โดย ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์
* นิติวิทยาศาสตร์กับการพิสูจน์ความผิด
การนำหลักนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาค้นหาความจริงในคดี เริ่มตั้งแต่การตรวจที่เกิดเหตุ โดยแพทย์ ทีมแพทย์และทีมนิติวิทยาศาสตร์ไปยังที่เกิดเหตุแล้วเก็บวัตถุพยานขึ้นมา ถ้าพบศพก็เก็บไปห้องผ่าศพเพื่อพิสูจน์สาเหตุการตาย ถ้าพบวัตถุพยานก็จะส่งเข้าห้องปฏิบัติการตรวจสอบหลายประเภท ซึ่งการทำงานดังกล่าวต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล มิฉะนั้นจะไม่สามารถหยิบยกมาเป็นหลักฐานในคดีได้
การจับตัวผู้ต้องหาหรือการคลี่คลายคดีสำคัญต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลักฐานส่วนหนึ่งได้จากกล้องวงจรปิด กล้องตามตู้เอทีเอ็ม กล้องจากทางด่วน กล้องจราจร เป็นต้น กล้องเหล่านี้สามารถบอกได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิด ต่างจากในอดีตที่ใช้ประจักษ์พยาน กล่าวคือ คนซึ่งเห็นเหตุการณ์ ซึ่งอาจจะเชื่อถือไม่ได้ทั้งหมด แต่กล้องวงจรปิดที่บันทึกเหตุการณ์ในละแวกเดียวกับสถานที่เกิดเหตุจึงเป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้แน่นอนว่ามีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นอยู่จริง เพราะฉะนั้นพยานหลักฐานของคดีในอนาคตจะอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ในกรณีนี้คือไฟล์ภาพ ปัญหาและอุปสรรค คือ ประเทศไทยยังไม่สามารถพัฒนาผู้ตรวจพิสูจน์ในระบบดิจิทัลได้ทันกับความต้องการ โดยขณะนี้มีอยู่ในสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จำนวน 2 คน อยู่ในดีเอสไอ จำนวน 6 คน ที่เหลือต้องอาศัยจากหน่วยงานภายนอก เช่น มหาวิทยาลัย ซึ่งมีข้อจำกัดที่ไม่มีเวลาไปขึ้นศาล ทำให้คดีต่างๆ ทางคอมพิวเตอร์ เช่น คดีทางการเงิน คดีออนไลน์ ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก มีวัตถุพยานจำนวนมาก ก็ต้องอาศัยการตรวจหาพยานหลักฐานระบบดิจิทัลในเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งต้องใช้เวลาตรวจพิสูจน์ค่อนข้างนาน
ปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆได้พัฒนารุดหน้าไปมาก ขอยกตัวอย่าง เหตุการณ์ วางระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อปี 2560 หากไม่มีกล้องวงจรปิดก็ไม่สามารถติดตามผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีได้ แต่สามารถคลี่คลายได้ว่า บุคคลในรูปที่ต้องสงสัยไปปรากฏอยู่ในกล้องใด เฟรมใด ได้ในทันที เช่น หากได้รูปภาพของบุคคลหนึ่งมา แล้วที่เชื่อมกับฐานข้อมูลจากกล้องวงจรปิด จะสามารถระบุได้เลยว่า เวลานี้ท่านไปปรากฏที่สี่แยกไฟแดงนี้ แม้ว่ากล้องสามารถจับภาพใบหน้าด้านข้างของท่านเพียงแค่เสี้ยวเดียว หรือเห็นเพียงแค่ด้านหลังก็สามารถบอกได้ว่า เป็นบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ ด้วยความน่าเชื่อถือกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปลำดับเหตุการณ์ว่า นายคนนี้ ต้องผ่านไปจุดนี้ และไปจุดอื่นๆ อย่างไร ด้วยเหตุนี้มือวางระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าจึงถูกจับกุมในที่สุด
