ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า สนามเลือกตั้ง จ.บุรีรัมย์ ถูกจับตามองว่าเป็นพื้นที่แดงเดือดสำหรับการเลือกตั้งทุกระดับ และทุกสนามที่มีการแข่งขันกันค่อนข้างเข้มข้นจากผู้สมัครของพรรคการเมืองต่างๆ โดยมีนักการเมืองจาก พรรคภูมิใจไทย ในสาย “ตระกูลชิดชอบ” เป็นตัวยืน ขณะที่บรรดาผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่น อย่าง พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคก้าวไกล ต่างก็เป็นคู่แข่งคนสำคัญเช่นเดียวกัน
ซึ่ง จ.บุรีรัมย์ มี 23 อำเภอ การเลือกตั้ง ส.ส.บุรีรัมย์ ครั้งนี้ จะมีจำนวนเขตเพิ่มจากเดิม 8 เขต เป็น 10 เขตเลือกตั้ง มี ส.ส.ได้ 10 คน ใครเป็นใคร และใครต้องแข่งกับใคร ล้วนเป็นที่สนใจของคอการเมืองทั้งนั้น เพราะ พรรคภูมิใจไทย ในสาย “ตระกูลชิดชอบ” ประกาศจะชนะทั้ง 10 เขตเลือกตั้ง
โดยประกอบไปด้วย เขตเลือกตั้งที่ 1 ประกอบด้วย อำเภอเมืองบุรีรัมย์(เฉพาะตำบลในเมือง ตำบลบ้านบัว ตำบลพระครู ตำบลถลุงเหล็ก ตำบลหนองตาด ตำบลบ้านยาง ตำบลบัวทอง ตำบลชุมเห็ด ตำบลกลันทา ตำบลกระสัง ตำบลสะแกโพรง และ ตำบลลุมปุ๊ก) อำเภอบ้านด่าน (เฉพาะ ตำบลปราสาท และ ตำบลบ้านด่าน) ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 157,068 คน เขตนี้มีผู้สมัคร 11 คน
เดิมทีเขตนี้มี นายสนอง เทพอักษรณรงค์ อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย หลายสมัย คราวที่แล้วได้คะแนน 41,513 คะแนน เป็นเจ้าของพื้นที่เดิม ขยันลงพื้นที่พบปะกับพี่น้องประชาชนมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง มีฐานเสียงแน่นเกือบทุกหมู่บ้าน โดยเฉพาะนักการเมืองท้องถิ่น ที่ยังคงเป็นแกนนำฐานคะแนนหลักในพื้นที่เลือกตั้ง หากใครคิดจะโค่นค่อนข้างยากลำบากพอสมควร แต่เลือกตั้งคราวนี้เส้นทางการแข่งขันของนายสนอง ใช่ว่าจะสบาย ต้องเจอกับศึกหนัก เมื่อ พรรคพลังประชารัฐ ส่งนายเจษฎากร เขียนนิลศิริ อดีตรองนายกเทศมนตรีเมืองบุรีรัมย์ หวังจะมาล้มช้างให้ได้ ทำให้เขตนี้มีสีสันขึ้นมาทันที เพราะ นายเจษฎากร เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ไฟแรง ลงพื้นที่พบปะชาวบ้านมาอย่างต่อเนื่อง มีกระแสตอบรับที่ดี ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในพื้นที่
ขณะที่ พรรคเพื่อไทย ส่งนายพีรภัทร ทองธีรสกุล หรือทนายปีเตอร์ คอยเป็นตัวสอดแทรก ที่หวังล้มช้างด้วยเช่นกัน พรรคก้าวไกล ส่งนายธนายุทธ ยืนยั่ง หวังคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่ พรรครวมไทยสร้างชาติ ส่ง นายวุฒิพงษ์ เหลืองอุดมชัย อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ ผ่านสนามการเมืองมาอย่างโชกโชน
