คณะวิทยาศาสตร์จุฬาฯ ตั้งเป้าปั้น Deep Tech Startup หวังดันหิ้งสู่ห้าง เปิดตัว แกรนด์โกลด์อินโนกรุ๊ป จำกัด Startup น้องใหม่จากนิสิต ป.เอกฯ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯประกาศปั้น Deep Tech Startup หวังดันงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์จากหิ้งสู่ห้าง ผ่านการเสริมทักษะความรู้ด้านธุรกิจให้นิสิตนักวิจัย และการผนึกกำลังกับหลักสูตร CUTIP แนะนำ บริษัทแกรนด์โกลด์อินโนกรุ๊ป จำกัด ของนิสิตปริญญาเอก กรณีศึกษาโมเดลนำหิ้งสู่ห้าง นำงานวิจัยระหว่างเรียนมาต่อยอดให้เกิดเป็นธุรกิจ นำอนุภาคนาโนทองคำ มาใช้ในอุตสาหกรรมเวชสำอาง พร้อมเปิดตัวสินค้าตัวแรกของบริษัท GrandGold Extra Anti-Acne Gel หรือ เจลแต้มสิว ที่จะช่วยทำให้สิวยุบได้ภายใน 1-2 วัน โดยไม่ทิ้งรอยสิว ศาสตราจารย์ ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในแต่ละปีการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์จะมีผลงานการศึกษาและวิจัยที่มีคุณภาพจากนิสิตในทุกระดับ โดยเฉพาะ นิสิตระดับ โท และ เอก จำนวนนับหลายร้อยผลงาน ซึ่งในจำนวนนี้มีไม่น้อยที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีคุณภาพสูงและได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการชั้นนำระดับโลก หรือถูกนำไปสร้างเป็นต้นแบบนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลในเวทีประกวดในระดับนานาชาติ และระดับประเทศ หรือถูกนำไปจดสิทธิบัตร นอกจากนี้ก็ยังมีผลงานอีกส่วนหนึ่งที่ถูกนำไปต่อยอดอุตสาหกรรมและธุรกิจ แต่ก็ยังไม่มากเท่าที่ควร จากการที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ให้ความสนใจเข้ามาสนับสนุนการให้เกิดทำธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรม เมื่อไม่กี่ปีมานี้ บวกกับนโยบายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ต้องการผลักดันให้นวัตกรรมและผลงานจากการวิจัยที่มีอยู่จำนวนมากในจุฬาฯ ที่เคยอยู่บนหิ้งให้ออกสู่ห้าง และถูกนำออกไปใช้ประโยชน์และต่อยอดในเชิงพาณิชย์ให้มากที่สุด คณะวิทยาศาสตร์ฯ จึงมองว่ากระแส Deep Tech Startup ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้เป็นเทนนด์ระดับโลก เป็นโอกาสและจังหวะเวลาที่ดีของนิสิตของคณะฯ ที่จะได้นำผลงานที่ตนเองได้จากการวิจัยหรือผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ศึกษาและพัฒนาขึ้นในระหว่างการเรียนที่ศึกษา ไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมและต่อยอดในเชิงธุรกิจ หรือก้าวไปสู่ Deep Tech Startup ได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่หยุดตรงที่ได้รับการตีพิมพ์หรือจดสิทธิบัตรแล้วจบการศึกษาเพื่อไปทำงานในองค์กรธุรกิจในสายงาน ซึ่งยังจะทำให้นิสิตคณะวิทยฯมีทางเลือกภายหลักจบการศึกษาที่ก้าวมากขึ้นไม่ใช่เรียนเพื่อไปเป็นลูกจ้างหรือพนักงานองค์กรเท่านั้น ดังนั้นเพื่อการผลักดันให้ผลงานของนิสิตก้าวไปสู่ Deep Tech Startup ให้เพิ่มมากขึ้น