การค้นหาความจริงในคดีซึ่งถือเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญสูงมาก นั่นคือข้อมูลสารพันธุกรรม (DNA) และข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล หรือไบโอเมทริกซ์1 (Biometrics) ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น การสแกนภาพใบหน้าลงไปในหน่วยความจำ ซึ่งโดยปกติแล้วใบหน้าของบุคคลแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน ส่วนจะแตกต่างกันมากน้อยขนาดขึ้นกับความสามารถของซอฟท์แวร์ หากในสมัยก่อนอาจจะสามารถเปรียบเทียบได้เพียง 100 จุด ซึ่งอาจจะแยกความแตกต่างของฝาแฝด หรือ บางคนที่มีหน้าตาคล้ายคลึงกันไม่ได้ ต่อมาซอฟท์แวร์ได้พัฒนาเปรียบเทียบความแตกต่างบนใบหน้าได้ถึงหลายพันจุด หมายความว่า หากนำฝาแฝดมาสแกนใบหน้า ก็จะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ภาพใบหน้าของคนเรานั้นสามารถแก้ไขศัลยกรรมตกแต่งได้ ดังที่ได้ยินกันเสมอ ๆ ว่า สาวไทยเดินทางไปทำศัลยกรรมหน้าที่ประเทศเกาหลีใต้ แต่ตอนเดินทางกลับไม่สามารถเข้าประเทศได้ เพราะว่าหน้าตาเปลี่ยนไปมาก หากทำศัลยกรรมชนิดพลิกโฉมทั้งหมด เวลาผ่านพิธีตรวจคนเข้าเมืองจะยืนยันตัวบุคคลได้อย่างไร คำตอบคือ ใช้ลายพิมพ์นิ้วมือ ซึ่งสามารถบ่งบอกได้ว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน แต่ลายพิมพ์นิ้วมือในปัจจุบันสามารถดัดแปลงได้ โดยการลอกเลียน หรือบางคน มีปัญหาลายพิมพ์นิ้วมือบางมาก จึงถือว่าการตรวจอัตลักษณ์บุคคลด้วยลายพิมพ์นิ้วมือยังมีข้อจำกัด ดังนั้นจึงมีตัวเลือกหนึ่งคือ การส่องม่านตา แต่ยังมีข้อจำกัดสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางสายตา ซึ่งแตกต่างกับการเก็บสารพันธุกรรม DNA ที่สามารถเก็บได้จากเลือด จากเยื่อบุกระพุ้งแก้ม จากกระดูกแม้ผ่านการฝังมานานปีหลายปีก็สามารถนำมาสกัดหา DNA ได้ เพราะฉะนั้นการพิสูจน์อัตลักษณ์ของบุคคลซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญที่สุด คือ DNA นั่นเอง
มีหลายท่านตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมเราไม่เก็บ DNA คนไทยทุกคน ดังเช่นในอดีตประเทศอังกฤษซึ่งเป็นประเทศที่มีการเก็บ DNA ในเด็กเกิดใหม่ทุกคน คำตอบคือ ในปัจจุบันการเก็บสารพันธุกรรม หรือ DNA จะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าตัว หรือถ้าขอตรวจแล้วไม่ยินยอม ก็ให้ไปเข้าหลักประมวลกฎหมายวิธีพิจารณามาตรา 244/1 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง2 กล่าวคือ สันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำความผิดไว้ก่อน สามารถทำได้เพียงเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ เหมือนกรณีการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกาย หากไม่ยินยอมให้ตรวจก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าดื่มสุรามาก่อน
อีกทั้งเคยมีผู้ตั้งคำถามว่า ในเมื่อข้อมูล DNA เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่สำคัญ ทำไมไม่ใช้วิธีฝังชิปแล้วเก็บเป็นคลังข้อมูลของแต่ละบุคคลไว้เพื่อประโยชน์ในการคลี่คลายคดี หรือเหตุการณ์ในอนาคต? ตรงนี้ขออธิบายว่า หากทุกคนถูกฝังชิป แล้วมีผู้ไม่หวังดีลักลอบขโมยข้อมูลนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น นำ DNA ของเราไปทำให้ปรากฏในที่เกิดเหตุ เราอาจเป็นผู้ถูกกล่าวหาได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด จึงเป็นที่หวั่นวิตกในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล
นอกจากนี้ ยังมีวิธีการยืนยันตัวตนด้วยระบบอื่น เช่น การยืนยันตัวตนด้วยรหัส OTP ผ่านโทรศัพท์มือถือ การยืนยันตัวตนด้วยเสียง ซึ่งแต่ละคนจะมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน แม้ว่า จะมีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้าง ในปัจจุบันเทคโนโลยีการยืนยันตัวตนด้วยเสียงได้ถูกนำไปใช้แล้วในสถาบันการเงินบางแห่ง จะเห็นได้ว่าระบบยืนยันตัวตนมีความสำคัญมาก และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงมีความเป็นไปได้ว่า ในอนาคตระบบยืนยันตัวตนโดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะมาแทนที่การยืนยันตัวบุคคลด้วยหมายเลขประจำตัว 13 หลัก ดังเช่นประเทศอินเดียที่กล่าวไปแล้ว
* นิติวิทยาศาสตร์ : พยานหลักฐานในชั้นศาล
การให้ความเห็นทางการแพทย์ เป็นเรื่องเสมือนศิลปะ เช่น การผ่าศพพบว่ามีร่องรอยกระดูกหัก มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย มีเส้นเลือดในสมองแตก ในฐานะแพทย์ก็ต้องให้ความเห็นว่า น่าจะเสียชีวิตด้วยสาเหตุอะไร เนื่องจากอาจจะพบหลายสาเหตุ เช่น ผู้ตายอาจจะเสียชีวิตโดยอาการหัวใจวาย มาก่อน แล้วขับรถไปชนในภายหลังทำให้กระดูกหัก เลือดออกในสมอง แบบนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นแพทย์นิติเวชต้องให้ความเห็นตรงโดยอาศัยจากประสบการณ์และข้อมูลหลากหลายด้าน เพราะฉะนั้นงานนิติวิทยาศาสตร์จึงประกอบด้วย ทั้งศาสตร์ และศิลป์ โดยที่มาที่ไปของวิชานิติวิทยาศาสตร์ เริ่มจากการตรวจที่เกิดเหตุ หลักการคือ ถ้าใครสัมผัสอะไร จะต้องทิ้งร่องรอยไว้เสมอ นี่เป็นวิชาพิสูจน์หลักฐานของตำรวจที่สั่งสอนกันมา เมื่อได้พยานหลักฐานแล้วจึงส่งเข้าห้องปฏิบัติการ ได้ผลออกมาอย่างไรจึงส่งไปศาล
ในปัจจุบันทนายความมีความรอบรู้ โดยผู้พิพากษาเองก็ให้ความสนใจการนำหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่มีมาตรฐานมาเป็นพยานศาลมากขึ้น ซึ่งในต่างประเทศเมื่อมีการสอบถามพยานผู้เชี่ยวชาญ พยานจะถูกซักถามเพื่อให้ศาลรับฟังเพื่อชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือของพยานอย่างเข้มข้น เช่น ปัจจุบันคุณหมอยังผ่าศพพิสูจน์อยู่หรือไม่ หากก้าวขึ้นเป็นระดับผู้บริหารมากว่า 20 ปีแล้ว นั่นหมายความว่า ไม่ได้ลงมือผ่าศพพิสูจน์อีกเลย ดังนั้นความเชี่ยวชาญเรื่องการผ่าศพในอดีต อาจจะด้อยประสิทธิภาพลง เช่นเดียวกับผู้ที่เรียนจบวิทยาศาสตร์และไปปฏิบัติหน้าที่ในแผนกเคมีเพื่อตรวจสารพิษ ตรวจยาเสพติด ต่อมาอีกสองสามปีย้ายไปตรวจ DNA แล้วย้ายไปตรวจอาวุธปืนตามลำดับ เมื่อถูกอ้างเป็นพยานในคดีเรื่องเคมี ในต่างประเทศพยานผู้เชี่ยวชาญผู้นี้จะไม่สามารถรับฟังได้ เพราะถือว่าในปัจจุบันด้อยสมรรถนะเรื่องการตรวจพิสูจน์เรื่องสารพิษแล้ว ดังนั้น ผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจพิสูจน์ในต่างประเทศทุกคน ในทุกๆปี หรือ 2 – 3 ปี จะมีการทดสอบความเชี่ยวชาญด้านการตรวจพิสูจน์ ซึ่งใช้งบประมาณสูงมาก สถาบันนิติวิทยาศาสตร์จึงต้องใช้วิธีหมุนเวียนการทดสอบความเชี่ยวชาญของผู้ตรวจพิสูจน์ โดยต้องทำคำขอไปที่ต่างประเทศ เพื่อให้ส่งวัตถุพยานมาให้ตรวจแล้วรายงานผลกลับไป จากนั้นทางต่างประเทศก็จะส่งคำตอบมาให้ว่าสิ่งที่รายงานผลไปนั้นถูกต้องหรือไม่ หากตรวจไม่ผ่าน ก็จะไม่อนุญาตให้เซ็นต์รายงานการตรวจพิสูจน์ ซึ่งจะมีผลต่อค่าตอบแทนพิเศษด้วยในอนาคต