นอกจากนี้ ในเขตเลือกตั้งที่ 1 ยังมีผู้สมัครจากอีกหลายพรรคการเมือง ไล่ตั้งแต่นายวิเชียร ลานทอง พรรคเสรีรวมไทย นายโอภาส ศุภจิตเมตตา พรรครวมไทยสร้างชาติ นางพชรพรรณ ลิ้มโฆษิต พรรคประชาธิปัตย์ นายกฤษฎา ชูตาลัด พรรคแนวทางใหม่ นายนเวศร์ เกิดดี พรรครวมแผ่นดิน และนายพรศักดิ์ แดงทรัพย์ พรรคไทยภักดี แม้ว่าทุกคนจะเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ แต่ขอเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับคนบุรีรัมย์ในเขตนี้
เขตนี้จึงเป็นการชิงดำ 4 คน ยกเครดิตให้ นายสนอง ส่วน นายเจษฎากร , นายพีรภัทร และนายธนายุทธ คอยเป็นตัวสอดแทรก ที่หวังล้มช้างด้วยเช่นกัน แต่หาก นายสนอง มีการแผ่วปลาย ทั้ง นายเจษฎากร , นายพีรภัทร และนายธนายุทธ อาจแซงช่วงโค้งสุดท้ายก็เป็นได้ รวมถึงผู้สมัครจากพรรคการเมืองอื่นก็มีสิทธิ์เข้าป้ายได้ด้วยเช่นกัน
เขตเลือกตั้งที่ 2 ประกอบด้วย อำเภอเมืองบุรีรัมย์ เฉพาะ ตำบลหลักเขต ตำบลสวายจีก ตำบลเสม็ด ตำบลสองห้อง ตำบลสะแกซำ ตำบลเมืองฝาง และ ตำบลอิสาณ) อำเภอพลับพลาชัย (เฉพาะ ตำบลสำโรง ตำบลสะเดา และ ตำบลจันดุม) อำเภอชำนิ และอำเภอประโคนชัย (เฉพาะ ตำบลไพศาล) ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง160,260 คน เขตนี้มีผู้สมัคร 11 คน
โดยเขตนี้ล้วนเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ พรรคภูมิใจไทย ส่ง นายไชยชนก ชิดชอบ หรือ “นก” บุตรชายคนโต ของนายเนวิน ชิดชอบ ใช้ชีวิตและศึกษาที่ประเทศอังกฤษนานถึง 17 ปี ตั้งแต่ 8 ขวบ หลังเรียนจบ นายไชยชนก กลับมาช่วยดูแลทีมฟุตบอลและสนามแข่งรถ Chang International Circuit ในฐานะรองผู้อำนวยการสายงานการตลาดและการสื่อสาร บริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จำกัด ทั้งจัดการแข่งขัน สร้างระบบ และหาทีมมาแข่งขัน นายไชยชนก ยังมีส่วนสำคัญพาบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ก้าวกระโดดจากสนามฟุตบอล สนามแข่งรถ มาสู่โลกของเกมส์จัดตั้งทีม E-Sports โดยได้นำทีม E-Sports ของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด คว้าแชมป์ประเทศไทย ทั้งยังได้เปิด Predator Arena ขึ้นที่บุรีรัมย์ เพื่อเป็นสนามแข่งขัน รวมทั้งเป็นอะคาเดมีให้ผู้มีใจรักในกีฬาอีสปอร์ตอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม นายไชยชนก ลงสนามการเมืองระดับชาติเป็นครั้งแรก แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา นายไชยชนก ก็ขยันลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชน ตามงานต่างๆ ที่มีฐานคะแนนจากนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ จึงถูกยกให้เป็นตัวยืนในเขตนี้ ส่วนคู่แข่ง ก็ไม่ธรรมดา นายปรัชญา ตรีกาญจนา จากพรรคเพื่อไทย ก็ได้ลงพื้นที่พบปะประชาชน มีกระแสตอบรับที่ดี