คณะฯ จึงได้เริ่มมีการปรับหลักสูตรโดยให้นิสิตของคณะได้เรียนแบบข้ามศาสตร์มากขึ้น เพื่อให้นิสิตได้เข้าใจถึงเรื่องของตลาด ลูกค้า ความรู้ทางด้านธุรกิจเบื้องต้น รวมถึงให้คณาจารย์ของภาควิชาต่างๆของคณะกระตุ้นให้นิสิตมองหาโจทย์การวิจัยหรือการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากขึ้น และช่วยผลักดันให้นิสิตได้ในการพัฒนาผลงานให้เกิดเป็นนวัตกรรมและออกสู่เชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับหลักสูตร ธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการเข้ามาช่วยโค้ชนิสิตของคณะฯในการพัฒนางานวิจัยเพื่อต่อยอดในธุรกิจ ดังเช่น บริษัท แกรนด์โกลด์อินโนกรุ๊ป จำกัด เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาความสำเร็จของคณะและหลักสูตร ที่แสดงให้เห็นถึงรูปแบบการพัฒนางานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง ซึ่งเกิดมาจากผลงานของนิสิตปริญญาเอกของคณะที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับอนุภาคนาโนทองคำ และนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเวชสำอางค์ ซึ่งนอกจากผลงานของนิสิตจะได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติตามข้อกำหนดของมหาวิทยาลัยแล้ว ยังได้มีการพัฒนาออกมาเป็นนวัตกรรมที่พร้อมนำไปใช้งานซึ่งได้รับรางวัลจากเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับชาติและระดับนานาชาติมาแล้ว และได้รับการโค้ชจากหลักสูตรในการพัฒนาเป็นแผนธุรกิจเพื่อขอรับทุนจากหน่วยงานรัฐ จนกระทั่งเกิดเป็น Deep Tech Startup ในวันนี้ ดร.ศักดิ์ชัย หลักสี กรรมการผู้จัดการบริษัท แกรนด์โกลด์อินโนกรุ๊ป จำกัด ได้กล่าวถึง นวัตกรรมของบริษัทว่า เกิดจากการศึกษาและวิจัยในระดับปริญญาโทและเอกของตนเอง เกี่ยวกับ อนุภาคนาโนทองคำ (Gold nanoparticles) ให้มีขนาดการกระจายตัวแบบเดียวกันที่เหมาะสมและเพิ่มประสิทธิภาพในการนำส่งสารออกฤทธิ์ได้ดีมากขึ้นด้วยวิธีการที่ปลอดภัย และอนุภาคนาโนทองคำจากระบบนี้ ถือว่าเป็นต้นแบบ universal pocket ที่เหมาะสำหรับนำส่งสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมทุกชนิด ดังนั้นแนวคิดนี้บริษัทจึงได้นำมา ต่อยอดเป็นนวัตกรรมต้นแบบเวชสำองค์ที่นำเอาอนุภาคนาโนทองค มาประยุกต์ใช้ โดยนำ 2 องค์ประกอบที่สำคัญคือ สารออกฤทธิ์ในด้านต่างๆ และ อนุภาคนาโนทองคำ ซึ่งเป็นนวัตกรรมนำส่งสารสำคัญผ่านผิวหนังจะทำให้สารสำคัญต่างๆ ซึมเข้าสู่ผิวได้อย่างล้ำลึกและง่ายขึ้น เห็นผลเร็วมากขึ้น โดยแผนธุรกิจของบริษัทจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ B2B และ B2C ในส่วน B2B หรือ Business to Business บริษัทจะขายตัวอนุภาคนาโนทองคำให้กับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยาและเวชสำอางค์ ตั้งเป้าขายในตลาดระดับโลก และในส่วน B2C นั้นบริษัทจะพัฒนาผลิตภัณฑ์เวชสำอางค์ภายใต้แบรนด์ของตนเอง ซึ่ง ผลิตภัณฑ์ที่ได้ผลิตขึ้นและพร้อมเข้าสู่ตลาดในวันนี้ คือ GrandGold Extra Anti-Acne Gel หรือ เจลแต้มสิว ที่จะช่วยทำให้สิวยุบได้ภายใน 1-2 วันด้วยประสิทธิภาพของอนุภาคนาโนทองคำที่เป็นส่วนผสมสำคัญ นอกจากนี้ก็ยังมีอีก 2 ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในระหว่างการทดสอบคือ ครีมบำรุงผิวเพื่อเพิ่มความสว่างสดใสให้กับใบหน้า และ ครีมลบเลือนรอยคล้ำจากสิว ซึ่งต่างก็จะมีอนุภาคนาโนทองคำเป็นส่วนผสมสำคัญ ศาสตราจารย์ ดร.