โดย ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์
ปัจจุบัน ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นรอบตัวเราทวีความรุนแรงและมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น จึงทำให้การนำตัวผู้กระทำความผิดที่แท้จริงมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะจะต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานมายืนยันให้สามารถพิสูจน์ความผิดได้อย่างชัดเจน ดังนั้น
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศในแถบทวีปยุโรป ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น จึงมีการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ มาพัฒนาใช้ในการพิสูจน์หลักฐานต่างๆ ให้ได้ผลที่ถูกต้องแท้จริงตามหลักวิทยาศาสตร์ ในเรื่องดังกล่าว นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับเชิญจากสภาทนายความในการเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่ทนายความ ในหัวข้อ “นิติวิทยาศาสตร์กับการค้นหาความจริงในคดี” เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ณ สภาทนายความ
* ความหมายของคำว่านิติวิทยาศาสตร์
คำว่า “นิติวิทยาศาสตร์” มาจากคำสองคำ คือ นิติ กับวิทยาศาสตร์ นิติ คือ เรื่องของกฎหมาย วิทยาศาสตร์หมายถึง วิชาที่ได้มาโดยการศึกษา ค้นคว้า วิจัย จนเป็นที่ยอมรับ สามารถนำไปใช้ อ้างอิง ดังนั้น คำว่า “นิติวิทยาศาสตร์” จึงหมายถึงการใช้วิทยาศาสตร์ที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้า อ้างอิง มาเพื่อตอบปัญหาทางกฎหมายหรือแสวงหาข้อเท็จจริงในทางกฎหมาย เพราะฉะนั้นศาสตร์ทุกศาสตร์ที่สามารถไขข้อข้องใจ หรือสามารถมาตอบปัญหาทางกฎหมายได้ หรือ แสวงหาข้อเท็จจริงได้จึงเรียกว่านิติวิทยาศาสตร์ อาจจะเป็นวิทยาศาสตร์สาขาแพทยศาสตร์ มาตอบปัญหาทางกฎหมาย มาแสวงหาข้อเท็จจริงทางกฎหมายที่เราเรียกว่า “นิติเวชศาสตร์ (Forensic Medicine)” ก็เป็นสาขาหนึ่งของนิติวิทยาศาสตร์ ในต่างประเทศมีนิติวิทยาศาสตร์สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ที่เรียกว่า “นิติวิศวกรรมศาสตร์ (Forensic Engineering)” ซึ่งตรวจพิสูจน์ในคดีที่เกี่ยวข้องกับด้านวิศวกรรมศาสตร์ ตัวอย่างเช่น การตรวจยานยนตร์ในคดีจราจร การตรวจโครงสร้างอาคาร เพื่อให้ความเห็นต่อกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น ในปัจจุบันมีนิติวิทยาศาสตร์อีกสาขาหนึ่งที่เรารู้จักกันดีและมีการใช้มากขึ้นมาก ในโลกยุคสังคมออนไลน์และ IOT (Internet of Thing) คือ สาขานิติวิทยาศาสตร์ดิจิทัล (Digital Forensic) ซึ่งมีความสำคัญมากในการคลี่คลายคดีทางเทคโนโลยี การสืบสวนสอบสวน การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมต่างๆ รวมทั้งภัยความมั่นคง ปัจจุบันดีเอสไอได้นำกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์มาดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาความจริงในคดี หรืออาจกล่าวได้ว่า กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่มีความสำคัญในการสอบสวนแนวใหม่เพราะกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์เป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักที่ศาลรับฟัง
* งานนิติวิทยาศาสตร์ที่สำคัญในต่างประเทศ
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะให้ความสำคัญในการนำนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ควบคู่กับกระบวนการยุติธรรม เพื่อลดการโต้แย้ง หรือความหวาดระแวงระหว่างผู้บังคับใช้กฎหมายกับผู้ถูกกล่าวหา เนื่องจากนิติวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องหลักการและเหตุผลที่เป็นจริง สามารถพิสูจน์ได้ นอกจากนั้นยังมีการใช้นิติวิทยาศาสตร์เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น เพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล
ประเทศอินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นตัวอย่างในการนำนิติวิทยาศาสตร์เข้าไปใช้ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยการจัดทำการเก็บอัตลักษณ์บุคคลของประชาชนทุกคนที่อยู่ในประเทศอินเดีย รวมทั้งผู้ที่พำนักในประเทศอินเดียเกินกว่า 6 เดือน เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศอินเดียเป็นประเทศใหญ่ มีจำนวนประชากรจำนวนมาก และประชาชนที่มาอยู่อาศัยจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นคนอินเดีย ทำให้ไม่มีข้อมูลประชากรที่แท้จริง มีแต่การคาดการณ์ ซึ่งแต่เดิมในอดีตคาดว่ามีประชากรประมาณ 700 – 1,000 ล้านคน คนอินเดียไม่มีหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อมีเด็กเกิดใหม่ ในอดีตจะมีการแจ้งเกิดกับท้องที่ ทางการจะออกเลขประจำตัวเกิด แต่ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน เนื่องจากประเทศอินเดียกว้างใหญ่มากและมีประชากรที่หลากหลาย โดยเฉพาะตามแนวชายแดน จึงเป็นการยากที่จะตรวจสอบว่าผู้ใดเป็นพลเมืองชาวอินเดียจริงๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลในอดีตไม่สามารถประมาณการงบประมาณสำหรับการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งไม่สามารถวางแผนการพัฒนาประเทศทุกด้านได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การเมือง การปกครอง รวมถึงการกระจายรายได้และโอกาสให้ประชาชน รัฐบาลอินเดียจึงหันมามุ่งเน้นการให้ได้มาซึ่งข้อมูลประชากรผู้อยู่อาศัยในประเทศอินเดียทั้งหมด
ดังนั้น นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2019 ประเทศอินเดียจึงได้ริเริ่มโครงการที่เรียกว่า “Aadhaar Project” เพื่อเก็บข้อมูลทางชีวภาพของบุคคลหรือไบโอเมทริกซ์ (Biometrics) 3 อย่างของผู้ลงทะเบียน ได้แก่ ลายพิมพ์นิ้วมือ ภาพใบหน้า และม่านตา ผู้ลงทะเบียนจะมีเลข Aadhaar Number เป็นเลข 12 หลักเป็นเลขอ้างอิง ข้อมูลของผู้ลงทะเบียนเป็นเครื่องมือในทางนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Policy Tool) สำหรับใช้ในการจัดการงบประมาณ สังคม เศรษฐกิจ และการปฏิรูปการขับเคลื่อนภาครัฐ (Public Sector Delivery Reforms) โครงการดังกล่าวไม่บังคับว่าทุกคนที่อยู่อาศัยในอินเดียต้องลงทะเบียน แต่เมื่อใดก็ตามที่เขาต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาล เช่น เงินสนับสนุนค่าน้ำมันรถ ค่าที่อยู่อาศัย ค่าสวัสดิการของรัฐ จะไปทำใบขับขี่ จะไปเปิดบัญชีธนาคาร จะซื้อซิมการ์ดโทรศัพท์ เขาผู้นั้นต้องมาลงทะเบียนในระบบ Aadhaa ก่อน แล้วจึงสามารถมีสิทธิ์ทำธุรกรรม รวมทั้งสามารถยืนยันตัวตนผ่านระบบของหน่วยให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
โครงการนี้ทำให้ประเทศอินเดียไม่ต้องเปลืองงบประมาณจัดทำบัตรสมาร์ทการ์ด ไม่ต้องดำเนินการผ่านคนกลาง ลดการทุจริต ประชาชนสามารถเข้ามาลงทะเบียนในหน่วยงานซึ่งมีสาขาต่าง ๆ อยู่ทั่วประเทศ ปรากฏว่า ในช่วง 2-3 ปี หลังดำเนินการ มีผู้ลงทะเบียนในระบบไบโอเมทริกซ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันพบว่า จำนวนประชากรในประเทศที่เดิมเคยเข้าใจว่ามีประมาณ 700 – 1,000 ล้านคน เพิ่มเป็นร่วม 1,400 ล้านคน ทำให้ทราบจำนวนประชากรที่แท้จริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก ระบบไบโอเมทริกซ์ของประเทศอินเดียจึงเป็นระบบที่ใหญ่มาก และใช้งบประมาณมหาศาล แต่หลังจากที่ดำเนินการผ่านไปเพียงไม่กี่ปี ประเทศอินเดียสามารถประหยัดงบประมาณด้านการช่วยเหลือประชาชนได้ถึง 600 % หรือ 6 เท่า เมื่อถามว่าประหยัดงบประมาณได้อย่างไร คำตอบคือ การจัดทำระบบไบโอเมทริกซ์ทำให้ทราบข้อมูลที่แท้จริง เช่น ทราบจำนวนผู้มีรายได้น้อยจากฐานข้อมูลธุรกรรมการเงินในระบบไบโอเมทริกซ์ ถ้าหากให้คนไปสำรวจรายชื่อผู้มีรายได้น้อยก็อาจมีช่องว่างให้สอดแทรกรายชื่อคนใกล้ชิดแฝงเข้ามา หรือการจัดทำข้อมูลเท็จเป็นจำนวนมาก ที่ยกตัวอย่างมานี้ คือประโยชน์ของการจัดทำระบบยืนยันตัวตนที่มีมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม หากประเทศอินเดียเก็บข้อมูล DNA ของทุกคนในระบบไบโอเมทริกซ์ จะเกิดอะไรขึ้น หากข้อมูลส่วนตัวชั้นลึกที่ถูกเก็บไว้ ถูกขโมยไปแล้วนำไปทิ้งร่องรอยไว้ที่อื่น
ลักษณะของ DNA เป็นสิ่งที่ปรากฏเฉพาะบุคคล แต่การแปลผลว่าไปตรงกับใครด้วยความเชื่อมั่นกี่เปอร์เซ็นต์นั้น ไม่อาจกล่าวได้ว่าเต็ม 100 % เพราะในบางกรณี DNA ที่นำมาตรวจเสื่อมสภาพไป