อีกทั้งเขตนี้ยังมี พรรคพลังประชารัฐ ส่ง นายนภดล อังคสุภณ พรรคก้าวไกล ส่ง นายวิทธิลักษณ์ จันทร์สมบัติ พรรครวมไทยสร้างชาติ ส่ง พ.ต.ท.กิตติฤทธิ์ พูนสวัสดิ์ แม้ว่าฐานเสียง จะสู้ "ไชยชนก" ไม่ได้ แต่จะสร้างสีสันการแข่งขันให้คึกคักมากยิ่งขึ้น เขตนี้จึงยกให้นายไชยชนกเป็นตัวยืน โดยมี นายปรัชญา , นายนภดล , นายวิทธิลักษณ์ และ พ.ต.ท.กิตติฤทธิ์ เป็นตัวสอดแทรก
ส่วน เขตเลือกตั้งที่ 3 ประกอบด้วย อำเภอกระสัง อำเภอห้วยราช และอำเภอพลับพลาชัย (เฉพาะ ตำบลโคกขมิ้น และ ตำบลป่าชัน) ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 158,424 คน เขตนี้มีผู้สมัคร 12 คน เขตนี้แชมป์เก่า นายอดิพงษ์ ฐิติพิทยา อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ 2 สมัย จากพรรคภูมิใจไทย คราวที่แล้วได้คะแนน 47,609 คะแนน ขยันลงพื้นที่พบปะกับพี่น้องประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง มีฐานเสียงแน่นเกือบทุกหมู่บ้าน โดยเฉพาะนักการเมืองท้องถิ่น ที่ยังคงเป็นแกนนำฐานคะแนนหลักในพื้นที่ หากใครคิดจะโค่นค่อนข้างยากลำบากพอสมควร
ขณะที่พรรคเพื่อไทย ส่ง ว่าที่ ร.ต.เสนาะ พรหมสวัสดิ์ คราวที่แล้ว สวมเสื้อไทยรักษาชาติ แต่ถูกยุบพรรค มาหวังล้มช้าง สร้างเซอไพรส์ ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ส่ง นายอิทธิศักดิ์ ปาทาน พรรคก้าวไกล ส่ง นายทรงพล ทะรารัมย์ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ส่ง นายสุประดิษฐ์ แสนทวีสุข ฟันธงได้เลยว่าเขตนี้ ภูมิใจไทยเข้าป้ายชัวร์ โดยมีเพื่อไทยไล่หลังมาห่างๆ รวมถึงพรรคก้าวไกล และพรรคพลังประชารัฐ ส่วนพรรคอื่นหวังเล็กๆ เป็นตัวสอดแทรกเท่านั้น
เขตเลือกตั้งที่ 4 ประกอบด้วย อำเภอสตึก อำเภอแคนดง และอำเภอบ้านด่าน (เฉพาะตำบลโนนขวาง และตำบลวังเหนือ) ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 151,650 คน เขตนี้มีผู้สมัคร 11 คน ถูกตัดสิทธิ์ 1 คน เหลือผู้สมัคร 10 คน เขตนี้แชมป์เก่า คือ นายรังสิกร ทิมาตฤกะ หรือ “เสี่ยหนุ่ม” พรรคภูมิใจไทย อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ หลายสมัย คราวที่แล้วได้คะแนน 34,212 คะแนน ถือว่าเป็นนักการเมืองอีกคนหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับ “ตระกูลชิดชอบ” การเลือกตั้งครั้งนี้ จึงเป็นที่คาดหมายว่าจะรักษาแชมป์ได้อีกสมัย เพราะมีกลุ่มการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ให้การสนับสนุน มีฐานคะแนนเสียงเกือบเต็มพื้นที่ อีกทั้งยังขยันลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง
แต่ก็ต้องพบศึกหนักพอสมควร เมื่อมีหลายพรรคการเมืองต่างขันอาสาเสนอตัวมาสู้ศึกคราวนี้ โดยพรรคเพื่อไทย ส่ง นายสุรศักดิ์ นาคดี อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ คราวที่แล้วได้คะแนน 27,956 คะแนน มาเป็นคู่แข่งคนสำคัญ ซึ่งมีกระแสตอบรับที่ดี ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในพื้นที่ ประกอบกับนายสุรศักดิ์ ก็ขยันลงพื้นที่พบปะชาวบ้านอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งหากนายรังสิกร จะรักษาแชมป์ไว้ได้ก็คงต้องหืดขึ้นคอเป็นแน่
