่วของไทยครั้งนี้ บรรดาสำนักข่าวต่างประเทศ ระบุว่า เป็นการต่อสู้กันของกลุ่มพรรคฝ่ายค้านสำคัญ กอปรด้วยพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล กับกลุ่มพรรคการเมืองฝั่งอนุรักษ์นิยม ที่นำโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ เป็นต้น ท่ามกลางกระแสการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่และพรรคฝ่ายค้านที่ต้องการขับเคลื่อนตามแนวคิดปฏิรูปสังคม

โดยสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานในประเด็นนี้ว่า คนรุ่นใหม่จะเป็นกลุ่มหัวหอกสำคัญในการเรียกร้องที่สร้างความสั่นสะเทือน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในราชอาณาจักรของไทยที่มีทหารเป็นใหญ่

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ผู้สมัคร ส.ส.หลายคนของฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล เคยเป็นผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยและการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เมื่อปี 2020 (พ.ศ. 2563) โดยในประเด็นนี้ ทางเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ เรียกผู้สมัคร ส.ส.เหล่านี้ว่า นักเคลื่อนไหวที่หันจากการประท้วงมาสู่หีบเลือกตั้ง พร้อมกับระบุด้วยว่า หากบรรดาผู้สมัครฯ เหล่านี้ ได้รับเลือกตั้ง ก็จะนำประเด็นที่เคยเรียกร้องตามท้องถนนไปสู่สภา

ทางด้าน ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงศ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เหมือนไหนๆ และมีความสำคัญมากที่สุด เพราะมีการขับเคลื่อนในวาระต่างๆ แบบยกระดับ และเข้าถึงแก่นของประเด็นเชิงโครงสร้างของไทย

ขณะเดียวกัน ทางด้านเหล่านักวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ แสดงทรรศนะว่า หลังการเลือกตั้ง หากกลุ่มพรรคฝ่ายค้านชนะเลือกตั้ง ก็อาจจะได้เห็นการโต้กลับจากทางฟากกลุ่มอนุรักษ์นิยม ที่อาจจะมีการยั่วยุให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมอย่างสุดโต่ง เพื่อสกัดขัดขวางพรรคการเมืองบางพรรค