การตรวจสอบที่เกิดเหตุ เพื่อเก็บวัตถุพยานเพื่อส่งตรวจ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก โดยจะต้องมีกระบวนการเก็บที่ถูกวิธี และปราศจากสิ่งปนเปื้อน ต้องตรวจอย่างละเอียด และต้องดูลักษณะทุกอย่าง เช่น ลักษณะเส้นใย หากเป็นเบาะรถยนต์ จะต้องเก็บเส้นใยที่ติดบริเวณเบาะรถยนต์ แล้วนำไปตรวจโดยกล้องจุลทรรศน์และทางฟิสิกส์ เพราะว่าเส้นใยเสื้อผ้าของคนทุกคนจะมีลักษณะเฉพาะเสมอ ซึ่งอาจสามารถระบุได้เลยว่า บุคคลนี้เคยนั่งรถยนต์คันนี้มาก่อนหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่นในคดีทางจังหวัดชายแดนใต้ เราสามารถตามตัวผู้ต้องสงสัยโดยมีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์คือการตรวจเส้นใยจากเสื้อผ้ายืนยัน แม้ว่าเขาปฏิเสธในตอนต้น แต่เมื่อใช้การตรวจทางฟิสิกส์จะพบว่า ผู้ต้องสงสัยนั่งรถยนต์คันนี้จริง
โดยปกติแล้วในต่างประเทศ เมื่อมีเหตุเกิดขึ้น เขาจะต้องปิดล้อมสถานที่เกิดเหตุเป็นอันดับแรก เพื่อมิให้ผู้อื่นเข้าไปวุ่นวาย ทำลายหลักฐาน โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะทุกสิ่งที่ปรากฏอยู่ในที่เกิดเหตุสามารถนำเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลได้ ขณะเดียวกันสิ่งที่ไม่ปรากฏในที่เกิดเหตุ แต่ไปปรากฏเพิ่มเติมในสำนวนภายหลัง ศาลไม่อาจรับฟังได้ เช่น ขณะตรวจสถานที่เกิดเหตุในตอนแรกไม่พบก้นบุหรี่ แต่ต่อมาตรวจพบก้นบุหรี่แล้วพบว่ามี DNA ตรงกับนาย A ตรงนี้ศาลจะตั้งคำถามว่า ทำไมหลักฐานชิ้นนี้ไม่มีปรากฏในตอนแรก ดังนั้นจึงรับฟังไม่ได้ เพราะฉะนั้นการตรวจที่เกิดเหตุมีผลต่อรูปคดีมาก หากมาขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานในภายหลังก็อาจเป็นเหตุให้ชวนสงสัยได้ อีกประการคือ เมื่อเจอหลักฐานแล้วแล้วมีใครไปสัมผัสหรือไม่ ถ้ามีใครไปสัมผัสวัตถุพยานก็จะเปลี่ยน เช่น DNA แทนที่จะเป็นของบุคคลเพียงคนเดียวกลับกลายเป็น DNA ของบุคคลสองคน หรือสามคน แล้วใครเป็นผู้ก่อเหตุกันแน่ ? หากเป็นดังนี้แล้วศาลอาจยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย
กระบวนการเก็บพยานหลักฐาน หากไม่ทำตามมาตรฐาน การได้มาซึ่งพยานหลักฐานก็จะไม่มีน้ำหนักหรือมีน้ำหนักน้อย เป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลยพินิจไปอีกทางหนึ่ง สิ่งนี้เรียกว่า Chain of custody หรือห่วงโซ่พยาน โดยการบรรจุหีบห่อก็มีส่วนสำคัญ ในอดีตการบรรจุวัตถุพยานจะใส่ในถุงกระดาษหรือใส่ถุงทั่วไป ซึ่งถุงนั้นอาจเคยใส่วัตถุพยานอื่นมาก่อน แล้วเอามาใช้ซ้ำ ก็ทำให้ศาลรับฟังไม่ได้ ถือว่าไม่มีมาตรฐาน ถุงบรรจุวัตถุพยานต้องใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง ห้ามนำกลับมาใช้ซ้ำ หีบห่อต้องมีมาตรฐาน ถ้าหีบห่อสามารถเปิดแล้วบรรจุกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้ แสดงว่าเป็นหีบห่อที่ไม่มีมาตรฐาน ในปัจจุบันจึงมีบาร์โค้ดบนซอง เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานกระบวนการส่งตรวจวัตถุพยานในทุกขั้นตอน