อีกทั้งเขตนี้ยังมีพรรคพลังประชารัฐ ส่ง นายสุเทพ ใสงาม ลงชิงเก้าอี้ด้วย รวมทั้ง นายนันทภพ มองนุ่น จากพรรคก้าวไกล และ พรรครวมไทยสร้างชาติ ส่ง ดร.กริชเทพ อุปจันแพงวงศ์ แม้ว่าฐานเสียงทั้งนายสุเทพ , นายนันทภพ และ ดร.กริชเทพ จะสู้ นายรังสิกร และ นายสุรศักดิ์ ไม่ได้ แต่จะสร้างสีสันการแข่งขันในเขตนี้ให้คึกคักมากยิ่งขึ้นมาเป็นคู่แข่งอีกคน เขตนี้จึงเป็นการชิงดำระหว่าง นายรังสิกร กับ นายสุรศักดิ์ โดยมี นายสุเทพ , นายนันทภพ และ ดร.กริชเทพ เป็นตัวสอดแทรก ซึ่งพรรคภูมิใจไทย จะรักษาแชมป์เขตนี้ได้หรือไม่ คงจะทราบผลในวันที่ 14 พ.ค.นี้
สำหรับเขตเลือกตั้งที่ 5 ประกอบด้วย อำเภอนาโพธิ์ อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ อำเภอพุทไธสง และอำเภอคูเมือง (ยกเว้น ตำบลพรสำราญ) ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 161,864 คน เขตนี้มีผู้สมัคร 10 คน เมื่อนายโสภณ ซารัมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แกนนำพรรคภูมิใจไทย โยกตัวมาลงสมัครเอง หลังตัดสินใจไม่ส่งนายสมบูรณ์ ซารัมย์ อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ พี่ชาย ลงสมัครในเขตนี้ โดยนายโสภณ มีฐานคะแนนเสียงจากกลุ่มผู้นำท้องถิ่น กลุ่มสตรี และ อสม. ลงพื้นที่หาเสียงมาอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องพบศึกหนักเมื่อพรรคเพื่อไทย ส่ง นายเล็ง พยุงแสนกุล จากพรรคเพื่อไทย ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ส่ง นายสมคิด สินไธสง พรรคก้าวไกล ส่ง นายธนากร สัมมาสาโก และพรรครวมไทยสร้างชาติ ส่ง นายสรุศักดิ์ เลี้ยงผ่องพันธุ์ ต้องยอมรับว่าหากใครคิดจะโค่นคงยากพอสมควร
เมื่อดูจากชื่อชั้นของผู้สมัครทั้งหมดแล้ว หากจะสู้ต่อกรกับนายโสภณ และนายเล็ง คงลำบาก สนามเขตนี้จึงยกให้นายโสภณ ซารัมย์ พรรคภูมิใจไทย เป็นตัวยืน มีนายเล็ง พยุงแสนกุล จากพรรคเพื่อไทย เป็นตัวสอดแทรก เพราะได้ฐานคะแนนแน่นปึ๊กทุกพื้นที่ ส่วนผู้สมัครจากพรรคอื่น นั้น จะเป็นการแชร์คะแนนแต้มกันไปมากกว่า
เขตเลือกตั้งที่ 6 ประกอบด้วย อำเภอลำปลายมาศ อำเภอคูเมือง (เฉพาะตำบลพรสำราญ) อำเภอหนองหงส์ (เฉพาะตำบลไทยสามัคคี ตำบลสระทอง และตำบลเสาเดียว) ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 161,101 คน เขตนี้มีผู้สมัคร 12 คน เขตนี้ล้วนเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ เมื่อนายโสภณ ซารัมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แกนนำพรรคภูมิใจไทย โยกตัวไปลงเขตเลือกตั้งที่ 5 พรรคภูมิใจไทย จึงส่งนายศักดิ์ ซารมย์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนพุทไธสง และอดีตเลขานุการนายกเทศมนตีตำบลลำปลายมาศ น้องชายของนายโสภณ ลงสมัครแทนในเขตนี้ โดยอาศัยฐานคะแนนเสียงจากกลุ่มครู กลุ่มผู้นำท้องถิ่น และ อสม. แม้จะไม่เคยลงสนามการเมือง แต่ นายศักดิ์ ก็ติดสอยห้อยตามนายโสภณ ลงพื้นที่หาเสียงมาอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องพบศึกหนัก เมื่อพรรคเพื่อไทย ส่ง นายประยูร เพ็งจันทร์ อดีตประธานสภา อบจ.