นายเฉลิมชัย ยอดมาลัย อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย(TJA) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 14-18 ส.ค.ที่ผ่านมา นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นำคณะ เดินทางเยือนประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ตามคำเชิญของสมาคมนักข่าวเวียดนาม (Vietnam Journalists Association: VJA) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ และส่งเสริมความร่วมมือในระดับสื่อมวลชนของทั้งสองประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนบัตรโดยสารจากสายการบินแอร์เอเชีย . โดยในการประชุมร่วมกับสมาคมนักข่าวเวียดนาม นำโดย คุณ Ho Quang Loi รองนายกสมาคมนักข่าวเวียดนาม ได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการผลักดันความร่วมมือระหว่างสองสมาคมในสองเรื่องที่เคยคุยกันไว้ก่อนหน้านี้ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เรื่องแรกคือ การจัดอบรมนักข่าวภัยพิบัติ ซึ่งทางไทยเคยจัดมา 10 รุ่นแล้ว และทางไทยเข้าใจว่าเวียดนามประสบภัยพิบัติบ่อยครั้ง นักข่าวต้องลงพื้นที่ไปทำข่าวบ่อยครั้ง ดังนั้นมองวาการจัดอบรมความรู้ให้กับนักข่าวเรื่องการทำข่าวภัยพิบัติจะเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยอาจส่งนักข่าวไทยที่มีความรู้ประมาณ 5 คนไปเป็นผู้ฝึกและวิทยากรให้ความรู้ ซึ่งทาง TJA มีความพร้อมอย่างมาก เพียงขอให้เวียดนามจัดที่พักและอาหารให้กับผู้ฝึกอบรมเท่านั้น . ประเด็นที่สองคือ การจัดโครงการแลกเปลี่ยนนักข่าวระหว่างกัน โดยเบื้องต้นอาจใช้ระยะเวลา 3-5 วัน และจัดในลักษณะเหย้า-เยือน เช่น เมื่อเวียดนามมาเยือนไทยจะมีนักข่าวไทยที่ร่วมโครงการดูแลเหมือนเป็นพี่เลี้ยง ในทางกลับกันเมื่อไทยไปเยือนเวียดนามทางเวียดนามก็จะดูแลเช่นกัน โดยแต่ละฝ่ายอาจกำหนดประเด็นที่ตนเองสนใจเพื่อลงพื้นที่เขียนบทความ โดยมีฝ่ายที่เป็นเจ้าภาพช่วยวางแผนการทำงานและลงพื้นที่ ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆให้ . รองนายกสมาคมนักข่าวเวียดนาม กล่าวกับคณะของไทยว่า รู้สึกยินดีที่ได้ต้อนรับคณะเยือนจาก TJA ซึ่งเขารู้สึกประทับใจต่อความสัมพันธ์ของสองสมาคม ขณะเดียวกันก็เห็นด้วยในหลักการกับโครงการแลกเปลี่ยนทั้งสองเรื่องที่ทางไทยนำเสนอมา โดยทาง VJA จะไปทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมไปสอบถามความเห็นของสื่อในเวียดนามซึ่งเชื่อว่าจะมีผลตอบรับที่ดี ขณะเดียวกัน ทาง VJA ก็มีเรื่องฝากทาง TJA เช่นกัน คือ ขอให้ TJA ช่วยประชาสัมพันธ์โครงการจัดการประกวดบทความเกี่ยวกับเกษตรกรและเกษตรกรรมที่เวียดนามเป็นเจ้าภาพ เนื่องจากขณะนี้ยังมีบทความจากต่างประเทศส่งเข้ามาไม่มาก โดยในอาเซียนมีเพียงไทยและพม่าที่ส่งผลงานเข้ามา . คุณโฮ ยังได้กล่าวชื่นชมถึงความสำเร็จของโครงการส่งเสริมให้นักข่าวไทยและเวียดนามได้เรียนรู้ภาษาของกันและกันที่ TJA และ VJA เคยร่วมดำเนินการในอดีต โดยเชื่อว่าหากคนอาเซียนเรียนรู้ภาษาของกันและกันจะเกิดความเข้าใจมากขึ้น และในอนาคตอันใกล้น่าจะมีการยกระดับสื่อ ด้วยการเชิญแบบเป็นกลุ่มเฉพาะ เพื่อการแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะ อย่างเช่น เชิญสื่อไทยที่ทำเรื่องการท่องเที่ยวไปเยือนเวียดนามแล้วกลับมาเขียนเรื่องการท่องเที่ยวเวียดนาม และเชิญสื่อท่องเที่ยวเวียดนามมาเยือนไทยเพื่อกลับไปเขียนเรื่องการท่องเที่ยวไทย . สุดท้ายคุณมงคล ในฐานะนายก TJA