นงนุชเหมืองสิน ในฐานะ ที่ปรึกษา บริษัทแกรนด์โกลด์อินโนกรุ๊ป จำกัด กล่าวเสริมว่าผลงานของนิสิตที่ผ่านๆมาจะหยุดอยู่ตรงที่ ผลงานการวิจัยหรือการศึกษา ถูกนำไปตีพิมพ์ หรือบางผลงานถูกพัฒนาไปเป็นต้นแบบของสิ่งประดิษฐ์หรือผลิตภัณฑ์ และผ่านการนำไปแสดงในเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับชาติ ระดับนานาชาติ เมื่อได้รับรางวัลแล้วผลงานดังกล่าวมักจะหยุดอยู่ที่ การนำไปจดเป็นสิทธิบัตร หรือบางผลงานนำไปพัฒนาเป็นแผนธุรกิจเพื่อส่งประกวดในเวทีประกวดต่างๆ แต่หลังจากจบโครงการประกวด ก็แทบจะไม่มีโครงการใดถูกนำไปสานต่อในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ของหลักสูตรในการที่จะเข้ามาช่วยโค้ชนิสิตของคณะวิทยาศาสตร์ ที่มีความโดดเด่นคือ มี Core Technology ที่นับเป็นหัวใจของการเป็น Deep Tech Startup ทั้งนี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมาของหลักสูตรฯ ได้เห็นว่าปัญหาของการนำเอานวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์นั้น ควรเริ่มจากการรับฟังปัญหาที่แท้จริงของผู้บริโภค จากนั้น จึงมานั่งวิเคราะห์ปัญหา และ หา solutions ที่เหมาะสม ซึ่ง solutions นั่นจะเป็นการแก้ปัญหาโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือ เทคโนโลยีที่ลึกซึ้ง ซึ่งอาจได้มาจากงานวิจัยในมหาวิทยาลัย หรือ การสังเคราะห์สิทธิบัตรที่มีอยู่ทั่วไปมากมาย แต่ผู้วิเคราะห์นั่นจะต้องมีองค์ความรู้ที่เพียงพอที่จะรู้ได้ว่าเทคโนโลยีไหนที่ทำได้ หรือ ทำไม่ได้ในเชิงพาณิชย์ ดังนั้น การวิเคราะห์มูลค่าทางการตลาด การสร้างโมเดลทางธุรกิจจึงเป็นสิ่งสำคัญ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือ การออกแบบบริการจึงเข้ามามีบทบาทอย่างสูงในการพัฒนานวัตกรรมให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค เมื่อได้นวัตกรรมใหม่ขึ้นมาแล้ว เราจะต้องรู้วิธีการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและรู้วิธีการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญานั่นๆ ให้สมเหตสมผลต่อเทคโนโลยีและนวัตกรรม สุดท้ายคือ การสื่อสารอย่างไรให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย การทำประชาสัมพันธ์อย่างไร และ การวางกลยุทธอย่างไรจึงจะนำนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นมาให้เกิดการยอมรับและเกิดการแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง ตบลงที่การจัดการบริหารความรู้ที่ได้จากการพัฒนานวัตกรรม เป็นกระบวนการคิดเพื่อให้มีพัฒนานวัตกรรมได้อย่างไม่สิ้นสุด