บุรีรัมย์ พรรคพลังประชารัฐ ส่ง นายบุรรจง ศรีหาบุญทัน พรรคก้าวไกล ส่ง นายภูวดล ศรีหามาตย์ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ส่ง นายสมชาย สุเรรัมย์ ลงชิงชัยด้วย
เมื่อดูจากชื่อชั้นของผู้สมัครทั้งหมดแล้ว สนามเขตนี้น่าจะเป็นการแข่งขันเข้มข้นระหว่างพรรคภูมิใจไทย กับพรรคเพื่อไทย โดยมีพรรคพลังประชารัฐ ตามมาห่างๆ ส่วนพรรคอื่นหวังเล็กๆ เป็นตัวสอดแทรก หรือตาอยู่เท่านั้น
เขตเลือกตั้งที่ 7 ประกอบด้วย อำเภอปะคำ (เฉพาะตำบลไทยเจริญ ตำบลหนองบัว และตำบลโคกมะม่วง) อำเภอโนนสุวรรณ อำเภอนองกี่ และอำเภอหนองหงส์ (เฉพาะตำบลหนองไชยศรี ตำบลห้วยหิน ตำบลเมืองฝ้าย และตำบลสระแก้ว) ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 153,116 คน เขตนี้มีผู้สมัคร 13 คน เขตนี้ก็ล้วนเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ มีอดีต ส.ส.อย่างนายพรชัย ศรีสุริยันโยธิน จากพรรคภูมิใจไทย อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ หลายสมัย และอดีต รองนายก อบจ.บุรีรัมย์ เป็นตัวยืน คราวที่แล้วลงสวมเสื้อพรรคเพื่อไทย ได้คะแนน 33,562 คะแนน พ่ายแพ้ให้แก่นายไตรเทพ งามกมล จากพรรคภูมิใจไทย คราวนี้กลับมาสวมเสื้อภูมิใจไทย แต่โยกหนีมาลงเขตนี้แทน
ซึ่งนายพรชัย ก็ต้องพบศึกหนักพอสมควร เมื่อมีหลายพรรคการเมืองต่างขันอาสาเสนอตัวมาสู้ เริ่มจากพรรคเพื่อไทย ส่งนายพรรณธนู วรรณกางซ้าย ลูกชาย ดร.หนูแดง วรรณกางซ้าย อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ หลายสมัย ที่อาศัยฐานเสียงจากกลุ่มวัยรุ่น หวังล้มยักษ์ สนามนี้ ขณะที่พรรคไทยสร้างไทย ส่งนาย พีรวัส พันธุ์สัมฤทธิ์ หรือ ส.จ.โจ้ นักการเมืองหนุ่มฝีปากกล้า ลงชิงชัย ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ส่งนายบำเหน็จ ทิพย์อักษร พรรคก้าวไกล ส่ง นายสุพิศ คิดรอบ ที่ขยันลงพื้นที่พบปะชาวบ้าน และพรรครวมไทยสร้างชาติ ส่ง นายคำก่าย กองพร ลงชิงชัยเขตนี้ด้วย
วัดกันปอนด์ต่อปอนด์ หากใครจะเข้าป้ายคงต้องทำการเมืองอย่างหนัก เนื่องจากเขตเลือกตั้งนี้แม้จะแบ่งใหม่ แต่ฐานนิยมส่วนตัวของนายพรชัย ยังมีอยู่เกือบเต็มพื้นที่ ขณะที่นายพรรณธนู , นายพีรวัส และนายสุพิศ ก็ประมาทไม่ได้ เขตนี้โอกาสใครจะคว้าเก้าอี้ไปครองก็เป็นไปได้สูงหากแผ่วปลาย ส่วนผู้สมัครคนอื่นคอยสอดแทรก
