ทีมนักเรียนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวด “Jinpao Automation Contest 2019” ร่วมมือโดยบริษัท จินป่าว พรีซิชั่น อินดัสทรี่ จำกัด เพื่อเฟ้นหากลุ่มเยาวชนนักควบคุมระบบเครื่องจักรอัตโนมัติสั่งงานผ่านระบบเครือข่ายและระบบ internet of thing (IoT) ทดแทนแรงงานคน สอดคล้องกระบวนการผลิตขั้นสูงของไทยในยุค 4.0 โดยมีนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยร่วมเป็นประธานการประกวด นายธาดา สุนทรพันธุ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ในยุค อุตสากรรม 4.0 เทคโนโลยี IoT ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมาก อุตสาหกรรมจำเป็นต้องพึ่งการวิเคราะห์การผลิตที่แม่นยำ และรวดเร็ว เพื่อตอบโจทย์ในด้านต่าง ๆ ทำให้หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยได้พัฒนากระบวนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งอาศัยการเชื่อมต่อที่ไร้พรมแดนอย่างอินเตอร์เน็ตและระบบเครือข่าย โดยแนวโน้มในขณะนี้ ผู้คนกำลังหันมาใช้คำศัพท์ อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) ที่เรียกว่า อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ หรือ ไอโอที (Internet of Things : IoT) หรือแม้แต่อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ สำหรับอุตสาหกรรม หรือ ไอไอโอที (Industrial Internet of Things : IIoT) มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับการสร้างระบบอัจฉริยะที่รวมส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน รวมถึงกระบวนการผลิตที่มีการผสานรวมระบบอัตโนมัติที่ทันสมัย ซึ่งการประกวดครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับเยาวชนไทย ที่ได้ก้าวล้ำมากกว่าเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี แต่เป็นผู้คิดค้นและควบคุมนวัตกรรมซึ่งตอบโจทย์อุตสาหกรรมขั้นสูงทั้งในประเทศและทั่วโลก” ด้านนาย จง กั๋ว โซง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จินป่าว พรีซิชั่น อินดัสทรี่ จำกัด กล่าวว่า “การประกวด Jinpao Automation Contest 2019 ครั้งนี้ มีทีมที่เข้าประกวดทั้งสิ้น 8 ทีมจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ทั้งระดับมัธยมศึกษา อุดมศึกษาจนถึงระดับปริญญาโท โดยในการแข่งขันรอบตัดสินซึ่งจัดขึ้น ณ ค่ายริมขอบฟ้า เมืองโบราณ จ.สมุทรปราการ ทั้ง 8 ทีมได้นำเสนอผลงานของตนเอง พร้อมทั้งสาธิตและตอบคำถามจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จนได้มาซึ่งผู้ชนะเลิศการประกวดควบคุมระบบอัตโนมัติ “Jinpao Automation Contest 2019” ในที่สุด และถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ได้ร่วมกันพัฒนาโครงการนี้ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้มีการนำระบบ Automation เข้ามาช่วยในการคิดค้นเทคนิค วิธีการแก้ไขปัญหา เพิ่มโอกาสในการพัฒนาระบบ Automation ในประเทศไทย ให้ก้าวไปสู่การวิจัยและพัฒนาในอนาคตด้วยตนเอง นำไปสู่การพัฒนาสังคม และประเทศชาติต่อไป” ทั้งนี้ ทีมที่ชนะเลิศการประกวดซึ่งได้รับทุนการศึกษา 300,000 บาท พร้อมโล่เกียรติคุณ เป็นทีมจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ส่งผลงานประกวดในชื่อโครงการ Smart Factory: Tranfarmer โดยผู้แทนจากทีมเผยว่า “ผลงานที่ส่งเข้าประกวด เป็นระบบการจัดการเกษตรกรรมในรูปแบบของ Solutions ที่สามารถเข้าถึงโดยบุคคลทั่วไป เพื่อลดปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น อาทิ สภาพแวดล้อมที่ไม่อำนวย รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตรโดยการผนวก Automation, Cyber Networking และ IoT เข้าไปในระบบ โดยทางทีมรู้สึกดีใจมาก และรขอบคุณจินป่าวที่ทำให้มีเวทีที่พวกตนได้มีโอกาสโชว์ศักยภาพอย่างเต็มที่