ได้กล่าวขอบคุณการต้อนรับอันอบอุ่นของ VJA โดยหวังว่าความร่วมมือของสองสมาคมจะมีการพัฒนายั่งยืนมากขึ้นต่อไป . จากนั้นคณะจาก TJA ได้เข้าพบปะหารือกับหนังสือพิมพ์และหน่วยงานของประเทศเวียดนาม เริ่มจาก หนังสือพิมพ์ Inspection หรือ หนังสือพิมพ์ตรวจสอบ โดยมี คุณ Tran Dang Vinh บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ได้ให้การต้อนรับและเลี้ยงอาหารกลางวัน พร้อมบรรยายข้อมูลพื้นฐานและขอบเขตการทำงานของหนังสือพิมพ์ Inspection ให้ฟัง สำหรับหนังสือพิมพ์ Inspection ก่อตั้งในปี 1992 โดยเป็นสื่อที่อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานตรวจสอบการทุจริตของเวียดนาม ทำให้เนื้อหาที่นำเสนอจะเน้นไปที่การตรวจสอบทุจริตและเรื่องร้องเรียนของประชาชน ปัจจุบันกองบก.มีบุคลากรรวม 70 คน แบ่งออกเป็นฝ่ายข่าว 4 ฝ่าย เศรษฐกิจ การเมือง ต่างประเทศ และการร้องเรียนของประชาชน การทำข่าวจะตอบรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการปราบปัญหาการทุจริต โดยที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์ได้นำเสนอข่าวการปราบปรามทุจริตอย่างต่อเนื่องและผลักดันจนเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง โดยนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้สอบถามถึงอิทธิพลของโซเชียลมีเดียกับหนังสือพิมพ์ Inspection คุณวิน กล่าวว่า ปัจจุบันหนังสือพิมพ์ยังใช้โซเชียลมีเดียเพื่อดูกระแสของ ระชาชนเท่านั้น ยังไม่ได้เอาความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่างๆในโซเชียลมีเดียมานำเสนอเป็นข่าว ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่โซเชียลมีเดียจะมีอิทธิพลต่อสื่อหลักมากกว่า . “แหล่งข่าวที่ Inspection จะนำมาอ้างอิงต้องมีตัวตนเท่านั้นเนื่องจากมองว่าข้อมูลในโซเชียลมีเดียของเวียดนามยังมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม ถ้าแหล่งข่าวเปิดเผยข้อมูลที่อาจเป็นอันตรายกับตัวเองก็จะมีกระบวนการปกปิดแหล่งข่าวเพื่อความปลอดภัย เช่น การใช้นามสมมติและไม่ลงภาพแหล่งข่าว” . ถัดมาได้เยี่ยมและพบปะหนังสือพิมพ์ Justice หรือ หนังสือพิมพ์ยุติธรรม โดยมี คุณ Nguyen Manh Hong บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ Justice และ คุณ Ngo Tien Hung ตัวแทนจากศาลฎีกาเวียดนาม ให้การต้อนรับและอาหารเลี้ยงค่ำ พร้อมบรรยายข้อมูลพื้นฐานและขอบเขตการทำงานของหนังสือพิมพ์ Justice ให้ฟังว่าหนังสือพิมพ์ Justice ก่อตั้งในปี 2001 โดยเป็นสื่อที่อยู่ภายใต้การดูแลของศาลฎีกา ตีพิมพ์สัปดาห์ละ 4 ฉบับ สำหรับสิ่งพิมพ์ มีบุคลากรรวม 80 คน แบ่งออกเป็นสามแผนกคือ สิ่งพิมพ์ ออนไลน์และทีวี โดยพนักงานแต่ละแผนกจะทำงานแยกกันเด็ดขาดตามประเภทสื่อแต่อาจมีการช่วยเหลือกันบ้าง ยังไม่ได้ทำสื่อหลากหลายในหนึ่งคน ในปี 2019 เป็นปีแรกที่ศาลเลิกให้การสนับสนุนทางการเงินและให้หนังสือพิมพ์เริ่มบริหารการเงินด้วยตัวเอง ทำให้รายได้หลักตอนนี้มาจากยอดขายและโฆษณา อย่างไรก็ตาม การหาโฆษณาจะมีกฎห้ามรับโฆษณาจากบริษัทที่กำลังเป็นคดีความเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน . ส่วนประเด็นที่มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์คือ รูปแบบการทำงานของสื่อกับศาล การปกป้องสิทธิของผู้ต้องหาของสื่อ เช่น ในเวียดนามผู้ต้องหาที่ยังไม่ถูกตัดสินว่ากระทำผิดสามารถร้องขอต่อศาลไม่ให้สื่อนำเสนอข่าวและรูปภาพของตนได้ โดยศาลจะเป็นผู้พิจารณาว่าเห็นสมควรให้เป็นคดีลับหรือไม่ ส่วนใหญ่คดีที่ถูกจัดให้เป็นคดีลับจะเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติและการละเมิดขนบธรรมเนียมร้ายแรง . ขณะที่ทางเวียดนามให้ความสนใจและสอบถามการทำงานของสื่อไทยกับศาลและการนำเสนอภาพและเนื้อหาของผู้ต้องหาว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไร ตัวแทนจาก TJA ได้ร่วมกันอธิบายว่า สื่อไทยจะทำข่าวที่เกี่ยวข้องกับศาลผ่านการประสานกับโฆษกศาลเป็นหลัก กรณีต้องการติดตามความคืบหน้าของคดีจะสอบถามจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากสื่อไทยเป็นเอกเทศไม่ขึ้นกับหน่วยงานรัฐ จึงทำหน้าที่ทั้งสองขาคือประชาสัมพันธ์ความรู้ด้านกฎหมายให้ประชาชนและตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมไปในตัว . ขณะที่การนำเสนอภาพผู้ต้องหาของไทยก็มีกฎหมายคุ้มครอง เช่น กฎหมายเยาวชน ผู้ป่วย และตามหลักจริยธรรมการละเมิดสิทธินำเสนอภาพโดยผู้เสียหายไม่ยินยอมเป็นเรื่องผิด อย่างไรก็ตาม ยังพบสื่อบางสำนักที่ละเมิดเรื่องนี้อยู่บ้าง ซึ่งทาง TJA ได้เรียกร้องให้สื่อเคารพสิทธิในเรื่องนี้มาโดยตลอด ขณะที่สังคมในปัจจุบันก็ร่วมกดดันสื่อที่ละเมิดจริยธรรมผ่านโซเชียลมีเดียเช่นกัน . นอกจากนี้คณะ TJA ได้เข้าพบคณะกรรมการจังหวัดฮานาม (Hanam) โดยมี คุณ Nguyen Xuan Dong ประธานคณะกรรมการให้การต้อนรับ . คุณ Nguyen Xuan Dong กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้ต้อนรับคณะสื่อจากไทย พร้อมขอให้สื่อมวลชนจากไทยช่วยประชาสัมพันธ์จังหวัดฮานาม ให้นักลงทุนไทยรู้จักและเข้ามาลงทุนมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีนักลงทุนไทยที่เข้ามาลงทุนโดยตรง มีธุรกิจไทยเพียงรายเดียวที่เข้ามาร่วมทุนกับเวียดนาม ทั้งที่ฮานามเป็นเมืองที่มีนิคมอุตสาหกรรมถึง 8 แห่ง มีจุดแข็งคือ มีแรงงานมาก ค่าจ้างถูก นอกจากนี้อยู่ใกล้เมืองหลวง มีทางด่วนใช้เวลาเดินทางจากฮานอยเพียง 1.30 ชม. มีท่าเรือและมีรถไฟผ่าน โดยในปี 2018 จีดีพีของเมืองฮานามเติบโตจาก 7% เพิ่มเป็น 11% จากการที่มีนักลงทุนญี่ปุ่นและเกาหลีจำนวนมากเข้ามาตั้งโรงงาน ซึ่งจังหวัดมีแผนจะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องในอนาคตจึงหวังว่าจะมีนักลงทุนไทยเข้ามาลงทุน โดยสัญญาว่าจะให้การต้อนรับและดูแลอย่างดี . ปิดท้ายด้วยการเข้าพบสมาคมนักข่าวจังหวัดฮานามโดยมี คุณ Le Hong Ky นายกสมาคมนักข่าวจังหวัดฮานามให้การต้อนรับและเลี้ยงอาหารค่ำ ทั้งสองสมาคมได้แลกเปลี่ยนข้อมูลพื้นฐานระหว่างกัน โดยคุณมงคล บางประภา ได้อธิบายถึงบทบาทและโครงสร้างการทำงานของ TJA ขณะที่นายกสมาคมนักข่าวฮานาม ก็เป็นผู้บรรยายข้อมูลของฝั่งเวียดนาม ปัจจุบันสมาคมนักข่าวจังหวัดฮานามมีสมาชิก 106 คน จาก 3 หน่วยงาน คือ นสพ.ฮานาม นิตยสารฮานาม และสถานีโทรทัศน์ฮานาม ทั้งสามส่วนนี้อยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการจังหวัด การนำเสนอเนื้อหาจะเน้นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในจังหวัด แต่อาจมีข่าวระดับประเทศและต่างประเทศบางครั้ง . นายกสมาคมนักข่าวจังหวัดฮานาม เล่าว่า แม้สื่อในฮานามจะได้รับงบจากจังหวัดแต่ก็สามารถหารายได้จากการขายโฆษณาเองได้เช่นกัน ปัจจุบันสมาคมนักข่าวฯฮานามอยู่ระหว่างวางแผนฝึกอบรมบุคลากรเพื่อให้เท่าทันเทคโนโลยีใหม่ เช่น โซเชียลมีเดีย โดยหวังว่าจะมีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับ TJA ต่อไปในอนาคต