เขตเลือกตั้งที่ 8 ประกอบด้วย อำเภอนางรอง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ (เฉพาะตำบลเจริญสุข และตำบลถาวร) อำเภอปะคำ (เฉพาะตำบลปะคำ และตำบลหูทำนบ) และอำเภอโนนดินแดง (เฉพาะตำบลโนนดินแดง) ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 158,412 คน เขตนี้มีผู้สมัคร 11 คน
เขตนี้มีอดีต ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย อย่างนายไตรเทพ งามกมล อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ แชมป์เก่า เป็นตัวยืน คราวที่แล้วได้คะแนน 43,327 คะแนน มีฐานเสียงเหนียวแน่นในเขตเทศบาลเมืองนางรอง อ.นางรอง ส่วนคู่แข่ง “พรรคเพื่อไทย” ส่งนายสุรศักดิ์ เพชรสว่าง หรือ สจ.ปุ๊ก อดีต สมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ที่ขยันลงพื้นที่พบปะพี่น้องมาอย่างต่อเนื่อง และอาศัยฐานเสียงจาก นายโสภณ เพชรสว่าง อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 และ อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ส่ง นายประกิจ พลเดช อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ นอกจากนี้ยังมี นายวินัย จีนโน พรรคก้าวไกล คอยเป็นก้างขสงคออยู่ ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ ส่ง พ.ต.อ.เปรื่อง นาคะพงษ์ ลงชิงชัยด้วย ซึ่งเขตนี้ นายไตรเทพ มีฐานเสียงเหนียวแน่นในเขตเทศบาลเมืองนางรอง แต่คู่แข่งอย่าง นายสุรศักดิ์ และนายประกิจ ก็ประมาทไม่ได้ ส่วนผู้สมัครคนอื่นคอยสอดแทรก
เขตเลือกตั้งที่ 9 ประกอบด้วย อำเภอโนนดินแดง (ยกเว้น ตำบลโนนดินแดง) อำเภอละหานทราย อำเภอบ้านกรวด (เฉพาะตำบลบ้านกรวด ตำบลปราสาท ตำบลบึงเจริญ ตำบลจันทบเพชร และตำบลหนองไม้งาม) และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ (เฉพาะตำบลยายแย้มวัฒนา ตำบลอีสาณเขต และตำบลตาเป๊ก) ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 162,384 คน เขตนี้มีผู้สมัคร 11 คน
เขตนี้แบ่งใหม่มีอดีต ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย อย่าง นายรุ่งโรจน์ ทองศรี น้องชายของนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็น ส.ส.มาแล้ว 3 สมัย เป็นตัวยืน คราวที่แล้วได้คะแนน 40,597 คะแนน ที่ขยันลงพื้นที่ทำงานการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง มีฐานคะแนนเสียงแน่นในพื้นที่ ส่วนพรรคเพื่อไทย ส่ง นายสมนึก เฮงวาณิชย์ อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ คราวที่แล้ว สวมเสื้อไทยรักษาชาติ แต่ถูกยุบพรรค หวังกลับมาทวงเก้าอี้ ส.ส.มีฐานคะแนนเสียงหลักอยู่ที่ อ.ละหานทราย ขณะที่พรรคก้าวไกล ส่ง นายเสนาะ แก้วมุกดา พรรคพลังประชารัฐ ส่ง นายปกรณ์ ทรงประโคน พรรครวมไทยสร้างชาติ ส่ง นายนรวัฒน์ โรจน์ระวีชัย ล่งชิงชัยสนามนี้ด้วย
