“สมศักดิ์” กางแผน 3 ระยะ พัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ มั่นใจแม่นยำ ปลอดภัย ลดความผิดพลาดและภาวะเเทรกซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ยกระดับการให้บริการประชาชน

วันที่ 22 ก.ค.2568 ที่อิมแพคเมืองทองธานี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษในการประชุมเชิงปฏิบัติการหุ่นยนต์ทางการแพทย์และระบบสาธารณสุข ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมีนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมงาน

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับบริการที่ดี สะดวก และปลอดภัย ผ่านการยกระดับบริการ ด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ทางการแพทย์ และเทคโนโลยีสุขภาพ เช่น หุ่นยนต์ทางการแพทย์  ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง  ที่แม่นยำและปลอดภัย จะช่วยลดความผิดพลาดและภาวะเเทรกซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา และเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจสุขภาพ  สู่ Medical & Wellness Hub ปัจจุบัน มีหลายประเทศที่ใช้หุ่นยนต์ทางการแพทย์จำนวนมาก เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี  ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น  จีน และเกาหลีใต้ สำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ที่มีการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด  ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม  มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย  ซึ่งการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับประเทศไทย มีการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด  16 ยูนิต แบ่งเป็น  โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข  คือ  โรงพยาบาลราชวิถี 1 ยูนิต โรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 12 ยูนิต ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลในเครือมหาวิทยาลัย  และโรงพยาบาลเอกชน 3 ยูนิต โดยมีบริการหลัก คือ  ศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ ทรวงอก  ศีรษะและลำคอ นารีเวช และศัลยกรรมทั่วไป

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมการรองรับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น บริการด้านการแพทย์ กำลังคน  ข้อมูล การเงิน  เทคโนโลยี และธรรมาภิบาล โดยแบ่งแผนการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ  ระยะที่ 1 ปี 2568 - 2570  พัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มนำร่อง  กำหนดมาตรฐานและแนวทางการปฏิบัติ  โดยจะดำเนินการ ในโรงพยาบาลนำร่อง 5 ภาค • ระยะที่ 2  ปี 2571 - 2572  ขยายผลการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ไปยังโรงพยาบาลที่มีความพร้อม ระยะที่ 3  ปี 2573 เป็นต้นไป ประเมินผลลัพธ์ ปรับปรุงระบบ และสร้างความยั่งยืนในการใช้เทคโนโลยี

“เชื่อมั่นว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการในวันนี้  จะเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ที่จะนำรูปแบบบริการปัญญาประดิษฐ์  และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ใปใช้ในหน่วยบริการ ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับบริการ  ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และขอให้ช่วยกันยกระดับบริการสุขภาพ ทำให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย สามารถตอบสนองกับปัญหาสุขภาพของประชาชน เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพของคนไทยต่อไป”นายสมศักดิ์กล่าว

นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่จะนำปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ไปให้บริการนั้น เป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์มาก เชื่อว่าไม่อันตราย มีเครื่องมือป้องกันทำให้การใช้งานสะดวกและเครื่องผ่าตัดที่ใช้AI เครื่องเดียวสามารถผ่าตัดได้หลายจุดในร่างกายด้วย