จึงปรากฏผลความเชื่อมันในระดับ 70 - 80 เปอร์เซ็นต์ จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญในชั้นศาล หากทนายความถามว่า DNA ที่พบตรงกับผู้ต้องหาในระดับด้วยความเชื่อมั่น 80 % นั่นแสดงว่ามีความไม่เชื่อมั่นอยู่ 20 % อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นดุลยพินิจของศาล แต่ในความเป็นจริงแล้วระดับความเชื่อมั่น 80 % นับว่ามีความเพียงพอแล้วเพราะยังมีหลักฐานอย่างอื่นประกอบการพิจารณาอีกด้วย
ขอยกตัวอย่างคดีที่เป็นกรณีศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา และทั่วโลก นั่นคือ คดีของ โอเจ ซิมสัน2 แม้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะพบหลักฐานในที่เกิดเหตุจำนวนมากที่ตรงกับผลตรวจ DNA ของโอเจ แต่ยังไม่มีประจักษ์พยานสำหรับคดีดังกล่าว เขาจึงใช้ช่องว่างในส่วนนี้ต่อสู้คดี โดยมีทีมทนายคู่ใจที่เก่งกาจ หยิบยกวิธีเก็บพยานหลักฐานที่ไม่ถูกต้องของเจ้าหน้าที่ จึงทำให้หลักฐานทั้งหมดมีความน่าเชื่อถือลดลง โดยเฉพาะประเด็นที่เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุไม่ได้เปลี่ยนถุงมือขณะไปสัมผัสวัตถุพยานอย่างอื่น ซึ่งเขาไปจับลูกบิดประตูที่อาจมี DNA ของโอเจติดอยู่ และอาจทำให้ DNA ของโอเจที่ประตูติดถุงมือมาด้วย จากนั้นเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวอาจไปจับมีดที่เป็นอาวุธใช้ก่อเหตุ จึงทำให้ DNA ของโอเจ ไปติดที่มีดดังกล่าว และแน่นอนว่า โอเจปฏิเสธว่าเขาไม่ได้จับมีด แต่การที่ DNA ของเขาไปปรากฏที่มีดก็เพราะคนตรวจพิสูจน์หลักฐานไม่ได้เปลี่ยนถุงมือต่างหาก ทำให้โอเจ ซิมสัน ชนะคดีในที่สุด ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการเก็บและตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานจึงต้องมีมาตรฐาน และมีการปฏิบัติตามมาตรฐาน จึงได้ผลตรวจที่มีความน่าเชื่อถือ มีน้ำหนักรับฟังได้
* งานนิติวิทยาศาสตร์ที่สำคัญในประเทศไทย
ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงด้านนิติวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่พ.ศ.2545 หลังจากมีรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในการให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนอย่างใหญหลวง ดังจะเห็นได้จากการตั้งหน่วยงานอิสระเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก เช่น สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นต้น
ต้องยอมรับว่าในห้วง 15 ปี ก่อนหน้านี้ เรื่องของนิติวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงมากนักในประเทศไทย แต่มาเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ส่วนหนึ่งที่สำคัญทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เป็นผู้จุดประกายให้สังคมรับรู้เรื่องนี้ จากนั้นเป็นต้นมาจึงมีการพูดถึงงานด้านนิติวิทยาศาสตร์กันมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในปัจจุบันทุกคดีจะต้องมีคำว่านิติวิทยาศาสตร์เข้ามาแทรกอยู่ ดังที่ได้ยินพนักงานสอบสวนกล่าวเสมอ ๆ ว่า รอผลทางนิติวิทยาศาสตร์อยู่ ไม่ว่าจะเป็นผลการตรวจ DNA ผลตรวจลายนิ้วมือ เป็นต้น นั่นหมายความว่านิติวิทยาศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสืบสวนสอบสวนและกระบวนการยุติธรรมแล้ว
ในอดีตยังไม่มีสาขานิติเวชศาสตร์ในประเทศไทยโดยตรง การทำงานตรวจพิสูจน์หลักฐานทางการแพทย์ต่าง ๆ ต้องอาศัยแพทย์หลากหลายสาขามาช่วยตรวจสอบ แต่ปัจจุบันมีสาขาวิชานิติเวชศาสตร์โดยตรงซึ่งมีการศึกษาลึกซึ้งไปกว่าที่แพทย์ทั่วไปศึกษา ซึ่งได้นำกระบวนการและความรู้ทางด้านการแพทย์ มาประยุกต์ใช้ในงานด้านกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งศึกษาเรื่องของศพ เช่น เสียชีวิตเพราะอะไร เสียชีวิตจากอะไร เกิดจากกลไกอะไรที่ทำให้เสียชีวิตได้บ้าง งานนิติเวชศาสตร์จึงได้รับการยอมรับและถูกนำมาใช้ในการสืบสวนสอบสวนมาจนถึงปัจจุบัน
บทความใกล้เคียง
- นิติวิทยาศาสตร์กับการค้นหาความจริงในคดี (จบ) https://siamrath.co.th/n/97010