มิวเซียมสยาม ปั้น “มิวเซียมลำปาง” พร้อมเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของเมืองเหนือ ทำความรู้จัก คน-เมือง-ลำปาง มิวเซียมสยาม ร่วมกับเทศบาลนครลำปาง และเครือข่ายภาคประชาชนลำปาง จัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้นครลำปาง(มิวเซียมลำปาง) แหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ภายใต้นิทรรศการถาวรชุด “คน-เมือง-ลำปาง” เพื่อบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ และประวัติศาสตร์เมืองลำปาง ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน พร้อมเปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เที่ยวนครลำปาง...เมืองชั้นรองที่จะไม่เป็นรองอีกต่อไป นครลำปาง เมืองแห่งมนต์เสน่ห์ชวนหลงใหลที่หลายคนอาจมองข้ามไป แม้ใครๆ จะบอกว่าลำปางเป็นแค่เมืองทางผ่านเพื่อมุ่งสู่เมืองท่องเที่ยวสำคัญทางภาคเหนือ แต่ใครจะรู้ว่านครลำปางในอดีตเคยเป็นเมืองชั้นรองที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยหริภุญชัย (พระนางจามเทวี) ในนามเมือง “เขลางค์นคร” เรื่อยมา ด้วยความหลากหลายทั้งทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และชาติพันธุ์ ของทั้ง 13 อำเภอในจังหวัดลำปาง ทำให้มีสถานที่ท่องเที่ยวครบรสมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ตลอดจนเอกลักษณ์ของนครลำปางอย่าง รถม้า หรือเครื่องปั้นดินเผาชามตราไก่ ที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ทำให้ลำปางเป็นเมืองที่เที่ยวได้ตลอดทั้งปี นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตที่เรียบง่าย และขนบธรรมเนียมที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ ต่อให้กาลเวลาจะหมุนไปนานแค่ไหนก็ยังคงรักษาความงดงามและมนต์เสน่ห์ของเขลางค์นครได้อย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า มิวเซียมสยามเล็งเห็นถึงเอกลักษณ์ของเมืองลำปางที่มีภูมิประวัติอันยาวนาน โดยปรากฎจากหลักฐานที่เป็นแหล่งโบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันหลากหลาย และเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ตลอดจนมีสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างที่มีคุณค่าอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดลำปางมีบุคคลผู้เป็นปราชญ์ท้องถิ่น ในสาขาต่างๆ มากมาย จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้น เพื่อนำมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาดังกล่าวมาเป็นฐานในการสร้างจิตสำนึก ความรู้รักและเข้าใจในคุณค่าของท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้รับความร่วมมือจากเทศบาลนครลำปางมอบอาคารศาลากลางจังหวัด เพื่อดำเนินการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง หรือ มิวเซียมลำปาง คือหนึ่งในต้นแบบของการสร้างสรรค์แหล่งเรียนรู้ในรูปของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ (Discovery Museum) ประเภทพิพิธภัณฑ์เมือง (City Museum) ในระดับจังหวัดลำปาง ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้างโครงข่ายของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ในภูมิภาคและยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ประเภทอื่นๆ ที่มีอยู่ทั้งภายในบริเวณจังหวัดลำปางและจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ทำความรู้จัก ‘คน-เมือง-ลำปาง’ นายราเมศ กล่าวเพิ่มเติมว่านิทรรศการชุด “คน-เมือง-ลำปาง” เป็นนิทรรศการถาวรที่จะจัดแสดงอยู่ที่มิวเซียมลำปาง โดยนำเสนอผ่านหัวข้อหลักๆ ว่าด้วยเรื่อง “คน” ที่มีบทบาทสำคัญปรากฎอยู่ในเรื่องราวของจังหวัดลำปาง โดยเฉพาะผู้มีส่วนสำคัญต่อประวัติศาสตร์ โบราณคดี เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม หัวข้อที่สองว่าด้วยเรื่องของ “เมือง” ลำปาง ที่จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับนครลำปางตั้งแต่อดีตจนถึงลำปางในอนาคต การเปลี่ยนผ่านและเหตุการณ์สำคัญในอดีตส่งผลอย่างไรมาถึงภาพของลำปางในยุคปัจจุบัน และสุดท้ายในหัวข้อ “ลำปาง” มิวเซียมได้สำรวจและเก็บรวบรวมทั้งความเหมือนและแตกต่างทุกๆ ด้าน เพื่อตามหา ‘ลำปางแต้ๆ’ ทุกซอกทุกมุมจากทั้ง 13 อำเภอ นำมาจัดแสดงด้วยรูปแบบการนำเสนอที่ทันสมัยผสมผสานเทคโนโลยีแบบอินเตอร์แอ๊กทีฟ โดยแบ่งออกเป็น 16 ห้องนิทรรศการ ดังนี้ ห้องที่ 1 ก่อร่างสร้างลำปาง (Building Lampang City) จาก 500,000 ปีที่แล้ว ถึงปัจจุบัน ใครบ้าง? ที่มีบทบาทต่อการพัฒนาเมืองลำปาง กลุ่มคนเหล่านั้นทำให้เมืองลำปางแต่ละยุคเป็นอย่างไร? ห้องที่ 2 เปิดตำนาน อ่านลำปาง (Legends of Lampang) ลำปาง อุดมด้วยตำนาน ทั้งตำนานเมือง ย่าน วัด วีรบุรุษ แต่ละตำนาน ล้วนมีความหมาย และทิ้งเบาะแสให้ตีความ ห้องที่ 3 ผ่อผาหาอดีต (Back to the Past) ฟอสซิลมนุษย์เกาะคา (โฮโม อิเรคตัส) อายุอย่างน้อย 500,000 ปี ภาพเขียนสีและหลุมฝังศพอายุกว่า 3,000 ปี ที่ช่องประตูผา บ่งชี้ว่า...พื้นที่ลำปางเหมาะสมสำหรับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่บรรพกาล ห้องที่ 4 ประตูโขงโยงรากเหง้า (Pratu Khong, Roots of Lampang) ลอดซุ้มประตูโขง วัดพระแก้วดอนเต้าเข้าสู่ “เขลางค์นคร” เมืองลำปางรุ่นแรก ซึ่งเป็นเมืองในวัฒนธรรมทวารวดีอายุกว่า 1,300 ปี บ้านพี่เมืองน้องกับเมือง “หริภุญชัย” ของพระนางจามเทวี ธิดาแห่งรัฐละโว้ ห้องที่ 5 สี่สหายฉายประวัติ (Fantastic Four of Lampang’s History) เดินผ่านประตูม้า เข้ามาฟังสี่สหายแห่งวัดปงสนุก ช้าง นาค สิงห์ อินทรี บอกเล่าเรื่องราวการผจญภัย และการย้ายจากเขลางค์นคร มาสร้างเมืองลำปางรุ่นที่สองเรียกว่า “เวียงลคอร” (เวียงละกอน) ภายใต้อำนาจของล้านนา พม่า และอยุธยา ห้องที่ 6 แง้มป่องส่องเวียง (A Look into Lampang) แง้มหน้าต่างเรือขนมปังขิง ส่องดูความเป็นไปของ “นครลำปาง” เมืองลำปางรุ่นที่สาม ซึ่งอยู่ในยุครัตนโกสินทร์ การค้าเฟื่องฟู คลาคล่ำไปด้วยพ่อค้าต่างชาติ พม่า ไทใหญ่ จีน ฝรั่ง เป็นเมืองศูนย์กลางการค้าไม้ที่ใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ ห้องที่ 7 ไก่ขาวเล่าวันวาน (Chicken Stories) สัญลักษณ์ของเมืองลำปาง คือ “ไก่ขาว” สารพัดไก่ในลำปาง จะมาบอกเล่าพัฒนาการด้านต่างๆ ของลำปางตั้งแต่ปลายยุคนครลำปางจนถึงปัจจุบัน ห้องที่ 8 จุดเปลี่ยนเมืองลำปาง (Turning Points of Lampang) อดีต-ปัจจุบัน..”