การตรวจทางนิติเวชคลินิก กรณีผู้เสียหายหรือผู้ต้องสงสัยถูกส่งตัวมาตรวจร่างกาย เช่น คดีข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งหมอนิติเวชจะต้องตรวจร่องรอยการร่วมประเวณี ตรวจหาวัตถุพยาน คราบอสุจิหรือสารคัดหลั่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมีอายุหรือระยะเวลา เช่น สเปิร์ม มีอายุในช่องคลอดผู้หญิงได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ส่วนตัวอสุจิที่ตายแล้ว เคยมีรายงานว่าพบในช่องคลอดผู้หญิงได้ถึง 7 วัน แต่มีโอกาสน้อย ส่วนใหญ่การพิสูจน์ในคดีดังกล่าวมักจะใช้วิธีการทางเคมี คือตรวจหาเอ็นไซม์เอซิดฟอสฟาเทส (acid phosphatase test) ซึ่งจะซึ่งจะให้ผลบวกภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากที่มีการร่วมประเวณี แต่อาจจะให้ผลบวกเทียมกับน้ำคัดหลั่งในช่องคลอด (vaginal discharge) โดยที่วิธีนี้ยังถือว่าเป็นวิธีการตรวจมาตรฐาน (gold standard method)
นอกจากนี้ ยังมีกรณีตรวจ DNA นอกเหนือไปจากตรวจจากช่องคลอดแล้ว ยังสามารถตรวจจากบริเวณอื่นได้ด้วย เช่น บริเวณก้น ใบหู หน้าอก หรือบริเวณใดก็ตามที่มีสารคัดหลั่งของผู้ชายไปปรากฏ เช่น น้ำลาย เพราะฉะนั้นเวลาที่ตรวจ พยาบาลจะสอบถามลักษณะของการข่มขืนกระทำชำเรา หากมีการกัดที่ใบหู มีการมาใช้ปากกับบริเวณหน้าอกหรือหน้าท้อง ก็สามารถเก็บหลักฐานไปตรวจได้
ในคดีข่มขืนกระทำชำเรา หากไม่มี DNA อาจทำให้คนที่บริสุทธิ์หลายรายต้องเข้าคุก มีกรณีตัวอย่างคือ ผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งชอบพูดจาเกี้ยวพาราสีผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปี ต่อมาผู้เสียหายได้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ถูกชายหนุ่มลักษณะเป็นคนไม่มีผม ปีนเข้าไปข่มขืน โดยมีประจักษ์พยานซึ่งเป็นญาติพี่น้องของฝ่ายหญิงยืนยันว่าเห็นผู้ต้องสงสัย และพบรองเท้าแตะวางอยู่หน้าบ้าน ซึ่งตรงกับของผู้ต้องสงสัย พนักงานสอบสวนจึงส่งตัวผู้ต้องสงสัยไปฝากขัง และต่อมาได้ทำการตรวจร่างกายในเบื้องต้นพบว่ามีน้ำอสุจิในช่องคลอด แต่เมื่อส่งมาตรวจที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ซึ่งได้ทำการตรวจ DNA ปรากฏว่า DNA ไม่ใช่ของชายผู้ต้องสงสัย จึงไปสอบถามเพิ่มเติม และได้ความจริง ปรากฏว่าน้ำอสุจิเป็นของแฟนของหญิงผู้เสียหายเอง โดยสาเหตุที่ไปแจ้งความเนื่องจากไม่ชอบหน้าชายหนุ่มผู้ต้องสงสัยเพราะชอบแซวตน จึงได้ทำการจัดฉากขึ้น นี่คือความน่ากลัวของการตรวจพยานหลักฐานที่ไม่ครบถ้วน
งานนิติวิทยาศาสตร์ ไม่เพียงช่วยไขคดีด้วยการตรวจ DNA เพื่อหาผู้กระทำความผิดตัวจริงเท่านั้น แต่ยังมีภารกิจหน้าที่ในการตรวจสถานที่เกิดเหตุ การถ่ายรูป การตรวจลายนิ้วมือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า การตรวจเอกสาร การตรวจอาวุธปืน และกระสุนปืนของกลาง การตรวจทางเคมี การตรวจทางฟิสิกส์ การตรวจทางชีววิทยา ซึ่งความสำเร็จของคดีพิเศษในช่วงที่ผ่านมาได้ ใช้กระบวนการตรวจพิสูจน์หลักฐานด้านนิติวิทยาศาสตร์ในการค้นหาความจริงในคดีมาแล้วทั้งสิ้น
บทความใกล้เคียง
- นิติวิทยาศาสตร์กับการค้นหาความจริงในคดี (1) https://siamrath.co.th/n/96989