ส่งผลให้สนามเลือกตั้งเขตนี้ดุเดือดเลือดพล่านแน่นอน เพราะนายรุ่งโรจน์ ได้แรงสนับสนุนจากนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ ส่วนนายสมนึก มีฐานคะแนนเสียงหลักอยู่ที่ อ.ละหานทราย เขตนี้จึงเป็นการชิงดำ 4 คน ยกเครดิตให้นายรุ่งโรจน์ กับ นายสมนึก ส่วน นายเสนาะ และนายปกรณ์ เป็นตัวสอดแทรก แต่หากทั้ง นายรุ่งโรจน์ กับ นายสมนึก แผ่วปลาย นายเสนาะ และนายปกรณ์ อาจแซงโค้งสุดท้ายก็เป็นได้
เขตเลือกตั้งที่ 10 ประกอบด้วย อำเภอประโคนชัย (ยกเว้นตำบลไพศาล) อำเภอบ้านกรวด (เฉพาะตำบลเขาดินเหนือ ตำบลโนนเจริญ ตำบลหินลาด และตำบลสายตะกู) ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 152,636 คน เขตนี้มีผู้สมัคร 10 คน
เขตนี้มีตัวยืน จากพรรคภูมิใจไทยส่ง นายจักรกฤษณ์ ทองศรี อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ ลูกชายนายเพิ่มพูน ทองศรี อดีต ส.ว.บุรีรัมย์ อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ หลานชายนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.คมนาคม รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ต้องเจอกระดูกชิ้นโตอย่างนายจำรัส เวียงสงค์ อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ จากพรรคเพื่อไทย ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ส่งนายภูมิสิทธิ์ มาประจง พรรคก้าวไกล ส่งนายต่อพงษ์ จีนใจน้ำ ส่วนพรรคไทยสร้างไทย ส่งนายการุณ ใสงาม หวังลึกๆเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
เขตนี้ชื่อชั้นของ"จักรกฤษณ์ ทองศรี" แม้จะลงสนามการเมืองระดับชาติครั้งที่สี่ มีดีกรีปริญญาโท รัฐศาสตร์ แต่ตระกูล “ทองศรี” เป็นลูกพี่ลูกน้องของนายเนวิน ชิดชอบ และ มีฐานเสียงแข็งแกร่งมากในอำเภอประโคนชัย ที่ ตระกูลทองศรี ยึดครองมาตลอดผนวกกับอำเภอบ้านกรวด บางส่วนเป็นฐานเสียงแน่นของภูมิใจไทย เชื่อแน่ว่า นาย "จักรกฤษณ์ จะเข้าวินชัวร์
แต่ทีเด็ดของพรรคเพื่อไทยก็ใช่ว่าจะสู้ไม่ได้ นายจำรัส อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ คนเด่นดังใน อ.ประโคนชัย อาศัยฐานเหนียวแน่นจากกลุ่มคนรากหญ้า ใน อ.ประโคนชัย เมื่อผนวกเข้าด้วยกันจึงกลายเป็น"กระดูกชิ้นโต" ที่พรรคภูมิใจไทยจะขย้อนลงคอไม่ได้ง่ายๆ ขณะที่คู่แข่งรายอื่นๆ ก็หวังเป็นตัวสอดแทรกเช่นกัน
เมื่อประเมินสถานการณ์โดยรวม กับการเลือกตั้ง ส.ส.บุรีรัมย์ ทั้ง 10 เขตเลือกตั้ง วัดผลต่างได้เสียทั้งจากฐานคะแนนนิยมส่วนตัว และพรรคแล้ว โอกาสของพรรคภูมิใจไทยที่จะคว้าเก้าอี้ ส.ส.บุรีรัมย์ ทั้ง 10 ที่นั่งนั้น น่าจะเป็นงานที่หนักหนาสาหัสพอสมควร เมื่อทางพรรคเพื่อไทย หวังเจาะฐานที่มั่น “ตระกูลชิดชอบ” ให้สั่นคลอน
ดังนั้นศึกเลือกตั้งในครั้งนี้ จะเป็นการวัดฝีมือของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ว่าจะกวาด ส.ส.บุรีรัมย์ได้ทั้ง 10 เขตหรือไม่ และค่ายกลอำนาจเก่าของ “ตระกูล ชิดชอบ” จะถูกพรรคเพื่อไทย , พรรคก้าวไกล และพรรคพลังประชารัฐ ตีแตกหรือไม่ คงจะมีคำตอบในวันที่ 14 พ.ค.2566 นี้