คน” หลากหลายกลุ่มผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาแสดงบทบาทในการเปลี่ยน “เมือง” แต่ละยุค ชาวลั๊วะ ยวน (ล้านนา) พม่า และชาวบางกอก สร้างจุดเปลี่ยนอะไรให้เมืองลำปางบ้าง ห้องที่ 9 รางเหล็กข้ามเวลา (Railway Story) รางรถไฟ ไม่ใช่เพียงเส้นทางคมนาคมขนส่งแบบใหมี่สะดวกรวดเร็ว แต่รางเหล็กนี้ได้นำพาสิ่งใหม่ๆ เข้ามามากมาย สร้างความเปลี่ยนแปลง ให้เมืองลำปางแบบ “พลิกโฉม” ห้องที่ 10 รถม้าพาม่วน (Lampang on a Carriage) ไม่ใช่แค่รถรับจ้าง แต่คือ “รถม้าลำปาง” ม่วนอ๊กม่วนใจ๋ ไปกับการนั่งรถม้าเที่ยวชมเมืองลำปาง ผ่านเมืองเก่า วัดเก่า ย่านการค้าโบราณ และสถานที่สำคัญของเมืองลำปาง ห้องที่ 11 วัดพม่าหน้าตาอินเตอร์ (Myanmar Temples, International Style) ยุคอาณานิคม พม่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ชาวอังกฤษ พม่า-ไทยใหญ่ เข้ามาทำกิจการค้าไม้ในลำปาง ครั้งนั้น คหบดีชาวพม่าต่างสร้างวัดไว้ที่นี่มากมาย จนลำปางมีวัดพม่ามากที่สุดในประเทศไทย และไม่ใช่แค่วัดพม่า แต่เป็น “วัดพม่าผสมฝรั่ง” ซึ่งมีเฉพาะที่ลำปาง ห้องที่ 12 พอดีพองาม อารามลำปาง (Simple Temple of Lampang) จำลองภูมิจักรวาลตามความเชื่อทางพุทธศาสนาลงบนโลกมนุษย์..เตี้ยแจ้ กะทัดรัด พอดีพองาม พอสมพอควรกับการใช้สอยจริง..สอดคล้องกับภูมิประเทศ ภูมิอากาศ.. ทั้งหมดนี้ คือ บุคลิกของ “วัดเมืองลำปาง” ห้องที่ 13 คมปัญญา (Wisdoms of Lampang)ไม่รู้ภาษาอะไร ไม่ได้มีไว้พูดกับคน? เครื่องขยายเสียงชั้นดี ไม่ต้องมีปลั๊กเสียบ...ป่าทั้งป่า กว้างไม่กี่วา หนาไม่กี่ศอก...ร่วมหาคำตอบ และ อึ้ง ทึ่ง ไปกับภูมิปัญญาทั้งศาสตร์และศิลป์ของชาวลำปาง ห้องที่ 14 ซับป๊ะเสียงสำเนียงลำปาง (Dialects of Lampang) ภาษาลำปางมีเอกลักษณ์เฉพาะตน คนลำปางไม่ได้ “อู้กำเมืองล้านนา” แต่ “อู้กำเมืองลำปาง” แม้แต่กำเมืองลำปางเอง ในแต่ละอำเภอก็มีสำเนียงและศัพท์บางคำที่แตกต่างกัน ห้องที่ 15 ลำปางมีดีเมืองนี้ห้ามพลาด (Tourism in Lampang) รวบรวมของดีและสถานที่ท่องเที่ยวในลำปางอันหลากหลาย พิเศษไม่เหมือนใคร สะท้อนออกมาในรูปแบบของของที่ระลึกและสิ้นค้านานาประเภทให้เลือกซื้อหา ห้องที่ 16 เนี๊ยะ...ลำปาง (This is Lampagn) บทสรุปทิ้งท้ายของการเยี่ยมชม..ร่วมแสดงความคิดเห็น เมื่อรู้จักลำปางแล้วบอกได้ไหม “คุณชอบอะไรในลำปาง” ? มิวเซียมสยาม เชื่อมั่นว่า “มิวเซียมลำปาง” จะเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวอีกหนึ่งแห่งที่ห้ามพลาดของจังหวัดลำปาง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนอยากให้มาเรียนรู้และรู้จักตัวตน หรือ “ฮู้คิง” ของตัวเองมากยิ่งขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า มิวเซียมลำปาง จะเป็นอีกทางเลือกในการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ ที่สามารถมาหาข้อมูลความรู้และความสนุกสนาน (Informative and Funny) ไปพร้อมๆ กัน ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และทำให้คนไทยมีคุณภาพสามารถแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ด้วยตนเองตลอดเวลา นายราเมศ กล่าวทิ้งท้าย ผู้สนใจสามารถเข้าชมมิวเซียมลำปาง ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00 – 17.00 น. ณ สำนักการศึกษา เทศบาลนครลำปาง จังหวัดลำปาง หมายเลขโทรศัพท์ 054-237237 #3207 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.museumthailand.com/th/museum/Museumlampang หรือ มิวเซียมลำปาง เว็บเพจ Museumlampang