กรมปศุสัตว์ มุ่งส่งเสริมการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เปิดเวทีสัมมนา สร้างเครื่องหมายรับรองไข่ไก่ “สุพรรณหงส์” สอดคล้องยุทธศาสตร์อาหารปลอดภัย
วันที่ 28 มี.ค.66 นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “ส่งเสริมการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการแสดงเครื่องหมายตราสัญลักษณ์ไข่ “สุพรรณหงส์” ที่ฟองไข่” ประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 - 30 มีนาคม 2566 เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจหลักการการปฏิบัติตนในการผลิตสินค้า “ไข่สุพรรณหงส์" โดยมี นายอภินันท์ คงนุรัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มรับรองด้านปศุสัตว์ สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กล่าวรายงาน ปศุสัตว์เขต 2 ปศุสัตว์จังหวัดชลบุรี เกษตรกรและผู้ประกอบการ จาก 77 จังหวัด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วฯพิธีเปิดโครงการฯ ณ โรงแรมเฮลท์ แลนด์ รีสอร์ท แอนด์ สปา พัทยาใต้ จังหวัดชลบุรี
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความตื่นตัวทางด้านความปลอดภัยของอาหาร และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยความปลอดภัยทางอาหารนั้นจะสามารถเชื่อมั่นได้จากการปฏิบัติตนที่ดีของผู้ประกอบการ และการได้รับรองมาตรฐานตลอดห่วงโซ่ เพื่อให้สินค้าปศุสัตว์ได้มาตรฐาน ถูกสุขอนามัย ซึ่งปัจจุบันคนไทยนิยมบริโภคไข่ไก่ เนื่องจากราคาถูก มีโปรตีนสูง สามารถบริโภคได้ทุกเพศทุกวัย และมีผู้บริโภคหลายรายหันมาบริโภคไข่ดิบเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรฐานในการผลิตเพื่อสร้างความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคเชื่อถือได้ กรมปศุสัตว์จึงได้จัดทำกิจกรรมสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตร และอาหารแผนงานกิจกรรมการสร้างเครื่องหมายการรับรองไข่ไก่ “สุพรรณหงส์” เพื่อตอบสนองพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค โดยกำกับ ดูแล ติดตาม และพัฒนางานด้านการผลิตสินค้าปศุสัตว์และโรงงานแปรรูปมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ฟาร์ม โรงงาน การขนส่ง ตลอดจนสถานที่จำหน่าย
กรมปศุสัตว์ มีหน้าที่หลักในการให้บริการด้านปศุสัตว์ ภายใต้การดำเนินงานนโยบายเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) และได้ดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรและอาหารในปีงบประมาณ 2566 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันให้กับสินค้าไข่สดแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำให้มีคุณภาพได้มาตรฐานสากลเป็นที่ยอมรับกับประเทศคู่ค้า โดย ต้นน้ำ ฟาร์มสัตว์ปีกต้องมีการกำกับดูแลตั้งแต่ไข่ฟัก ซึ่งต้องมาจากโรงฟักไข่ ฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ ฟาร์มไก่รุ่น และฟาร์มไก่ไข่ ต้องได้รับการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีมีการจัดการตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ มีการดูแลสุขภาพสัตว์และปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558
โดยมีโปรแกรมการเก็บตัวอย่างและตรวจหาเชื้อโรคระบาดที่สำคัญ เช่น ไข้หวัดนก โรคนิวคาสเซิล และโรคติดเชื้อ ที่สำคัญ ได้แก่ โรคแซลโมเนลโลสิส และขึ้นทะเบียนเป็นฟาร์มปลอดโรคแซลโมเนลลา เพื่อให้มั่นใจว่าแหล่งที่มาของไข่สดปลอดโรค
สำหรับสถานที่รวบรวมไข่และโรงงานผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่เป็นสถานที่ผลิตกลางน้ำ ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานโรงงานผลิตและแปรรูปสินค้าปศุสัตว์ตามระบบวิธีการปฏิบัติที่ดีในการผลิต (Good Hygienic Practices : GHP) หรือมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมไข่ (Good Manufacturing Practice : GMP) และระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (Hazard Analysis and Critical Control Point : HACCP) มีการตรวจสารตกค้างและเชื้อก่อโรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคแซลโมเนลโลสิส มีการควบคุมอุณหภูมิในการเก็บรักษาและการขนส่ง รวมถึงมีการบ่งชี้ไข่ด้วยเครื่องหมายการรับรองบนฟองไข่ เพื่อบ่งบอกคุณภาพระดับพรีเมี่ยมของประเทศไทย ด้วยตราสัญลักษณ์ “สุพรรณหงส์” พร้อมทั้งพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้าไปยังฟาร์มปลอดโรคแซลโมแนลลาได้ มีการตรวจสอบคุณภาพไข่ทั้งความปลอดภัยและความสด ระบุวันผลิตและวันหมดอายุบนไข่ทุกฟอง ในส่วนของปลายน้ำ หรือสถานที่จำหน่ายนั้น ต้องได้รับรองสถานที่จำหน่ายสินค้าปศุสัตว์ภายใต้ตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้าไข่สดที่ดีได้วางจำหน่ายในสถานที่จำหน่ายที่ถูกสุขลักษณะ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ รวมถึงการพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ ให้ได้มาตรฐานสากลทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค และสร้างจุดแข็งในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแบรนด์ของสินค้าไข่สดของไทย และยังสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย
การจัดสัมมนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมมีความรู้ความเข้าใจระบบวิธีการปฏิบัติที่ดีในการผลิต (Good Hygienic Practices : GHP) ระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (Hazard Analysis and Critical Control Point : HACCP) และระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้า เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการปรับปรุงระบบการผลิตสินค้าไข่สด ยกระดับมาตรฐานการผลิต รวมถึงมีความรู้ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ใส่บรรจุสินค้าไข่สด และสามารถแสดงเครื่องหมายตราสัญลักษณ์ที่ฟองไข่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ความปลอดภัยด้านอาหาร
“หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านจะสามารถนำหลักการในการปฏิบัติตนที่ดีในการผลิตสินค้าปศุสัตว์ (ไข่) ไปปรับใช้ในสถานประกอบการของตนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งกับสถานประกอบการเองและผู้บริโภค”รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว